posttoday

หม่อมเต่า-สุเทพ ผนึกกำลัง "รปช." เปิดศึก "เพื่อไทย"

07 สิงหาคม 2561

เส้นทางของพรรคพลังประชาชาติไทยเพิ่งจะเริ่มต้นภายใต้การนำของ “สุเทพ-หม่อมเต่า” แต่กว่าจะถึงเลือกตั้ง ยังมีขวากหนามและอุปสรรคอีกไม่น้อย

เส้นทางของพรรคพลังประชาชาติไทยเพิ่งจะเริ่มต้นภายใต้การนำของ “สุเทพ-หม่อมเต่า” แต่กว่าจะถึงเลือกตั้ง ยังมีขวากหนามและอุปสรรคอีกไม่น้อย

****************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การประชุมผู้ร่วมจัดตั้ง “พรรครวมพลังประชาชาติไทย” (รปช.) เมื่อวันที่ 5 ส.ค. นับเป็นย่างก้าวที่สำคัญของพรรคการเมืองน้องใหม่พรรคนี้อยู่ไม่น้อย เนื่องจากเป็นการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชั่วคราวจำนวน 7 คน

1.ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นหัวหน้าพรรค

2.ทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง อดีตอัยการ เป็นเลขาธิการพรรค

3.จุฑาทัตต เหล่าธรรมทัศน์ เป็นเหรัญญิกพรรค

4.ร.ต.อ.จอมเดช ตรีเมฆ อาจารย์ประจำสถาบันอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต นายทะเบียนพรรค

5.พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตรองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานข่าวกรองแห่งชาติ เป็นกรรมการบริหารพรรค

6.วีระชัย คล้ายทอง อดีตอัยการ เป็นกรรมการบริหารพรรค

7.สุเนตตา แซ่โก๊ะ เป็นกรรมการบริหารพรรค

นอกเหนือไปจากการได้รายชื่อกรรมการบริหารพรรคทั้ง 7 คนแล้ว ปรากฏว่าการประชุมครั้งที่ผ่านมานั้นเป็นครั้งแรกที่ “สุเทพ เทือกสุบรรณ”ประกาศพร้อมนำพรรคเข้าสู่สนามการเลือกตั้งอย่างเต็มตัว

“การเลือกตั้งใกล้เข้ามาแล้ว มีหลายเรื่องที่เราต้องทำ เช่น การตั้งสาขาพรรค การเตรียมตัวผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้งรวมไปถึงการทำไพรมารีโหวต

ผมยังยืนยันว่าภูมิใจที่จะยืนเคียงข้างพรรคการเมืองนี้และจะทำงานอย่างทุ่มเทกับทุกคน และจะไม่รับตำแหน่งใดๆ ในพรรคการเมืองนี้ แต่ผมจะขึ้นเวทีปราศรัยช่วยพรรคทั่วประเทศ”การประกาศกลางที่ประชุมของสุเทพ

เรียกได้ว่าเปิดหน้าท้ารบกับทุกพรรคการเมือง 100% พร้อมกับตั้งความหวังว่าจะได้เข้าร่วมเป็นรัฐบาลผสม โดยอาศัยระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมตามรัฐธรรมนูญที่ไม่เปิดโอกาสให้มีรัฐบาลเสียงข้างมากแบบเด็ดขาด เป็นช่องทางในการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคณะรัฐมนตรีในอนาคตหลังการเลือกตั้ง

แต่กระนั้นประเด็นสำคัญของพรรครวมพลังประชาชาติไทย ไม่ได้อยู่ที่การประกาศของสุเทพเท่านั้น เพราะเมื่อสอดส่ายสายตาไปยังรายชื่อกรรมการบริหารพรรคแล้ว จะพบว่าการเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคของ “หม่อมเต่า” ม.ร.ว.จัตุมงคล สร้างความประหลาดใจในทางการเมืองอยู่ไม่น้อย

เดิมทีหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าตำแหน่งหัวหน้าพรรคน่าจะเป็นของ “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” แบบแบเบอร์ เพราะอาจารย์เอนกเป็นหนึ่งในผู้ก่อการที่ร่วมคิดกับสุเทพในการตั้งพรรคการเมืองนี้โดยเอนกถูกวางตัวให้ทำงานในเชิงวิชาการและนโยบายพรรค อันเป็นเหมือนกับโมเดลเมื่อครั้งก่อตั้ง “พรรคมหาชน” ที่มี เสธ.หนั่น-พล.ต.สนั่น
ขจรประศาสน์ เป็นผู้จัดการพรรค ส่วนอาจารย์เอนกเป็นหัวหน้าที่สวมบทเป็นพระเอก

ทว่าคดีกลับพลิกผันเมื่อชื่อหัวหน้าพรรคกลับเป็นชื่อหม่อมเต่า

ต้องยอมรับว่าชื่อชั้นของ“หม่อมเต่า” เมื่อเทียบกับ “เอนก” แล้ว หม่อมเต่าค่อนข้างจะมีลำดับไหล่ที่สูงกว่าพอสมควร เพราะผ่านตำแหน่งและเหตุการณ์สำคัญมากมาย

ย้อนกลับไปเมื่อเหตุการณ์วิกฤตค่าเงินบาทปี 2540 เวลานั้น ม.ร.ว.จัตุมงคล เป็นปลัดกระทรวงการคลัง แสดงความไม่พอใจต่อการถูกรัฐบาลขณะนั้นย้ายให้มาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีด้วยการลาออก

หม่อมเต่าถือเป็นคนหนึ่งในระบบราชการที่ผ่านสังเวียนการต่อกรกับนายกรัฐมนตรีมาแล้ว โดยเฉพาะสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่มี “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2544

โดยหม่อมเต่าที่เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยตอนนั้น ต้องการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยในระดับที่ต่ำ เพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงิน ภายหลังประเทศเพิ่งผ่านเหตุการณ์วิกฤตต้มยำกุ้งแต่รัฐบาลทักษิณไม่เห็นด้วย คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติปลดออกจากตำแหน่ง

เพียงแค่นี้ก็เป็นเครื่องหมายการันตีแล้วว่าหม่อมเต่ามีความกล้าและความสามารถพอที่จะเป็นผู้นำได้ในสายตาของสุเทพ เพราะการเลือกตั้งครั้งหน้านโยบายที่จะชี้ขาดว่าใครแพ้หรือชนะอยู่ที่ “นโยบายด้านเศรษฐกิจ” ไม่ใช่นโยบายการเมืองที่เน้นการสร้างความปรองดอง

ผลการสำรวจความคิดเห็นแต่ละสำนักออกมาต่างระบุตรงกันว่า ต้องการให้แก้ไขเรื่องปัญหาปากท้องของประชาชน เท่ากับว่าหากพรรคการเมืองใดสามารถนำเสนอนโยบายนี้ได้โดนใจผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง โอกาสจะได้ สส.เข้าสภาก็มีมากกว่า 50%

จากโจทย์ของประเทศข้อนี้ อาจทำให้สุเทพเล็งเห็นว่าหม่อมเต่าน่าจะมีความเหมาะสมมากที่สุด เพราะเชี่ยวชาญทั้งด้านการเงินและการคลัง ซึ่งในด้านความรู้ความสามารถของหม่อมเต่านั้น แม้แต่อาจารย์เอนก ยังยอมรับว่ากลางที่ประชุมพรรคเมื่อวันที่ 5 ส.ค. ม.ร.ว.จัตุมงคล เป็นคนไทยที่เก่งคนหนึ่ง ก่อนที่อาจารย์เอนกจะขอถอนตัวจากการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

เหนืออื่นใดการขึ้นมาเป็นหัวหน้าของ ม.ร.ว.จัตุมงคล น่าจะเป็นแม่เหล็กชั้นดีที่จะช่วยให้กลุ่มทุนหันมาสนับสนุนพรรครวมพลังประชาชาติไทยมากขึ้น โดยที่สุเทพไม่ต้องออกแรงมากนัก

เส้นทางของพรรคพลังประชาชาติไทยเพิ่งจะเริ่มต้นภายใต้การนำของ “สุเทพ-หม่อมเต่า” แต่กว่าจะไปถึงการเลือกตั้ง ขวากหนามและอุปสรรคน่าจะมีอยู่อีกไม่น้อย และพรรคเพื่อไทยน่าจะเป็นศัตรูเป็นหมายเลขหนึ่งของพรรค เนื่องจากต่างฝ่ายต่างรู้ไส้รู้พุงกันเป็นอย่างดี