posttoday

อัดงบซื้อใจรากหญ้า เสี่ยงปลุกกระแสตีกลับ

20 ธันวาคม 2561

มหกรรมลดแลกแจกแถมผ่านนโยบายรัฐบาลคสช. ถูกพรรคการเมืองจับจ้องหยิบมาถล่มในช่วงหาเสียงดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ อันจะเป็นความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้คะแนนนิยมที่ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นในเวลานี้ มีอันต้องลดลงไป

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

มหกรรมลดแลกแจกแถมผ่านนโยบายรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งยังมีมาอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นหนึ่งในการเร่งสร้างคะแนนนิยมจากกลุ่มรากหญ้าซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ

เริ่มตั้งแต่ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อัดแพ็กเกจของขวัญปีใหม่ผ่านงบประมาณ 8 หมื่นกว่าล้านบาท ทั้งเพิ่มเติม 4 มาตรการช่วยเหลือ ผู้มีรายได้น้อย รวมงบประมาณ 38,730 ล้านบาท ทั้งลดค่าไฟฟ้า น้ำประปา เงิน 500 บาท แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เงินค่าเดินทางไปรักษาพยาบาล 1,000 บาท ค่าเช่าบ้าน 400 บาท  ถึงเดือน ก.ย. 2562

เรื่อยมาจนถึงโครงการช็อป ช่วยชาติ ด้วยมาตรการทางภาษีเพื่อ ส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ  ให้ผู้มีรายได้บุคคลธรรมดาสามารถ นำค่าซื้อสินค้าตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2561-16 ม.ค. 2562 ไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้ตามจำนวน ที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท

สอดรับไปกับบรรดาโครงการ ยิบย่อยรายกระทรวง อาทิ โครงการ ช่วยเหลือเกษตรกรไร่ละ 1,800 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ เพิ่มค่าตอบแทนอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เป็น 1,000 บาท และอนุมัติวงเงิน 763 ล้านบาท ซื้ออุปกรณ์ให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลประมาณ  1,000 แห่ง ไปจนถึงในส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  มอบบ้าน สร้างชุมชนไทยทุกคนมั่นคง เข้มแข็ง 2,562 หลัง

คู่ขนานไปกับการจัดทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติมภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ในกลุ่ม ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หรือ ผู้ที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ในปี 2560 โดยจะเริ่มแจกบัตรผ่านทีมไทยนิยม ยั่งยืน ทั่วประเทศประมาณ 3 ล้านราย ได้รับบัตรปลายเดือนนี้

โดยจะสามารถใช้สิทธิได้ 2 ประเภท ได้แก่ 1.สิทธิในกระเป๋าวงเงิน ทั้งค่า ใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าใช้จ่ายใน ครัวเรือน 300 และ 200 บาท/คน/เดือน วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าที่กำหนด 45 บาท/คน/ 3 เดือน และสิทธิในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ จะได้การสนับสนุน ค่าใช้จ่ายช่วงปลายปี คนละ 500 บาท ไปจนถึงมาตรการช่วยเหลืออื่น

ส่งผลให้คะแนนนิยมของรัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.  เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะหลัง ท่ามกลางสัญญาณของพรรค พลังประชารัฐที่ประกาศเตรียมเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรค

แม้การจะอัดฉีดเม็ดเงินลงพื้นที่  ในช่วงใกล้เลือกตั้งจะเป็นยุทธวิธีปกติ  ที่พรรครัฐบาลนิยมใช้เพื่อเร่งสร้างคะแนนไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากพรรคไหน แต่ก็ใช่ว่าจะทำให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเสมอไป

โดยเฉพาะในครั้งนี้ซึ่งรัฐบาล คสช.ได้ประกาศเดินหน้าปฏิรูปการเมืองมุ่งหวังจะพาประเทศก้าวพ้นวังวนปัญหาที่ประสบมาในอดีต ด้วยการกำหนดกรอบกติกาเพื่อควบคุม การบริหารงานและทำให้มีกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้งบประมาณ โดยเฉพาะกับบรรดาโครงการประชานิยมที่เคยถูกมองว่าเป็นเพียงแค่การ ใช้ภาษีประชาชนไปเพื่อคะแนนนิยม แต่ไม่ใช่นโยบายที่มุ่งหวังพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืน

สุดท้ายเมื่อรัฐบาลตัดสินใจใช้นโยบายที่เข้าข่ายประชานิยมเสียเอง ทั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์และแรงกดดันจึงยิ่งทวีความรุนแรงกลับมายังรัฐบาล และสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้คะแนนนิยมที่มีอยู่เวลานี้ต้องลดน้อยถอยลงไป เรื่อยๆ ในช่วงใกล้เลือกตั้ง

แม้รัฐบาลจะพยายามออกตัวว่า นโยบายลดแลกแจกแถมที่ออกมาในช่วงนี้เป็นไปเพื่อหวังผลทางการเมือง หรือต้องการคะแนนนิยมรองรับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่เป็นไปเพื่อต้องการช่วยเหลือและดูแล ผู้มีรายได้น้อยในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

แต่ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ที่ปรากฏออกมา พรรคการเมือง ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่านี่เป็นเพียงแค่ นโยบายที่หวังผลเลือกตั้ง และมองว่าแต่ละมาตรการไม่ต่างจากนโยบายประชานิยมที่รัฐบาลซึ่งมาจากการ เลือกตั้งเคยทำมาในอดีต

ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่ได้ดีอย่างที่รัฐบาลพยายามป่าวประกาศ ว่าดีขึ้นหรือแม้แต่สิ่งที่เคยประกาศว่าภายในปีนี้จะทำให้คนจนหมดไปจากประเทศ ก็ดูจะไม่เป็นความจริง แต่อย่างไร

เมื่อสุดท้ายรัฐบาลก็ยังต้องให้เงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย 500 บาทในช่วงปีใหม่ ด้วยเหตุผลว่าไม่ให้ไม่ได้เพราะคนกำลังจะอดตาย ซึ่งตอกย้ำว่าสิ่งที่รัฐบาลทำมากว่า 4 ปีไม่อาจแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างที่เคยตั้งเป้าไว้แต่อย่างไร

แถมยังสวนทางกับคำพูดของคนในรัฐบาลก่อนหน้านี้ว่ารัฐบาลไม่มีงบประมาณเพียงพอจะช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรที่ออกมารวมตัวเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือความเดือดร้อนด้วยการจ่ายเงินชดเชย แต่ครั้นใกล้เลือกตั้งเหตุใดถึงกลับมีงบประมาณได้

สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นประเด็นที่พรรคการเมืองจับจ้องจะหยิบยกมาถล่มรัฐบาลในช่วงหาเสียงที่จะดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ อันจะเป็นความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้คะแนนนิยมที่ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นในเวลานี้ มีอันต้องลดลงไป และส่งผลให้คะแนนเสียงในการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามที่มุ่งหวังก็เป็นได้