posttoday

ลงสนามพร้อมอาวุธพิเศษ ของแสลงย้อนเข้าตัว

26 กันยายน 2561

อำนาจการเมืองและกฎหมายอาจไม่ได้เป็นของวิเศษสำหรับรัฐบาลคสช.ระหว่างเลือกตั้ง

อำนาจการเมืองและกฎหมายอาจไม่ได้เป็นของวิเศษสำหรับรัฐบาลคสช.ระหว่างเลือกตั้ง

**********************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

“ผมใช้คำแรกได้ว่า ผมสนใจงานการเมือง เพราะผมรักประเทศชาติของผม เช่นเดียวกับคนไทยทั้งประเทศ ที่ทุกคนก็รักประเทศไทยของเรา แต่ก็สุดแล้วแต่ประชาชนจะว่าอย่างไรในอนาคต”

เป็นประโยควรรคทองของประเทศไทยในปี 2561 ก็ได้ ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันว่ามีความสนใจจะลงสนามการเมือง

ก่อนหน้านี้มีแต่เพียงการคาดการณ์กันไปมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะลงเลือกตั้งหรือไม่ แต่ยังไม่เคยมีความชัดเจนจาก พล.อ.ประยุทธ์ เลยสักครั้ง ดังนั้น เมื่อนายกฯ ประกาศความชัดเจนออกมาอย่างเป็นทางการ จึงทำให้คลายความสงสัยลงไปในทันที ซึ่งแน่นอนว่าพรรคการเมืองที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเข้าไปร่วมงานนั้น คงหนีไม่พ้น “พรรคพลังประชารัฐ” ซึ่งเป็นพรรคที่กลุ่มสามมิตรได้ปูทางเอาไว้แล้ว

ความชัดเจนที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้มีแต่เพียงตัวนายกฯ เท่านั้น เพราะบรรดาคนแวดล้อมนายกฯ ก็ประกาศเป็นนัยถึงการเตรียมตัวลงสนามการเมือง เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รมว.พาณิชย์ และ “อุตตม สาวนายน” รมว.อุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม แม้ได้ประกาศว่าจะลงเลือกตั้ง แต่หัวหน้า คสช. ยังระบุด้วยว่าจะไม่มีการลาออกจากตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้น เท่ากับว่าในระหว่างการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จะสวมหมวก 2 ใบ ได้แก่ หมวกในฐานะนายกฯ และผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกฯ

ทั้งนี้ จะว่าไปแล้วการที่นายกฯ ลงพื้นที่หาเสียงในระหว่างการดำรงตำแหน่งนั้นก็ไม่ได้แปลกประหลาดอะไร เพราะทุกครั้งที่นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรและหาเสียงเลือกตั้ง ต่างก็สวมหมวกสองใบทั้งสิ้น แต่สำหรับกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ มีความแตกต่างกันไป

กล่าวคือ บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ยังมีอำนาจหน้าที่โดยสมบูรณ์ทุกประการ จนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ หมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ตกอยู่ภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ห้ามไม่ให้รัฐบาลดำเนินการบางประการในระหว่างการเลือกตั้งตามมาตรา 169 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีการมีส่วนได้ส่วนเสียในการใช้อำนาจของรัฐบาลกับการเลือกตั้ง

รัฐธรรมนูญมาตรา 169 บัญญัติให้รัฐบาลที่รักษาการภายหลังมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรหรืออายุสภาสิ้นสุดลง จะดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินได้ตามปกติ แต่มีอยู่ 4 เรื่องที่ห้ามดำเนินการ ได้แก่

1.การกระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติโครงการมีผลผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป

2.การแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการ เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต.

3.การกระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต.

4.การไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง

ความได้เปรียบทุกประตูที่ พล.อ.ประยุทธ์ มีอยู่ ทั้งในแง่ข้อกฎหมายและการเมือง ทำให้ไม่เป็นเรื่องยากเลยสำหรับพรรคการเมืองที่เป็นบ้านให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง

แต่กระนั้นอำนาจพิเศษที่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเอาออกมาใช้ได้ปกติ เหมือนกับไม่มีการเลือกตั้ง

ตรงกันข้าม พล.อ.ประยุทธ์ กลับต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากกว่าพรรคการเมืองปกติด้วยซ้ำ เนื่องจากต้องไม่ลืมว่าทุกวันนี้กลไกทางการเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ถูกส่องไฟจับผิดมาตลอด

ทุกวันนี้รัฐบาลพยายามโหมประโคมโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วงปลายสมัยของรัฐบาลจำนวนมาก โดยเฉพาะระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเป็นโครงการหลักที่รัฐบาลพยายามแสดงเป็นผลงานมาตลอด

ขณะเดียวกัน กฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ที่กำลังจะมีใช้บังคับในเดือน ต.ค.ก็มีตัวเลขที่ลงไปในโครงการ
ประชารัฐมากพอสมควร

ดังนั้น อำนาจการเมืองและกฎหมายที่มีอยู่อาจไม่ได้เป็นของวิเศษสำหรับรัฐบาลระหว่างการเลือกตั้ง เพราะอาจถูกจับผิดและขยายผลจนเสียคะแนนและพ่ายแพ้ จึงเรียกได้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้อาจเป็นของแสลงสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นได้