posttoday

ลำดับปาร์ตี้ลิสต์ปมร้อนเขย่าพรรคการเมือง

29 มกราคม 2562

หลัง กกต.กำหนดวันเลือกตั้งเป็น 24 มี.ค. 2562 เปิดรับสมัคร สส.ระหว่างวันที่ 4-8 ก.พ. 2562

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เส้นทางเลือกสู่การเลือกเริ่มต้น อย่างเป็นทางการภายหลัง พ.ร.ฎ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันอาทิตย์ที่ 24 มี.ค. 2562 พร้อมกำหนดวันเปิดรับสมัคร สส.ระหว่างวันที่ 4-8 ก.พ. 2562

ส่งผลให้ทุกพรรคการเมืองรีบออกตัวลงพื้นที่หาเสียงคู่ขนานไปกับการจัดทัพเตรียมคนลงสมัครในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และเคาะหารายชื่อบุคคลที่จะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีตามที่กฎหมายกำหนด

ต้องยอมรับว่าการกลับสู่สนามการเมืองภายใต้กฎกติกาใหม่รอบนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพรรคการเมืองที่ถูกแช่แข็งมานานร่วม 5 ปี เนื่องจากระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่บัตรเดียวชี้ขาดทั้งเลือกตั้ง สส.เขต และยังนำคะแนนไปคำนวณหาสัดส่วนเก้าอี้ สส.บัญชีรายชื่อด้วยแล้ว ยิ่งต้องทำให้แต่ละพรรคปรับแผนกันยกใหญ่

ขณะที่จำนวนเขตเลือกตั้งเดิมที่เคยมี 400 เขต ในอดีตถูกลดเหลือ 350 เขต ทำให้แต่ละพรรคต้องหาจุดสมดุลในการเกลี่ย สส.เดิมที่เคยลงเขต มาสู่บัญชีรายชื่อ ในการเลือกตั้งระบบใหม่ที่ยากจะคาดเดาได้ว่าผลลัพธ์สุดท้ายจะออกมาอย่างไร

โดยเบื้องต้นเป็นที่คาดการณ์ กันว่าระบบเลือกตั้งใหม่จะส่งผลให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ชนะ เลือกตั้งในระบบเขต จำนวนมาก  ย่อมไปตัดจำนวนเก้าอี้ สส.บัญชีรายชื่อของตัวเอง หากคะแนนที่ชนะในแต่ละเขตไม่ได้ทิ้งขาดคู่แข่งแบบท่วมท้น

สะท้อนผ่านยุทธศาสตร์แตกแบงก์พันของพรรคเพื่อไทยที่ออกมาแก้เกมระบบการเลือกตั้งใหม่ ด้วยการออกไปตั้งเป็นพรรคขนาดกลาง ขนาดเล็ก ของแกนนำและสมาชิกบางส่วนด้วยเป้าหมายเพื่อทำให้เวลาคำนวณคะแนนที่ได้แล้วจะทำให้พรรคขนาดกลาง ขนาดเล็ก แม้จะไม่ชนะเลือกตั้งแต่ก็มีโอกาสได้เก้าอี้ สส.บัญชีรายชื่อมากกว่าหากอยู่พรรคใหญ่เช่นเดิม

แต่ทว่าปัญหายังไม่จบแค่นั้น เมื่อเวลานี้สถานการณ์ความไม่แน่นอนของโอกาสที่แต่ละพรรคจะได้รับเลือกตั้ง ในระบบัญชีรายชื่อ ส่งผลให้บรรดาแกนนำและสมาชิก ตลอดจนอดีต สส.ที่ถูกเลื่อนขึ้นมาจากระบบเขต ที่ลดน้อยลงไปนั้น เกิดอาการวิตก  พร้อมเรียกร้องต้องการจะอยู่ในลำดับต้นๆ ของบัญชีให้ได้มากที่สุดจนเริ่มเกิดความปั่นป่วนภายใน

เมื่อรอบนี้โอกาสที่พรรคใหญ่จะได้ สส.บัญชีรายชื่อแบบหลายสิบคนเหมือนในอดีตเป็นไปได้ยาก เพราะระบบเดิมมีบัตรเลือกตั้งระบบบัญชี รายชื่อให้ประชาชนตัดสินใจเลือกกันแบบชัดเจน พรรคใหญ่จึงได้เปรียบในเชิงการหาเสียงและอาศัยความนิยมของพรรคตัวเองโกยคะแนนทิ้งห่างพรรคเล็กพรรคน้อยแบบไม่เห็นฝุ่น

ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบันจากกติกาใหม่ดังกล่าว ทำให้มีพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ด้วยความมุ่งหวังว่าแม้จะไม่สามารถเอาชนะเลือกตั้งในระบบเขตซึ่งเป็นงานยากที่จะเอาชนะคู่แข่งซึ่งเป็นนักการเมืองเก่าจากพรรคต่างๆ และมีฐานเสียงเหนียวแน่นมายาวนาน แต่หากนำคะแนนในแต่ละเขตมารวมๆ กัน ก็สามารถที่จะได้เก้าอี้ สส.บัญชีรายชื่อไม่มากก็น้อย

ดังนั้น การที่พรรคกลาง พรรคเล็ก กวาดที่นั่ง สส.บัญชีรายชื่อไปได้มากเท่าไร โอกาสที่พรรคใหญ่จะได้ สส.บัญชีรายชื่อย่อมมีน้อยลงไปเรื่อยๆ ทำให้ไม่แปลกที่จะเห็นปรากฏการณ์แกนนำหลายคนของพรรคใหญ่ต้องตัดสินใจกระโดดไปลงสมัครในระบบเขต ที่แม้จะเสี่ยงแต่ก็ยังดีกว่าหมดลุ้นตั้งแต่ลงสมัครระบบบัญชีรายชื่อลำดับกลางๆ

ยิ่งหากจำแนกไปดูรายละเอียดคะแนนเลือกตั้งในอดีต จะพบว่าพรรคใหญ่ที่ชนะเลือกตั้งในระบบเขตนั้น หลายพื้นที่ก็ไม่ได้ชนะแบบทิ้งห่างขาดลอย ในทางกลับกันบรรดาพรรคขนาด กลางหรือขนาดเล็ก แม้จะแพ้เลือกตั้งครั้งที่แล้วก็สามารถกลับมาชิงความได้เปรียบนำคะแนนส่วนนี้ไปคำนวณหาที่นั่งในระบบบัญชีรายชื่อได้ไม่ยาก

ความปั่นป่วนจึงเกิดขึ้นในหลายพรรค เมื่อแกนนำต่างต้องช่วงชิง เพื่อให้ตัวเองอยู่ในบัญชีระดับต้นๆ มากที่สุด จนเป็นเรื่องยากที่จะสามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ เพราะจำนวน แกนนำที่มีมากเกินจะจัดให้ทุกคนอยู่ ในระดับต้นที่พ้นเส้นความเสี่ยงของแต่ละพรรค

การจัดวางลำดับจึงยังไม่อาจหาข้อสรุปได้ง่าย โดยเฉพาะกับแนวโน้มที่จะเป็นไปได้ว่าจะมีสัดส่วนโควตาบรรดานายทุนที่มักจะกระโดดเข้ามาอยู่ในบัญชีของแต่ละพรรค จนทำให้ลำดับของแกนนำหลายคนต้องตกไปอยู่ใต้เส้นความเสี่ยงมากขึ้น

เมื่อเป็นเช่นนั้น ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะนำไปสู่แรงกระเพื่อมภายใน ส่วนจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับการรับมือแก้ปัญหาของแต่ละพรรคที่ต้องรอดูว่าจะสุดท้ายแล้วจะจัดที่จัดทางหาทางออกกันอย่างไรในอนาคตเพื่อไม่ให้เกิดรอยร้าวสร้างปัญหาในอนาคต

แน่นอนว่าปัญหาดังกล่าวคงไม่ถึงขั้นทำให้คนที่พลาดลำดับบัญชีรายชื่อดีๆ ต้องขยับขยายย้ายไปอยู่พรรคอื่น เพราะกรอบของเวลาตามกฎหมายได้ล็อกไว้เป็นที่เรียบร้อย แต่อาจส่งผลต่อการทุ่มเททำงาน และอาจ ก่อให้เกิดความระหองระแหงของแกนนำจนทำลายเอกภาพภายในพรรค

ทั้งนี้ หากไม่ได้รับการสมานเยียวยาย่อมอาจฉุดการมีส่วนร่วมในการผนึกกำลังหาเสียง จึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องลงทุน ลงแรง เพื่อให้ตัวเองได้มีโอกาสถูกรับเลือกเข้าไปทำงานในสภา สุดท้ายย่อมกลายเป็นความอ่อนแอที่อาจส่งผลกระทบไปถึงการแพ้ชนะเลือกตั้งในอนาคต