posttoday

ยุบพรรคการเมืองเกมเดือดเลือกตั้ง

06 กันยายน 2561

ช่วงเวลา8เดือนต่อจากนี้ พรรคการเมืองต่างเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งไปพร้อมกับการสู้คดีเลือกตั้งเพราะการยุบพรรคการเมืองเกิดขึ้นได้ง่าย จนกระทบเสถียรภาพของพรรคการเมืองทุกพรรค

ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

หากจะบอกว่าเวลานี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการก็คงจะไม่ผิดแต่ประการใด ภายหลังคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลกำลัง เดินหน้าขับเคลื่อนกลไกต่างๆ ให้เกิดเป็นรูปธรรม

ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งให้ความเห็นชอบกับร่างกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นจำนวน 6 ฉบับไปเมื่อไม่นานมานี้ ตามขั้นตอนจะเข้าสู่การพิจารณาของวิปรัฐบาลและวิปสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม สนช.ต่อไป

ในขั้นตอนของการบรรจุเป็นวาระการประชุม สนช.นั้นน่าจะอยู่ช่วงปลายเดือน ก.ย. และคาดว่าจะใช้เวลาในสภาประมาณ 60 วัน ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการของสภาปลายปีพอดี ทีนี้ก็เหลือแต่เพียงรัฐบาลและ คสช. จะไปตัดสินใจให้การเลือกตั้งท้องถิ่นหรือการเลือกตั้ง สส.เกิดขึ้นก่อน

สำหรับการเลือกตั้ง สส.ในขณะนี้ หลายฝ่ายกำลังรอการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. เพื่อนำไปสู่การคลายล็อกการเมือง ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทาง การเมืองได้ของ คสช.

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทันจะ กำหนดวันเลือกตั้ง ปรากฏว่าขณะนี้เกมการเมืองที่ห้ำหั่นระหว่างพรรคการเมืองกลับเริ่มส่งสัญญาณเดือด ทั้งๆ ที่ระฆังยังไม่ดึงขึ้น โดยเฉพาะการหยิบยกการ ยุบพรรคการเมืองมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง

เรื่องนี้มาจากการที่ "สุภรณ์ อัตถาวงศ์" อดีตแกนนำเสื้อแดงที่มีข่าวว่าจะเข้าไปร่วมงานกับพรรค พลังประชารัฐ ได้ยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำจังหวัดนครราชสีมา เพื่อขอให้ยุบพรรคภูมิใจไทย

เหตุของการยุบพรรคดังกล่าว แรมโบ้อีสาน อ้างว่า ได้มีคนของพรรคภูมิใจไทยเริ่มทำการทุจริตเลือกตั้ง ด้วยการพาประชาชนในพื้นที่ไปเที่ยวเพื่อหวังผลทางการเมือง พร้อมกับ มีการเก็บบัตรประชาชนของประชาชนจำนวนหนึ่งด้วย

ทันทีที่สุภรณ์ยื่นยุบพรรค "ศุภชัย ใจสมุทร" รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ก็ออกมาตอบโต้ทันควันว่าพรรคไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องและจะดำเนินคดีกับสุภรณ์เช่นกัน

ต้องยอมรับการยุบพรรคการเมืองในเวลานี้ค่อนข้างอ่อนไหวพอสมควร เนื่องจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับยุบพรรคการเมืองที่ให้ทำได้ง่ายพอสมควร

กฎหมายพรรคการเมืองมี หลักการให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง หากพรรคการเมืองหรือผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 28 หรือ มาตรา 30

มาตรา 28  บัญญัติว่า "ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิก กระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่า โดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม"

มาตรา 30  บัญญัติว่า "ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้ใดให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยทางตรง หรือโดยทางอ้อมเพื่อจูงใจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดสมัครเข้าเป็นสมาชิก ทั้งนี้ เว้นแต่สิทธิหรือประโยชน์ซึ่งบุคคล จะพึงได้รับในฐานะที่เป็นสมาชิก"

ถ้ามองหลักการของกฎหมายพรรคการเมืองเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองแล้ว จะพบว่ากฎหมายแทบจะไม่เปิดโอกาสให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้ดุลพินิจได้เท่าไร หรือพูดง่ายๆ คือ หาก กกต.มีความเห็นมาอย่างไร ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องเห็นด้วยไปตามนั้น โดยบทลงโทษของการถูกยุบพรรคการเมือง คือ การถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี มิหนำซ้ำ ยังอาจถูกดำเนินคดีอาญาที่มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ด้วยเหตุนี้เอง จึงไม่แปลกที่ แกนนำพรรคภูมิใจไทยจะออกอาการ หัวเสียพอสมควร เมื่อมีคนมาร้อง ยุบพรรคของตัวเอง

แต่ถึงกระนั้น อิทธิฤทธิ์ของกฎหมายยุบพรรคการเมืองน่าจะแผ่อิทธิพลไปยังพรรคการเมืองอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "พรรคเพื่อไทย"พรรคเพื่อไทยนับเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของ คสช.และเป็น ตัวเต็งอันดับต้นๆ ที่จะได้รับชัยชนะ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ อีกทั้งช่วงหลัง มานี้ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี เริ่มมีความเคลื่อนไหวทาง การเมืองพอสมควร เช่น การออกมา ให้ความเห็นว่าพรรคเพื่อไทยน่าจะ ชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย

การออกตัวของอดีตนายกฯ ทักษิณ เป็นทั้งข้อดีและข้อเสียให้กับพรรคเพื่อไทยไปพร้อมกัน ด้านหนึ่งทำให้สมาชิกและแกนนำพรรคเห็นว่าทักษิณยังไม่รีไทร์จากการเมือง แต่ อีกมุมหนึ่งก็เป็นช่องให้ กกต.เข้ามาตรวจสอบเช่นกัน เนื่องจากทักษิณ ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคที่มีการกระทำ อันอาจเข้าข่ายตามมาตรา 28 ซึ่งนำ สู่การยุบพรรค

ทั้งนี้ หากพรรคการเมืองใดถูกยุบก่อนการเลือกตั้ง แน่นอนว่าจะมีปัญหาตามมาอีกมาก เช่น การวิ่งหาพรรคสังกัดใหม่ของผู้สมัคร สส.หรือแม้ แต่การทำไพรมารีโหวต เป็นต้น

ดังนั้น ช่วงเวลาประมาณ 8 เดือนต่อจากนี้ พรรคการเมืองต่างเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งไปพร้อมๆ กับการสู้คดีเลือกตั้ง เพราะการ ยุบพรรคการเมืองนั้นเกิดขึ้นได้ง่าย จนกระทบเสถียรภาพของพรรคการเมืองทุกพรรค