posttoday

รื้อไพรมารีโหวต 'วิน-วิน'ทุกฝ่าย

24 สิงหาคม 2561

ที่สุดก็ชัดเจนเสียทีสำหรับการ ทำไพรมารีโหวต หลังนายกฯ ประกาศยินดีใช้ ม.44 เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ในที่สุดก็ชัดเจนเสียทีสำหรับการ ทำไพรมารีโหวต ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยินดีจะใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

"เรื่องไพรมารีโหวตนั้นจะต้องดำเนินการให้ได้ เพราะได้เขียนไว้ในกฎหมาย ในปีแรกจะมีปัญหา แต่จะแก้ไขให้สามารถทำได้ในระดับหนึ่งเพื่อไม่ให้ขัดแย้งกับกฎหมาย
ส่วนจะใช้มาตรา 44 หรือไม่นั้น ยืนยันว่าอะไรมีปัญหาส่วนตัวจะแก้ไขทั้งหมด เพราะเป็นอำนาจตนเองที่ต้องแก้ไขให้สามารถทำงานได้ แม้อาจจะแก้ไขไม่ได้ทั้งหมดก็ตาม แต่ทำให้เกิดการเลือกตั้งตามที่ทุกคนต้องการและเพื่อให้เกิดความสงบสุข" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

เดิมทีในร่างกฎหมายพรรคการเมืองเวอร์ชั่นที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เฉพาะในส่วนของการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้นไม่มีหน้าตาเหมือนกับกฎหมายพรรคการเมืองที่กำลังบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน

กล่าวคือ กรธ.กำหนดขั้นตอนของการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งไว้ที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมก็จริง แต่ไม่ได้สร้างขั้นตอนที่จุกจิกมากนัก

กรธ.กำหนดเป็นหลักการกว้างๆ ว่า พรรคการเมืองที่ประสงค์ส่งผู้สมัคร สส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง หรือบัญชีรายชื่อ ให้รับฟังความคิดเห็นจากสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมือง และในกรณีของ สส.บัญชีรายชื่อยังต้องคำนึงถึงภูมิภาคและความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงด้วย

แต่เมื่อกฎหมายเข้ามายัง สนช. ปรากฏว่ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญด้วยการกำหนดขั้นตอนและรายละเอียดลงไปพอสมควร เสมือนหนึ่งเป็นการเลือกตั้งจริง เช่น การกำหนดวันเวลาในการลงคะแนน องค์ประชุมของสาขาพรรคการเมือง เป็นต้น

การตัดต่อกฎหมายพรรคการเมืองของ สนช.ในเวลานั้นอยู่บนสมมติฐานที่ว่า คสช.ยังไม่ได้มีความคิดจะลงสนามเลือกตั้ง และยังไม่มีกลุ่มการเมืองใหญ่ที่อุดมไปด้วยกระแสและกระสุนออกมาประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ อีกครั้ง

วัตถุประสงค์ของกฎหมายพรรคการเมือง จึงอยู่บนพื้นฐานของการคุมเข้มพรรคการเมืองทุกตารางนิ้ว ไม่แปลกที่พรรคการเมืองจะออกมาแสดงความไม่พอใจกับการกำหนดเงื่อนไขของการทำไพรมารีโหวต

ทว่า มาถึงเวลานี้สถานการณ์กลับตาลปัตร เนื่องจาก คสช.ต้องการเข้ามาสานงานต่อ และมีกลุ่มการเมืองประกาศพร้อมให้การสนับสนุน แต่เมื่อมองไปถึงกติกาตามกฎหมายพรรคการเมืองที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วบวกกับคำสั่งหัวหน้า คสช. 53/2560 ที่แก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง แทบจะไม่ต่างอะไรกับบูเมอแรง เพราะเป็นกติกาที่ปัญหาให้กับทุกพรรคการเมือง ไม่เว้นแม้แต่พรรคที่ประกาศเชียร์บิ๊กตู่

ด้วยเหตุนี้ การแก้ไขไพรมารีโหวตจึงมาเป็นวาระเร่งด่วนของ คสช. ที่ต้องใช้มาตรา 44 แบบไม่ต้องเสนอร่างกฎหมายแก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองเข้า สนช.ให้เสียเวลา ซึ่งการเกมการเมืองของ คสช.ในครั้งนี้เรียกได้ว่าทำให้ทุกฝ่าย "วิน-วิน" กันเลยทีเดียว

1.พรรคการเมืองหลุดกับดัก ต้องยอมรับว่ากฎหมายพรรคการเมืองในปัจจุบันสร้างปัญหาให้กับพรรคการเมืองไม่น้อย เนื่องจากเวลานี้ คสช.ยังไม่ยอมให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะส่งผลเป็นลูกโซ่ตามมาอีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดนโยบายพรรคการเมือง การหาสมาชิกพรรคเพิ่มเติมสำหรับการทำไพรมารีโหวต

เมื่อ คสช.ยอมคลายล็อกพร้อมกับแก้ไขไพรมารีโหวต แม้ว่าจะยังไม่รู้ว่าหน้าตาของการทำไพรมารีโหวตเวอร์ชั่น คสช.จะเป็นอย่างไร แต่แน่นอนว่าย่อมเป็นคุณแก่ทุกพรรคการเมือง รวมไปถึงพรรคที่สนับสนุน คสช.ด้วย

2.ลดกระแสกล่าวหายื้อเลือกตั้ง ที่ผ่านมาการที่ คสช.ไม่ยอมปลดหรือคลายล็อกให้กับพรรคการเมือง ทำให้คสช.ถูกมองว่าต้องการคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชนหรือไม่ ยิ่งนานวันเข้า กระแสที่เคยเป็นเสียงสนับสนุนเปลี่ยนเป็นอื่น แทนที่ คสช.และรัฐบาลจะมีเวลาและสมาธิในการสร้างผลงาน กลับต้องมาคอยตอบคำถามถึงความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

ดังนั้น ทันทีที่ คสช.ยอมแก้ปัญหาไพรมารีโหวตและยอมให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้บางส่วน ย่อมส่งผลดีต่อ คสช.เอง เพราะจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องคอยตอบคำถามเรื่องโรดแมปมากเหมือนกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

3.พรรคการเมืองลดราวาศอกกับ คสช. อาจเป็นประโยชน์ที่ คสช.เห็นว่าน่าจะได้รับอยู่แล้ว ภายหลัง คสช.ยอมแก้ไขไพรมารีโหวตและคลายล็อกการเมือง

แน่นอนว่า ถ้าพรรคการเมืองได้รับโอกาสในการกลับมาทำกิจกรรมทางการเมืองเมื่อไหร่ แม้จะยังขยับตัวไม่ได้ 100% แต่ย่อมทำให้พรรคการเมืองกลับมาทุ่มเทกับการบริหารจัดการตนเองเพื่อให้พร้อมสำหรับการเลือกตั้ง ซึ่งนั่นหมายถึงการลดราวาศอกในการทะเลาะกับ คสช.ไปอีกนาน

ที่สุดแล้ว หมากเกมนี้ของ คสช. จึงมีแต่ได้กับได้กับทุกฝ่าย ถึงจะได้ไม่เท่ากันก็ตาม