posttoday

"ประชารัฐ" โชว์พลังดูด เบ่งกล้ามบอนไซศัตรู

27 กันยายน 2561

กรณีใช้ม.44ตั้ง "สนธยา คุณปลื้ม" เป็นนายกเมืองพัทยา อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเตรียมตัวลงสนามเลือกตั้งของ คสช.

กรณีใช้ม.44ตั้ง "สนธยา คุณปลื้ม" เป็นนายกเมืองพัทยา อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเตรียมตัวลงสนามเลือกตั้งของ คสช.

**************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

นับตั้งแต่รัฐบาลประกาศความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เห็นได้ว่าเกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองคึกคัก โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ล่าสุดเพิ่งได้ประกาศท่าทีทางการเมืองต่อสื่อมวลชนในทำนองว่ามีความสนใจงานการเมือง เพื่อมาสานต่อนโยบายที่ตนเองได้ทำไว้ แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะร่วมกับพรรคการเมืองใด

แม้นายกฯ จะไม่ระบุชื่อพรรคการเมือง แต่ในทางปฏิบัติส่วนใหญ่ย่อมทราบดีว่าพรรคการเมืองที่ว่านั้นคงหนีไม่พ้น “พรรคพลังประชารัฐ” อย่างแน่นอน เพราะองคาพยพต่างๆ ของพรรคพลังประชารัฐ ล้วนแล้วแต่เป็นคนแวดล้อมรัฐบาลแทบทั้งสิ้น

นอกเหนือไปจากความชัดเจนเกี่ยวกับท่าทีของนายกฯ จะพบว่าอีกด้านหนึ่งรัฐบาลค่อนข้างขยับตัวเพื่อเตรียมรับกับการเลือกตั้งเช่นกัน ซึ่งแทบเป็นรูปแบบที่ไม่ต่างอะไรกับปลายอายุของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เฉพาะอย่างยิ่งการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง

เมื่อวันที่ 25 ก.ย. คณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัดด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น จ.ตรัง นราธิวาส น่าน บุรีรัมย์ พิจิตร สุโขทัย อ่างทอง เป็นต้น ซึ่งมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากมีเป้าประสงค์ทางการเมืองโดยตรงและโดยอ้อม เนื่องจากถ้าดูให้ดีๆ จังหวัดเหล่านี้ล้วนแต่เป็นฐานเสียงของพรรคการเมืองปัจจุบันแทบทั้งสิ้น

แต่สำหรับกรณีของการแต่งตั้งโยกย้ายนั้นคงไม่มีตำแหน่งไหนจะมีนัยทางการเมืองมากไปกว่าการใช้มาตรา 44 แต่งตั้งให้ “สนธยา คุณปลื้ม” เป็นนายกเมืองพัทยา แทน พล.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี ทั้งๆ ที่อดีตตำรวจใหญ่นายนี้เพิ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 44 เพื่อเป็นพ่อเมืองพัทยาเมื่อต้นปี 2560

“บิ๊กแป๊ะ” แม้ที่ผ่านมาจะเคยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารจนพรรคการเมืองหลายพรรคต่างอยู่ในภาวะขาลงอย่างหนัก ก็ได้มีโอกาสเข้ามาร่วมงานกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อร่วมขับเคลื่อนโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของรัฐบาล อันเป็นที่มาของการเริ่มต้นดูดนักการเมืองเข้ามาร่วมงานกับ คสช.

การให้สนธยาเข้ามาคุมเมืองพัทยานั้นย่อมเป็นสัญลักษณ์ของการรุกคืบในการคุมอำนาจทางการเมืองภาคตะวันออกของพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากก่อนหน้านี้เพิ่งมีรายงานว่ากำลังจะมีอดีต สส.ภาคตะวันออกของพรรคประชาธิปัตย์หลายคน จะเข้าไปร่วมงานกับกลุ่มสามมิตรและพรรคพลังประชารัฐต่อไปในการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ อาจมีคำถามว่า ทำไมพรรคพลังประชารัฐถึงได้ให้ความสำคัญพื้นที่การเมืองในภาคตะวันออกมากนัก ถึงขั้นที่ต้องใช้มาตรา 44 แต่งตั้งผู้มีอิทธิพลทางการเมืองหมายเลขหนึ่งเข้าไปคุมเมืองพัทยา

เหตุผลหลัก คือ การพยายามแผ่อิทธิพลทางการเมืองให้เห็นว่าเมื่อใครเลือกข้างมาอยู่กับ คสช.จะได้รับผลตอบแทนอย่างไร ประกอบกับการที่รัฐบาลสามารถสร้างโครงการอีอีซีได้สำเร็จย่อมหมายความว่า ในอนาคตระยะยาวทรัพยากรต่างๆ จะไหลเข้ามาที่ภาคตะวันออกเป็นจำนวนมาก

ทรัพยากรดังกล่าวไม่เพียงแต่จะเข้าพื้นที่ภาคตะวันออกเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบรรดาแรงสนับสนุนที่เทมายัง พล.อ.ประยุทธ์ ด้วย เพราะต้องการให้นำโมเดลอีอีซีไปเป็นต้นแบบเพื่อการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจอื่นๆ บ้าง จึงไม่แปลกที่โพลหลายสำนักจะต่างออกมาระบุในทำนองคล้ายกันว่า สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อไป

แน่นอนว่าเมื่อบรรดานักเลือกตั้งต่างเห็นการแต่งตั้งนายกเมืองพัทยารอบนี้และอีอีซีที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ย่อมรู้ดีว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าควรจะเลือกอยู่ข้างใครเพื่อให้ตัวเองได้เดินสวมสูทเข้าสภา ไม่ใช่ฐานะผู้สอบตกและนั่งอดยากปากแห้งต่อไปอีกหลายปี

จึงไม่แปลกที่อดีตนักเลือกตั้งภูมิภาคอื่นๆ จะเริ่มเข้ามาอยู่ใต้ชายคา คสช. เพราะต่างรู้แจ้งว่าในช่วงปลายของรัฐบาลจะมีการผลักดันโครงการขนาดใหญ่เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจอีกจำนวนมาก

นั่นย่อมหมายถึงการใช้โครงการเหล่านั้นเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ และการที่มีนโยบายและโครงการขนาดใหญ่ออกมาย่อมทำให้การหาเสียงเพื่อโน้มน้าวให้คนในพื้นที่ลงคะแนนเสียงให้กับตัวเองได้ง่ายขึ้น ต่างจากพรรคการเมืองในปัจจุบันที่มีเพียงวิมานในอากาศเท่านั้น

ต้องยอมรับว่า เมื่อพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคที่เคยเรืองอำนาจก็กำลังวุ่นอยู่กับการจัดการปัญหาภายในพรรค อย่างพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่มีความชัดเจนว่านายใหญ่ที่จะเป็นผู้นำพรรคจะเป็นใคร อีกทั้งยังไม่แน่ใจว่าถ้าชนะเลือกตั้งแล้วจะได้จัดรัฐบาลหรือไม่ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ก็ตีกันเองในยามสงบ ภายหลังมีความไม่ลงตัวในเรื่องหัวหน้าพรรค ทั้งหมดนี้ต่างเป็นปัจจัยที่มีผลให้อดีต สส.ของพรรคเอาใจออกห่างก่อนจะเข้ามาร่วมกับ คสช.

ที่สุดแล้ว กรณีของสนธยาอาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นหนึ่งของการเตรียมตัวลงสนามเลือกตั้งของ คสช. เพราะนับจากนี้ไปยังมีอีกหลายที่รัฐบาลต้องทำอีกมาก ซึ่งลำพังการใช้อำนาจปกติคงไม่อาจพา คสช.ไปสู่ชัยชนะในสนามเลือกตั้งไปได้