posttoday

สามมิตร-พลังประชารัฐ จัดฉากสลายกระแสดูด

05 ตุลาคม 2561

ตัดกันไม่ขาดสำหรับพรรคพลังประชารัฐ และกลุ่มสามมิตร ที่ทำการเมืองแบบ คู่ขนานกันมาได้พักใหญ่ สุดท้ายได้ฤกษ์เตรียมผนึกกำลังรวมตัวเดินหน้าลงสนามเลือกตั้งแบบไม่มีพลิกโผ

ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ตัดกันไม่ขาดสำหรับพรรคพลังประชารัฐ และกลุ่มสามมิตร ที่ทำการเมืองแบบ คู่ขนานกันมาได้พักใหญ่ สุดท้ายได้ฤกษ์เตรียมผนึกกำลังรวมตัวเดินหน้าลงสนามเลือกตั้งแบบไม่มีพลิกโผ

ล่าสุด สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำ กลุ่มสามมิตร ออกมาสยบกระแสข่าวความขัดแย้ง​ ส่งสัญญาณชัดเจนเตรียมขนสมาชิก 70 คน อันประกอบด้วย อดีต สส.ประมาณ 30 คน และนักการเมืองท้องถิ่น รวมถึงนักธุรกิจ คนรุ่นใหม่ประเภทดาวฤกษ์ 40 คน ร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐในสัปดาห์หน้า

ปัญหาก่อนหน้านี้อยู่ตรงที่กระแสข่าวความขัดแย้งเรื่อง “พื้นที่” จนกระทบไปถึงการวางตัวส่งผู้สมัคร สส.ของ สองฝั่ง ซึ่งเกิดการทับซ้อนและเคลียร์กันไม่ลงตัว

เมื่อฝั่ง “กลุ่มสามมิตร” ซึ่งชักชวนผู้สมัครซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตสส.จากภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง บางส่วนเข้ามาดังที่ปรากฏเห็นความเคลื่อนไหวมาแล้วก่อนหน้านี้ แต่กลับยังไม่มีสัญญาณความชัดเจนจากฝั่งพลังประชารัฐ ขณะที่อีกด้านเริ่มปรากฏรายชื่อว่าที่ผู้สมัครซึ่งผลักดันมาจากฝั่งของทั้งแกนนำพลังประชารัฐและฝั่งทหาร จนเกิดความขัดแย้งส่อเค้าถึงขั้นจะแยกทางกันเดิน

ปัญหานี้ทำให้ต้องเตรียมหาทางออกอย่างเป็นธรรมและเป็นที่ยอมรับด้วยกันทุกฝ่ายด้วยการทำโพลผู้สมัครในพื้นที่ที่มีความทับซ้อนกัน เพื่อให้ได้ผู้สมัครที่เหมาะสมที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติยากที่ “พลังประชารัฐ” และ “กลุ่มสามมิตร” จะสามารถแยกกันเดิน เพราะด้วยสายสัมพันธ์อันแนบแน่นมาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันที่แทบจะหลอมเป็นเนื้อเดียวกันมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

ดังจะเห็นจากรายชื่อกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐที่เปิดตัวออกมาก่อนหน้านี้ ก็มีแกนนำจากกลุ่มสามมิตร เข้าไปนั่งเป็นกรรมการอยู่ด้วย ทั้ง อนุชา นาคาศัย หรือ พงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง (IEC) ญาติของ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำกลุ่มสามมิตร

อีกทั้ง ​“กลุ่มสามมิตร” เองก็ไม่ได้มีพละกำลังเพียงพอจะเดินหน้าทำการเมืองลำพังด้วยตัวเอง ยิ่งหากต้องไปแข่งขันกับคู่แข่งอย่างพรรคเพื่อไทยที่มีฐานเสียงที่เหนียวแน่นในพื้นที่ภาคอีสานและเหนือด้วยแล้ว หรือแม้แต่การจะย้ายไปรวมกับพรรคอื่นๆ ซึ่งเวลานี้เริ่มมีการจัดวางตัวบุคคลทำพื้นที่ไปบ้างแล้ว ย่อมไม่ใช่ทางเลือกที่ดีแต่อย่างไร

ดังนั้น การผนึกกำลังอาศัยจุดแข็งของพลังประชารัฐที่มีทั้งอำนาจรัฐ อำนาจทุน ย่อมเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันในสนามเลือกตั้งง่ายขึ้น

ความระหองระแหงที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งจึงถูกมองว่าเป็นเพียงแค่การตั้งแง่ หรือแค่แสดงอาการฮึดฮัด แต่ไม่ได้ถึงขั้นจะแตกหักแยกทางกันเดิน ​

ปัจจัยสำคัญที่ทาง “กลุ่มสามมิตร” พยายามผลักดันไม่ใช่แค่เรื่องของการส่งตัวผู้สมัครของฝั่งตนเองเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเรื่องแนวนโยบายที่ทางกลุ่มสามมิตรต้องการผลักดันด้วย

หากจำได้ก่อนหน้านี้ในช่วงเริ่มต้นเคลื่อนไหว กลุ่มสามมิตรพยายาม หลีกเลี่ยงเงื่อนไขคำสั่งคณะรักษา ความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง ด้วยการใช้วิธีลงไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อรับฟังปัญหาและความต้องการเพื่อจะมาปรับเป็นนโยบาย

ดังนั้น เมื่อกลุ่มสามมิตรจะเดินหน้าไปร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐเต็มตัว จึงต้องการผลักดันนโยบายของตัวเองให้ไปปรากฏอยู่ในแนวนโยบายของพรรคพลังประชารัฐด้วย

ด้านหนึ่งเพื่อให้แสดงศักยภาพของตัวเองที่สามารถผลักดันนโยบาย และสร้างการยอมรับและเป็นผลงานที่จะติดตัวต่อไป ไม่ใช่ถูกกลืนไปด้วยนโยบายประชารัฐ อีกด้านยังจะช่วยเสริมภาพลักษณ์ ​แสดงถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานที่มีการยึดโยงกับประชาชนในแต่ละพื้นที่​

ดังจะเห็นว่านโยบายที่กลุ่มสามมิตรคัดมานั้นถือเป็นโครงการที่เคยได้รับการตอบรับในอดีต และครอบคลุมฐานเสียงจำนวนมาก ​ทั้ง โครงการโคแก้จน การปรับสวัสดิการให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้สูงอายุ และอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.)

หากนโยบายเหล่านี้ถูกนำไปใช้เป็นนโยบายพรรคย่อมง่ายที่ประชาชนจะรับรู้ รับทราบ และรู้สึกจับต้องได้ง่าย ซึ่งจะเอื้ออำนวยให้การหาเสียงในพื้นที่เป็นไปได้ง่ายขึ้น แต่ในมุมของฝั่งพรรคพลังประชารัฐ เรื่องนี้อาจไม่ง่ายนักเพราะจุดขายของพรรคที่ต้องการจะหยิบยกชูมาเป็นนโยบายที่ใช้หาเสียง ย่อมต้องเป็นนโยบายประชารัฐ ที่รัฐบาล คสช.เริ่มต้นอัดฉีดเม็ดเงินลงพื้นที่ และกำลังจะเห็นผลที่จับต้องได้ในไม่ช้า

รวมทั้งหมดนี้เป็นกลยุทธ์ที่หมายมั่นปั้นมือกันมานาน ด้วยความหวังว่าจะสามารถไปหักล้างความนิยมของนโยบายจากรัฐบาลในอดีต และสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมาใหม่ ​

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือหากพรรคพลังประชารัฐยอมรับนโยบายของกลุ่มสามมิตรไปปรับใช้ ย่อมสามารถช่วยลบภาพดูด สส.ที่มุ่งหวังเพียงแต่คะแนนเสียง และจำนวนเก้าอี้ สส. จนละเลยเรื่องแนวนโยบายหรือความต้องการของประชาชนไปได้​

อีกทั้งยังสามารถไปชี้แจงต่อสาธารณะได้ว่าการรวมตัวกันนั้นไม่ใช่เรื่องของการดูด แต่เป็นเรื่องของแนวนโยบายที่ไปด้วยกันได้ อันจะช่วยปรับภาพลักษณ์ของพรคพลังประชารัฐได้ไม่มากก็น้อย