posttoday

สัญญาณโดดเดี่ยว "พลังประชารัฐ"

10 ธันวาคม 2561

ความเคลื่อนไหวทางการเมืองเริ่มสะท้อนชัดว่า "พรรคพลังประชารัฐ" กำลังถูกโดดเดี่ยวจาก 2 พรรคใหญ่ และศึกเลือกตั้งข้างหน้าก็ไม่ง่ายที่จะได้เสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จ

ความเคลื่อนไหวทางการเมืองเริ่มสะท้อนชัดว่า "พรรคพลังประชารัฐ" กำลังถูกโดดเดี่ยวจาก 2 พรรคใหญ่ และศึกเลือกตั้งข้างหน้าก็ไม่ง่ายที่จะได้เสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จ

**************************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เส้นทางสู่การเลือกตั้งชัดเจนมากขึ้นหลังการหารือร่วมกันระหว่างคณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อหารือเกี่ยวกับการปลดล็อกทางการเมืองอนุญาตให้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้

การเข้าร่วมการหารือของพรรคการเมืองกว่า 80 พรรค ดูเป็นตัวเลขที่พอสะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับในการหารือครั้งนี้ โดยเฉพาะเป้าหมายสู่การปลดล็อกทางการเมืองให้แต่ละพรรคสามารถเดินเข้าสู่สนามเลือกตั้งได้อย่างไร้พันธนาการเหมือนที่ผ่านมา

แต่ทว่าอีกด้านหนึ่งการออกมาประกาศไม่ร่วมหารือของ 2 พรรคใหญ่ อย่างเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ถือเป็น “สัญญาณ” ที่ไม่สู้ดีกับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น และสุดท้ายย่อมไม่เป็นผลดีต่อพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งกำลังถูกมองว่ามีความพยายามเอาเปรียบในการเลือกตั้งหลายรูปแบบ

แม้จริงๆ แล้วหากย้อนไปดูคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ไม่ได้บังคับให้พรรคการเมืองต้องร่วมหารือด้วยก็ตาม

ตามเนื้อหาคำสั่งข้อ 8 ระบุเพียงว่า “เมื่อมีการประกาศ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร​ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ ครม.แจ้ง คสช.เพื่อ​พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมาย ประกาศหรือคำสั่ง คสช. อันเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการของพรรคการเมือง และร่วมกันจัดทําแผนและขั้นตอนการดําเนินการทางการเมืองเพื่อนําไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยให้หารือกับ กกต.​ กรธ. ประธาน สนช. ​และจะเชิญผู้แทนพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองต่างๆ เข้าหารือด้วยก็ได้​”​

ไม่ว่าการหารือจะเป็นอย่างไร สุดท้าย คสช.ย่อมต้องปลดล็อกทั้ง ประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 เพื่อให้พรรคการเมืองประชุมหรือดำเนินกิจกรรมได้ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เพื่อให้สามารถชุมนุมทางการเมืองได้เกิน 5 คน

ดังนั้น การเชิญพรรคการเมืองมาร่วมหารือจึงเสมือนเป็นความพยายามสร้างบรรยากาศการยอมรับจากนักการเมือง ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงกติกาใหม่ที่ดูจะสร้างความเสียเปรียบให้กับพรรคใหญ่ ตลอดจนแรงดูดและการใช้อำนาจรัฐอำนาจพิเศษเข้าไปเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคบางพรรคยิ่งหากฟังเหตุผลจากสองพรรคที่ออกมาสะท้อนตรงกันว่าหนึ่งในเหตุผลที่ตัดสินใจไม่เข้าร่วมหารือเพราะเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์ เนื่องจากเป็นการเรียกมารับฟังไม่ใช่การหารือรับฟังความเห็นจากพรรคการเมือง นั่นเท่ากับทุกอย่างถูกกำหนดมาไว้เรียบร้อยไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่ก็ต้องเดินหน้าไปตามนั้น

ที่สำคัญ ประชาธิปัตย์ยังได้ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงการทำหน้าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ที่กำลังจะถูกเสนอชื่อเป็นหนึ่งในรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ เมื่อมานั่งร่วมหารือในครั้งนี้จะเหมาะสมหรือถูกมองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนประการใดหรือไม่

ยังไม่รวมกับประเด็นการออกมาให้สัมภาษณ์ไปถึงทั้งสองพรรคใหญ่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ว่า “เหมือนนักมวยขึ้นเวทีแล้วกรรมการเรียกมาชี้แจง นักมวยส่ายหน้าไม่ยอมมา ถ้าไม่มาก็เลิกชกไปเสีย” ​ซึ่งล้วนแต่จะทำลายบรรยากาศการเลือกตั้งที่หลายฝ่ายคาดหวังว่าจะเกิดความ “อิสระ” และ “ยุติธรรม”

ประเด็นอยู่ตรงที่เมื่อสองพรรคใหญ่ไม่เข้าร่วมหารือนั้น ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ยอมรับในกระบวนการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ​อันจะถูกขยายผลต่อไปถึงประเด็นกฎกติกาที่วางไว้นั้น สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบให้กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือไม่

หนักกว่านั้นย่อมจะถูกเชื่อมโยงต่อไปถึงความพยายาม “สืบทอดอำนาจ” ที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อพรรคพลังประชารัฐในระยะยาว

อีกมุมหนึ่งยังสะท้อนให้เห็นภาพการเคลื่อนไหวต่อสู้ของพรรคพลังประชารัฐที่กำลังถูกโดดเดี่ยวจาก 2 พรรคใหญ่ และนั่นย่อมจะส่งผลตั้งแต่การถูกรุมกระหน่ำในช่วงการหาเสียงที่กำลังจะเริ่มต้นเดือนหน้า ไปถึงการจับขั้วตั้งรัฐบาลหลังผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว

เพราะต้องยอมรับว่าต่อให้มีเสียงสนับสนุนจาก สว.เฉพาะกาล 250 เสียง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งประเมินแล้วว่าไม่น่าจะได้เสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จะสามารถรวมเสียงจากพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กจนเพียงพอจะได้เสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลได้

ยิ่งในวันที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชิงจังหวะออกตัวประกาศไม่จับมือกับพรรคพลังประชารัฐไปก่อนหน้านี้แล้วด้วยเหตุผลแนวทางของพรรคพลังประชารัฐ การบริหารงานด้านเศรษฐกิจ การโยกย้ายฝ่ายการเมือง การรวมศูนย์อำนาจ ที่แสดงออกมาไม่สอดคล้องกับพรรคประชาธิปัตย์

ไม่ต้องพูดถึงพรรคเพื่อไทยที่ประกาศยืนอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับพลังประชารัฐแบบเต็มตัวด้วยจุดยืนที่ต่อต้านเผด็จการมาตั้งแต่แรก หลังเข้าสู่โหมดหาเสียงได้คงจะมีการเปิดศึกวิวาทะกันแบบเต็มรูปแบบ

จะเหลือก็แต่เพียงพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กที่เวลานี้ยังเปิดกว้างพร้อมรอดูทิศทางลมว่าพรรคไหนจะได้เสียงข้างมากและมีโอกาสเพียงพอจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

เส้นทางของพรรคพลังประชารัฐนับจากนี้จึงเต็มไปด้วยความโดดเดี่ยวกับเดิมพันทางการเมืองที่ต้องตัดสินกันที่ผลเลือกตั้งรอบนี้