posttoday

'บิ๊กแดง'ขุนศึกใหญ่ เสริมแกร่ง'บิ๊กตู่'

15 กุมภาพันธ์ 2562

บทบาทของ"บิ๊กแดง"รวมไปถึงผู้นำเหล่าทัพคนอื่น นอกจากจะมีบทบาททางการเมืองนอกสภาแล้ว แต่ในระยะยาวกำลังจะเข้ามาเป็นคีย์แมนคนสำคัญของการเมืองในระบบรัฐสภาด้วย

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เดิมทีหลายฝ่ายต่างมองกันว่าการเมืองไทยน่าจะมีความมั่นคงและนิ่งมากขึ้น เนื่องจากมีการประกาศวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 มี.ค.อย่างเป็นทางการ พรรคการเมืองหลากพรรคต่างมุ่งสู่การเดินหน้าหาเสียงเลือกตั้งอย่างเต็มตัวเพื่อชิงคะแนนความนิยม แต่มาวันนี้สถานการณ์ทางการเมืองของไทยเริ่มออกอาการแกว่งๆ อีกครั้ง ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.)

การเสนอชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ ไม่ได้เพียงแต่สร้างผลกระทบในวงการเมืองเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงอีกหลายภาคส่วนต่างๆ ด้วย จนทำให้บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งเกิดภาวะขุ่นมัวขึ้นมาทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดกระแสข่าวลือ ต่อๆ กันจนเกือบไฟลามทุ่งว่าจะมีการรัฐประหารเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ข่าวการรัฐประหารถูกปล่อยออกมาเป็นระยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการเผยแพร่ภาพการขนย้ายยุทโธปกรณ์กลางพื้นที่สาธารณะ ยิ่งเป็นการกระพือข่าวให้แพร่หลายออกไปอีก ก่อนที่กองทัพต้องชี้แจงอย่างเป็นทางการว่าเป็นเพียงแค่การซ้อมรบในช่วงเดือนก.พ.เท่านั้น

แต่กระนั้นท่ามกลางสังคมที่อ่อนไหวกับข่าวลือก็ถูกขยายผลมากขึ้นไปอีก ภายหลังปรากฏภาพคำสั่งประกาศปลดผู้นำเหล่าทัพ การปลอมดังกล่าวทำถึงขนาดมีการอ้างเลขและลำดับที่ของการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษากันเลยทีเดียว

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการยุบพรรค หรือข่าวลือการทำรัฐประหาร ทำให้  "บิ๊กแดง" พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก แสดงท่าทีขึงขังเพื่อสยบความเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญพอสมควร

"ในสิ่งที่พูดวันนี้ ผมยังยืนยันในความเป็นกลางอยู่ กกต.ก็ทำหน้าที่ของตัวเอง ผมไม่สามารถไปพูดอะไรกับ กกต.ได้ และทุกวันนี้ผมก็ยังไม่อยากพูดกับใครทุกอย่างต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย ไม่ล้ำเส้นซึ่งกันและกัน หน้าที่ใครทำอะไรก็ทำไป และสุดท้ายหากมีการล้ำเส้นกันจะทำอย่างไรนั้น ผมคิดว่าขณะนี้ยังไม่มี และถ้ามีก็ค่อยคิดกันต่อไปว่าจะทำอย่างไรก็ต่อไป"ท่าทีของ ผบ.ทบ. เมื่อวันที่ 13 ก.พ.

นับตั้งแต่บิ๊กแดงขึ้นมากุมบังเหียนกองทัพ ปฏิเสธไม่ได้ว่าถูกจับตาจากหลายฝ่ายเป็นอย่างมาก เพราะก่อนจะขึ้นมาสู่ตำแหน่งสูงสุดของกองทัพนั้นพบว่าเคยมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นผู้คุมกำลังเพื่อควบคุมความสงบเรียบร้อยระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อทศวรรษที่ผ่านมา

พอการเมืองเข้าสู่ยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  "บิ๊กแดง" ก็เป็นหนึ่งในขุนศึกข้างกายที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. มอบความไว้วางใจให้ทำงานสำคัญมากมาย แม้ทั้ง "บิ๊กตู่" และ "บิ๊กแดง" จะมาจากต่างค่ายกันก็ตาม โดยคนหนึ่งมาจากค่ายบูรพาพยัคฆ์ ส่วนอีกคนมาจากค่ายวงศ์เทวัญ

แต่เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองกำลังอ่อนไหว ทำให้ขั้วอำนาจในกองทัพต้องสลายลง เพื่อให้การเมืองระยะเปลี่ยนผ่านเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่งผลให้เวลานี้เป็นช่วงเวลาที่กองทัพและรัฐบาลมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากที่สุดครั้งหนึ่ง

ดังนั้น การที่บิ๊กแดงจะลุกขึ้นมารัฐประหารล้มรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่มีความเป็นไปได้อย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม บทบาทของบิ๊กแดงรวมไปถึงผู้นำเหล่าทัพคนอื่น นอกจากจะมีบทบาททางการเมืองนอกสภาแล้ว แต่ในระยะยาวกำลังจะเข้ามาเป็นคีย์แมนคนสำคัญของการเมืองในระบบรัฐสภาด้วย

กล่าวคือผู้นำเหล่าทัพ ประกอบด้วย ผู้บัญชาการกองทัพไทย  ผู้บัญชาการกองทัพบก ผู้บัญชาการกองทัพเรือ ผู้บัญชากองทัพอากาศ  ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และปลัดกระทรวงกลาโหม จะเข้ามาเป็น สว.โดยอัตโนมัติ

วุฒิสภาในอนาคตบทบาทสำคัญลำดับแรกๆ คือ การร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกนายกรัฐมนตรี

สว.ชุดต่อไปจำนวน 250 คน จะมาจากการเลือกของ คสช. ซึ่งแน่นอนว่าผู้นำเหล่าทัพทั้ง 6 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ขึ้นมารับตำแหน่งในรัฐบาลชุดนี้ จะทำหน้าที่ไม่ต่างอะไรกับผู้ประสานงานในวุฒิสภา ดังนั้นหากจะบอกว่าพรรคการเมืองใดจะได้นายกฯ และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลย่อมต้องอาศัยสายสัมพันธ์ที่ต้องต่อให้ถึงขุนศึกดังกล่าวข้างต้น

เท่ากับว่าวุฒิสภาที่ปกคลุมไปด้วยผู้นำเหล่าทัพกำลังจะเข้ามามีบทบาทในการตั้งรัฐบาลโดยปริยาย

ที่สำคัญผลการเลือกตั้งที่จะออกมา จะเป็นปัจจัยของการกำหนดท่าทีของ ผบ.ทบ.ต่อการเมืองในอนาคต

ลองนึกภาพดูว่าถ้าพรรคพลังประชารัฐได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาจำนวน 250 คน ย่อมเทคะแนนเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็น นายกฯ อีกครั้งอย่างไม่มีข้อกังขา กองทัพและรัฐบาลจะมีความเป็นเอกภาพและปึกแผ่นมากขึ้น

แต่ในทางกลับกันถ้าพรรครัฐบาลไม่มีชื่อของพรรคพลังประชารัฐ แต่เป็นพรรคการเมืองฝั่งตรงข้าม การชิงไหว ชิงพริบในทางการเมืองระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาย่อมเกิดขึ้นและทวีความดุเดือดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยิ่งไปกว่านั้นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพอาจไม่ราบรื่นมากนักและหนำซ้ำ ผบ.ทบ. คนปัจจุบันจะกลับมาถูกจับตามองว่าจะเข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างไร

เพราะฉะนั้นในระยะนี้ระหว่างที่ประเทศกำลังเดินสู่การเลือกตั้ง กองทัพพร้อมร่วมหัวจมท้ายไปกับรัฐบาล แต่หลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่ใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เป็นสำคัญ