posttoday

ปรับครม.โค้งสุดท้าย ปูทางเลือกตั้ง

07 กันยายน 2561

เส้นทางสู่ "เลือกตั้ง" เตรียมเริ่มต้นเดินหน้าอย่างเป็นทางการ หลัง พ.ร.ป.สส. และ พรป.สว.ประกาศใช้ ซึ่งตามปฏิทินการเมืองคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือน ก.ย.นี้

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เส้นทางสู่ "เลือกตั้ง" เตรียมเริ่มต้นเดินหน้าอย่างเป็นทางการ หลัง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.ประกาศใช้ ซึ่งตามปฏิทินการเมืองคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือน ก.ย.นี้

สอดรับไปกับกระบวนการเตรียมความพร้อมต่างๆ ที่เริ่มขยับ โดยเฉพาะมาตรการเตรียม "คลายล็อก" แก้ไขคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 53/2560 เปิดให้พรรคการเมืองสามารถจัดประชุมพรรคเพื่อเลือกกรรมการบริหาร กำหนดนโยบาย และเรื่องอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

นับเป็นสัญญาณ "เริ่มต้น" ที่พรรคการเมืองจะกลับมาเคลื่อนไหวได้อีกครั้งหลังถูกแช่แข็งนานกว่า 4 ปี แม้จะเป็นการขยับที่อยู่ในกรอบโดยไม่สามารถทำกิจกรรมการเมืองหรือหาเสียงได้อย่างอิสระก็ตาม

ในจังหวะเวลาใกล้เคียงกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายก รัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เตรียมประกาศความชัดเจนทางการเมืองว่าจะวางบทบาทและสถานะของตัวเองจากนี้ต่อไปอย่างไร

นำมาสู่กระแสข่าวการปรับ ครม. ประยุทธ์ 6 ที่น่าจะเป็นการจัดวางขุมกำลังครั้งสุดท้ายเพื่อเตรียมพร้อม เดินหน้าสู่การเลือกตั้ง

แม้ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จะรีบออกมาปฏิเสธข่าวปรับ ครม. แต่ก็ยังไม่อาจคลายความเคลือบแคลงให้หมดไป เพราะบทเรียนจากในอดีตสะท้อนให้เห็นว่าหลายเรื่องที่เคยปฏิเสธในตอนแรก แต่สุดท้ายก็กลับมาเกิดขึ้นแบบสวนทางกับสิ่งที่เคยปฏิเสธไป

ยิ่งหากจับน้ำเสียงของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ซึ่งแม้จะปฏิเสธ ข่าวการปรับ ครม. แต่ขณะเดียวกันก็ยัง "เปิดช่อง" เผื่อความเป็นไปได้ว่าจะมีการปรับ ครม.ในกรณีมีรัฐมนตรีในรัฐบาลลาออกจากตำแหน่ง

กลายเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับหนึ่งในเหตุผลที่สนับสนุนกระแสข่าวการปรับ ครม.ตามข่าวที่ว่า ทั้ง อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม และสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เตรียมจะยื่นหนังสือลาออกเพื่อไปเป็นหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ

อย่าลืมว่าเวลานี้ใกล้ถึงเส้นตายที่แต่ละพรรคการเมืองต้องเดินหน้าจัดการประชุมใหญ่เพื่อเลือกกรรมการบริหาร ประกาศตัวหัวหน้าพรรค ไปจนถึงเรื่องการจัดทำนโยบาย คัดสรรตัวผู้สมัคร รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ที่ต้องเร่งเดินหน้าให้เสร็จโดยอันจะเป็นประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งต่อไป

พรรคพลังประชารัฐซึ่งถือเป็นพรรคใหม่ถอดด้ามทั้งในแง่โครงสร้างกรรมการบริหาร เรื่อยไปจนถึงระบบสมาชิก การบริหารจัดการจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะดึงคนที่มีประสบการณ์การเมืองมาร่วมเป็นทีมงานก็ตาม

ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องโครงสร้างฐานเสียง ระบบหัวคะแนนในพื้นที่ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์เร่งทำให้ประชาชนคนทั่วไปรู้จักและเชื่อมั่นเพียงพอจะลงคะแนนเสียงให้ แข่งกับอดีตพรรคการเมืองทั้งหลายที่มีโครงสร้างและฐานเสียงชัดเจน

เมื่อสองรัฐมนตรี หรืออาจจะมากกว่านั้นออกไปทำหน้าที่ดูแลพรรคพลังประชารัฐ ย่อมเป็นเหตุผลที่จะนำมาสู่การขยับปรับเก้าอี้กันในรัฐบาล เพื่อสร้างความเข้มแข็งเร่งสร้างผลงาน กระตุ้นความนิยมให้เพิ่มขึ้นในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงการหย่อนบัตรเลือกตั้ง

แน่นอนว่าคงเป็นไปได้ยากที่จะดึงอดีตนักการเมืองมาเสริมทีม ครม.ชุดนี้ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในทางการเมือง เพราะนอกจากจะเป็นการตอกย้ำเรื่องผลประโยชน์ตอบแทน สร้างแรงจูงใจในการดูดอดีตนักการเมืองมาเป็นขุมกำลังให้กับพรรคการเมืองของ คสช.ในอนาคตแล้ว

ยังจะยิ่งฉุดความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือของ คสช. ซึ่งเคยโยนบาปว่าว่าต้นตอของปัญหาความวุ่นวายที่ผ่านมาเป็นเพราะนักการเมืองในอดีต จน คสช.ต้องมาเดินหน้าแก้ปัญหาและสร้างการปฏิรูปให้เกิดขึ้น แต่หากดึงอดีตนักการเมืองมาเสริม ครม.รอบนี้ย่อมทำให้สิ่งที่ทำมาทั้งหมดสูญเปล่า

การใช้โอกาสนี้ปรับ ครม.จึงอาจเป็นประตูให้ดึงเอาคนที่มีภาพลักษณ์ดีเข้ามาช่วยกู้ความเชื่อมั่น หรือเร่งขันนอตสร้างผลงานให้ปรากฏ หลังจากช่วงที่ผ่านมาผลงานรัฐบาลดูจะยังไม่เข้าตาชาวบ้านมากนัก

ที่สำคัญที่สุดคือในแง่ความมั่นคงที่รัฐบาล คสช.จำเป็นต้องขจัดทุกความสุ่มเสี่ยงให้หมดไป

ในแง่ช่องว่างระหว่างกองทัพกับ คสช. จะเห็นว่าการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารรอบล่าสุดมีการขยับในตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง ที่อาจนำไปสู่ช่องว่างจนขาดการยึดโยงได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

การปรับ ครม.ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงช่วงหลังเดือน ต.ค.เป็นต้นไป ย่อมเป็นโอกาสที่จะดึงเอาข้าราชการที่เกษียณอายุเข้ามาร่วมเป็นมือไม้ช่วยทำงานใน ครม. โดยเฉพาะกับบรรดาข้าราชการทหารที่ถึงคราวเกษียณอายุให้เข้ามาอุดช่องว่างระหว่างกองทัพกับ ครม.และ คสช.ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น อันจะมีผลต่อการเลือกตั้งไม่ว่าทางตรงก็ทางอ้อมต่อไป

คล้ายกับรอบที่ผ่านๆ มาแม้หลายคนจะไม่ได้เข้ามานั่งใน ครม. แต่ก็หมุนเวียนสลับสับเปลี่ยนไปอยู่ในตำแหน่งสำคัญหรือเข้ามาช่วยงาน คสช.

แต่ทั้งหมดยังต้องอยู่ที่การตัดสินใจสุดท้ายที่จะต้องชั่งน้ำหนักให้ดีระหว่างการปรับเปลี่ยนตำแหน่ง ซึ่งแม้จะมีข้อดี แต่ก็มีข้อสุ่มเสี่ยงจะนำไปสู่ความปั่นป่วนวุ่นวาย และส่งผลต่อการเลือกตั้งที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และรอบด้าน