posttoday

คุมหาเสียงออนไลน์ คสช.ชกฝ่ายเดียว

18 กันยายน 2561

หากปล่อยให้พรรคการเมืองเข้าผสมโรงได้ด้วย แน่นอนว่า คสช.อาจถูกสกรัมบนสื่อออนไลน์หนักขึ้นไป ทางที่ดีจึงพยายามหามาตรการตัดไฟแต่ต้นลม

หากปล่อยให้พรรคการเมืองเข้าผสมโรงได้ด้วย แน่นอนว่า คสช.อาจถูกสกรัมบนสื่อออนไลน์หนักขึ้นไป ทางที่ดีจึงพยายามหามาตรการตัดไฟแต่ต้นลม

***************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ในที่สุดก็ตามนัดสำหรับ “การคลายล็อกการเมือง” ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

สาระสำคัญของคำสั่งดังกล่าวมีด้วยกันอย่างน้อย 3 เรื่อง

1.การเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองสามารถประชุมพรรคการเมืองได้ โดยข้อ 2 ระบุถึงกิจกรรมที่พรรคการเมืองดำเนินการได้ เช่น การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ การเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค การจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง การรับสมัครสมาชิกพรรค การให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง

กิจกรรมดังกล่าวเดิมเคยเป็นกฎเหล็กที่ คสช.กำหนดห้ามไม่ให้พรรคการเมืองดำเนินการ แต่เมื่อคลายล็อกแล้ว พรรคการเมืองมีสิทธิเดินหน้าได้ทันทีเพียงแต่ต้องแจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับทราบล่วงหน้า 5 วัน โดยไม่ต้องแจ้งกับ คสช.

2.การยกเลิกการทำไพรมารีโหวตสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นไปตามข้อ 4 ของคำสั่งดังกล่าวที่บัญญัติให้ชะลอการทำไพรมารีโหวตออกไปก่อน แต่จะให้กลับไปใช้หลักการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งแทน ซึ่งเป็นโมเดลคล้ายกับที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้เคยเสนอเอาไว้

สำหรับคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง จะประกอบด้วย กรรมการบริหารพรรคการเมืองจำนวน 4 คน และตัวแทนสมาชิกที่พรรคการเมืองเลือกจำนวน 7 คน มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาและเสนอคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองให้ความเห็นชอบ

3.การควบคุมการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยหลักของข้อ 6 คำสั่งหัวหน้า คสช. ระบุว่า “พรรคการเมืองจะดำเนินการประชาสัมพันธ์หรือติดต่อสื่อสารกับผู้ดำรงตำแหน่งใดๆ ภายในพรรคการเมืองและสมาชิกของพรรคการเมืองของตน โดยวิธีผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้”

“แต่การดำเนินการนั้นต้องไม่มีลักษณะเป็นการหาเสียง ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อาจกำหนดลักษณะต้องห้ามของการประชาสัมพันธ์ หรือการติดต่อสื่อสารที่จะมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือสั่งให้มีการระงับการดำเนินการดังกล่าวก็ได้”

ในภาพรวมของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ได้ทำการคลายล็อกการเมือง ด้านหนึ่งดูเหมือนคลายล็อกจริงๆ แต่อีกด้านหนึ่งนอกจากไม่ได้คลายล็อกแล้ว กลับจะเป็นการล็อกให้แน่นกว่าเดิมด้วยซ้ำ โดยเฉพาะกรณีของคำสั่งหัวหน้า คสช.ข้อที่ 6

ทั้งนี้ หากจะบอกว่า คสช.พยายามตัดตอนตั้งแต่ต้นลมคงไม่แปลกนัก

ต้องยอมรับว่าตลอดเวลา 4 ปีภายใต้การคุมเข้มของ คสช. ทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามช่องทางปกติในการสื่อสารกับสมาชิกพรรคและประชาชน ทั้งการลงพื้นที่หรือการปราศรัยหาเสียง จึงต้องเลือกวิธีการใช้สื่อออนไลน์มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองแทน

พรรคการเมืองที่ใช้ช่องทางนี้มากที่สุดเห็นจะเป็น “พรรคอนาคตใหม่” ซึ่งตั้งแต่เปิดตัวไปตั้งแต่ต้นปี 2561 ปรากฏว่าได้ใช้สื่อออนไลน์เพื่อการสร้างแบรนด์ของพรรคอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น การลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของหัวหน้าพรรค การจัดรายการทางออนไลน์ที่มีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล

วิธีการนี้ของพรรคอนาคตใหม่เริ่มได้ผล เพราะทุกครั้งที่มีผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่ผ่านมา ก็เริ่มมีชื่อของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรค เข้ามาติดโผเป็นนายกฯ ด้วย สวนทางกับคะแนนความนิยมของประชาชนที่มีให้ พล.อ.ประยุทธ์ ถึงจะไม่ได้แย่มากนัก แต่ก็ไม่ได้ดีขึ้นเท่าไหร่

สถานการณ์เช่นนี้ ถ้าดำรงอยู่ต่อไปย่อมเป็นภัยกับ คสช.ในการเข้ามาสานต่อภารกิจการปฏิรูปให้จบ เพราะอย่าลืมว่าการเลือกตั้งในปีหน้าจะมีผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเป็นครั้งแรกจำนวนมากประมาณ 4 ล้านคนตามตัวเลขทางทะเบียนราษฎร ซึ่งคนกลุ่มนั้นเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีพฤติกรรมการเสพข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์เป็นหลัก

กรณีนี้ยังไม่นับผู้ที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งอยู่อีกหลายสิบล้านคนที่ก็เสพข้อมูลข่าวสารอีกหลายทาง ซึ่งทุกวันนี้ตามแพลตฟอร์มบนสื่อออนไลน์ก็ล้วนเต็มไปด้วยเนื้อหาที่วิพากษ์การทำงานของรัฐบาลเป็นหลัก

ดังนั้น หากปล่อยให้พรรคการเมืองเข้ามาผสมโรงได้ด้วย แน่นอนว่า คสช.แทบจะไม่ต่างอะไรกับการถูกสกรัมบนสื่อออนไลน์หนักขึ้นไป ทางที่ดีจึงพยายามหามาตรการตัดไฟแต่ต้นลม

หมากเกมนี้ของ คสช. แน่นอนว่าจะใช้เครื่องมือทางกฎหมายเข้ามาจัดการ โดยการกำหนดข้อห้ามตามข้อ 6 จะเปิดช่องที่นำไปสู่การให้ฝ่ายที่บังคับใช้กฎหมายสามารถตีความได้อย่างกว้าง เพื่อให้การควบคุมพรรคการเมืองทำได้ง่ายมากขึ้น แต่จะมีผลให้พรรคการเมืองขยับตัวได้ยาก เพราะจะไม่กล้าทำอะไรที่มีความเสี่ยงต่อการถูกยุบพรรค

เมื่อ คสช.คุมเกมนี้ได้แล้ว โดยที่พรรคการเมืองเคลื่อนไหวได้ลำบาก ก็จะเข้าทาง คสช.ที่กำลังพยายามสร้างวาทกรรม “ประชารัฐ” ให้ฝังลึกในความคิดของประชาชนแทนที่ “ประชานิยม”

ที่สำคัญกว่าที่การเมืองจะปลดล็อก 100% ถึงเวลานั้นพรรคการเมืองก็เดินตามหลัง คสช.ไปหลายก้าวแล้ว