posttoday

คอร์รัปชั่นพุ่งชนวนร้อนฉุดเชื่อมั่น คสช.

31 มกราคม 2562

ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในไทยเวลานี้ อยู่ในสภาพที่น่าเป็นห่วงและกำลังย้อนกลับมาฉุดรั้งความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลคสช.

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทยเวลานี้ อยู่ในสภาพที่น่าเป็นห่วงและกำลังย้อนกลับมาฉุดรั้งความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันอาจจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบไปถึงคะแนนนิยมในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.นี้

ล่าสุด องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) เปิดเผยดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นในรัฐบาลทั่วโลก หรือ (Corruption Perception Index - CPI) ประจำปี 2018 โดยปีนี้ประเทศไทย ได้ 36 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ลดอันดับลงจากปี 2017 ที่อันดับ 96 ของโลก เป็นอันดับที่ 99 ของโลก

ถือเป็นการลดลงอีกครั้งหลังจากในปี 2017 ประเทศไทย เคยได้คะแนนอยู่ที่ 37 จาก 100 คะแนนเต็ม อยู่ลำดับที่ 96 จากจำนวน 180 ประเทศที่ทำการสำรวจ และรั้งอันดับที่ 4 ของภูมิภาคอาเซียนเทียบเท่าอินโดนีเซียเป็นรองเพียงสิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย ซึ่งขยับเพิ่มจากปี 2016 ซึ่งได้คะแนน 35 และอยู่ในอันดับที่ 101 ของโลก แต่ยังคงอันดับ 4 ในอาเซียนเท่าเดิม

ปัญหาอยู่ตรงที่การป้องปราม ทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศนั้นถือเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาล คสช. และถือเป็นหนึ่งในเหตุผลที่หยิบยกมาทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ดังนั้น เรื่องการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น จึงควรจะเห็นพัฒนาการหรือการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม หลังรัฐบาล คสช.เข้ามาบริหารประเทศนานกว่า 4 ปี แถมยังมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในมือที่จะช่วยลดอุปสรรคต่างๆ

ในช่วงแรกจะเห็นได้ถึงความ มุ่งมั่นตั้งใจของ  คสช. และกลไกต่างๆ ของแม่น้ำ 5 สาย ที่ให้ความสำคัญกับการปราบปรามการทุจริต อันสะท้อนผ่านบรรดากฎหมายและมาตรการต่างๆ ที่ออกมาเพิ่มความเข้มงวดในการใช้อำนาจที่ต้องอยู่ในกรอบระเบียบ หรือเปิดช่องให้เกิดการตรวจสอบได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการติดดาบเพิ่มอำนาจองค์กรอิสระทั้งหลายอีกทางหนึ่ง

ความเข้มงวดในช่วงแรกจะเห็นได้ว่า คสช.มีการใช้อำนาจพิเศษเข้าไปดำเนินทั้งสั่งพักงานเจ้าหน้าที่ในหลายระดับที่มีเรื่องร้องเรียนว่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับเงื่อนงำความไม่โปร่งใสในส่วนต่างๆ ทั่วประเทศ  เพื่อเปิดให้กระบวนการตรวจสอบทำได้เต็มที่ไม่ต้องเกรงกลัวอำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ จนมีเรื่องค้างอยู่ระหว่างการตรวจสอบหลายร้อยเรื่อง จนปลุกให้คะแนนนิยมในรัฐบาล คสช. กระเตื้องขึ้นมา

ส่วนหนึ่งเพราะช่วงเวลานั้นคนกำลังเบื่อหน่ายกับบรรดานักการเมืองที่ถูกตีตราว่าเป็นจำเลยของสังคม ทำให้การเมืองตกอยู่ในหล่มความขัดแย้ง และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่น จนจำเป็นต้องแช่แข็งไม่ให้พรรคการเมือง นักการเมือง ออกมาเคลื่อนไหวสร้างปัญหาใดๆ  ในระหว่างที่ คสช.กำลังดำเนินการ "ปฏิรูป" เพื่อวางแนวทางป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นให้เป็นรูปธรรม

แต่สุดท้ายเมื่อเวลาผ่านไป หลายเรื่องที่สังคมคาดหวังว่าจะเห็นผลการปราบปรามการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม กลับไม่เป็นเช่นนั้นหลายเรื่องยังค้างคาอยู่ในกระบวนการไม่เห็นความคืบหน้า ที่สำคัญกว่านั้นหลายเรื่องความไม่โปร่งใสที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาการบริหารงานของรัฐบาล คสช. กลับพบทั้งคนในรัฐบาล และ คสช.เข้าไปเกี่ยวข้องหลายต่อหลายเรื่อง

อย่างไรก็ตาม ในหลายเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นเมื่อนำไปสู่กระบวนการติดตามเอาผิดกลับไม่สามารถดำเนินการเอาผิดได้ ขัดแย้งกับความรู้สึกของสังคมที่เห็นความผิดที่ปรากฏ ซึ่งมีแต่จะฉุดให้ความเชื่อมั่น และความคาดหวังในการแก้ไขปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นลดน้อยลงไป

ยิ่งกว่านั้น ในช่วงท้ายของรัฐบาล คสช. ซึ่งพบความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองบางพรรคที่เชื่อมโยงกับทางรัฐบาลนั้น ปรากฏข่าวการดูด ดึงบรรดาอดีตนักการเมืองจากพรรคต่างๆ มาเสริมทีมพรรคที่กำลังตั้งขึ้นใหม่ และหลายคนที่ดึงมานั้นมีส่วนพัวพันกับคดีความที่อยู่ระหว่างการพิจารณาตามกระบวนการ จนถูกมองว่ามีการหยิบเรื่องคดีเข้ามาบีบให้เกิดการย้ายพรรค

รวมไปถึงกระแสข่าวการบีบให้บรรดาผู้บริหารระดับท้องถิ่นที่ถูกแช่แข็งอยู่ระหว่างการตรวจสอบหลายร้อยคนทั่วประเทศต้องเข้ามาสนับสนุนเป็นฐานทางการเมืองในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อแลกกับการปลดล็อกพ้นแบล็กลิสต์ให้สามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ  โดยเฉพาะกับพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงอันเข้มแข็งของพรรคการเมืองจากขั้วอำนาจเก่า

นอกจากจะตอกย้ำให้เห็นถึงการมุ่งหวังที่จะเอาชนะในการเลือกตั้ง จนไม่สนใจแนวคิดวิธีการ จนสามารถไปดึงเอาบรรดาอดีตนักการเมืองที่มีคดีความเกี่ยวพันกับเรื่องทุจริตมาเป็นทีมงานแล้ว ยังสวนทางกับกระบวนการปฏิรูปที่สู้อุตส่าห์ทำมาตลอด 5 ปี  ที่จะหมดความหมายไปโดยปริยาย

ที่สำคัญกว่านั้นดัชนีทุจริต คอร์รัปชั่นที่ลดลงในช่วงนี้ ซึ่งไม่มีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการบริหาร มีเพียงแต่รัฐบาล คสช. ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า นักการเมืองอาจไม่ใช่จำเลยที่ถูกโยนความผิดให้ต้องแบกความรับผิดชอบแต่ผู้เดียว เพราะดัชนีที่ลดลงช่วงนี้ย่อมเป็นหลักฐานประจักษ์ว่าสาเหตุมาจากการบริหารของรัฐบาล คสช. สอดรับกับกระแสข่าวที่เกิดขึ้นให้เห็นเป็นระยะ

ทั้งหมดย่อมสะท้อนถึงความ ไร้ประสิทธิภาพและไม่เอาจริงเอาจังในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งทำให้ประเด็นที่เคยเป็นจุดแข็งกลายเป็นจุดอ่อนและย้อนกลับมาทำลายความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล คสช.อย่างรุนแรง อันอาจมีผลต่อการแพ้ชนะเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น