posttoday

พท.-ปชป.เปิดศึกกันเอง เข้าทาง "พลังประชารัฐ"

06 สิงหาคม 2561

การเปิดศึกถล่มกันยกใหม่ของเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ส่งผลดีกับ คสช.ที่กำลังเดินหน้าหาหนทางเข้าสู่อำนาจหลังเลือกตั้ง

การเปิดศึกถล่มกันยกใหม่ของเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ส่งผลดีกับ คสช.ที่กำลังเดินหน้าหาหนทางเข้าสู่อำนาจหลังเลือกตั้ง

*********************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การออกมาจุดไฟเผาอดีตบ้านตัวเองของ นคร มาฉิม อดีตผู้แทนเมืองพิษณุโลก ซึ่งตัดสินใจย้ายจากประชาธิปัตย์ไปอยู่พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา และล่าสุดมีข่าวว่าเข้าร่วมกับพรรคเพื่อไทยมาระยะหนึ่งแล้ว กำลังเป็นเชื้อไฟให้สองพรรคใหญ่กลับมาเปิดศึกกันอีกคำรบ

ชนวนใหญ่เริ่มจากเนื้อหาที่นครออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก ขอโทษ ทักษิณ ชินวัตร และ​ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากที่เคยมีส่วนร่วมให้มีการล้มรัฐบาลของพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย ​พร้อมเล่าถึงวิธีและผนึกกำลัง นักการเมือง กองทัพ ข้าราชการ และอื่นๆ

“เหตุใดพวกเราพ่ายแพ้ต่อท่าน อย่างยับเยินทั้งที่พวกเรา และแนวร่วมฝ่ายอนุรักษนิยมมีความพร้อมทั้งทุน เครือข่าย นายทุน กลุ่มขุนศึก กลุ่มศักดินาอำมาตย์ และเครือข่ายข้าราชการ ได้ใช้สรรพกำลังทุกองคาพยพอย่างเต็มที่แล้ว ใช้การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ใช้วาทกรรมทำลายทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะรวยแล้วโกง โกงทั้งโคตร ทุจริตเชิงนโยบาย ฯลฯ แต่ยังไม่สามารถหยุดยั้งความนิยมในตัวท่านและพรรคของท่านได้

ขณะนั้นพวกเราตื่นตระหนกกันมาก จึงร่วมกับทุกฝ่ายระดมสรรพกำลัง ทั้งฝ่ายการเมือง ทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายข้าราชการประจำและที่สำคัญที่สุดและแนบเนียนที่สุดคือ ฝ่ายตุลาการระดับสูงบางคนที่เชื่อมั่นและศรัทธาฝ่ายเผด็จการอนุรักษนิยมในนามตุลาการภิวัฒน์ ร่วมกันขย้ำท่าน และพรรคของท่านให้ตายคามือ ยึดอำนาจด้วยปืน ยุบพรรคท่านทิ้งด้วยกฎหมาย ตัดสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหาร”

เบื้องต้นประชาธิปัตย์เตรียมฟ้องนครตามความผิดมาตรา 326 และ 328 หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาและเตรียมเอาผิดเพิ่มตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ประเด็นนำข้อมูลเท็จโดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหาย หรือความตื่นตระหนกแก่ประชาชนนั้นเข้าข่ายผิด

ปลุกให้บรรยากาศการเมืองกลับมาดุเดือด ดังจะเห็นจากท่าทีของสมาชิกสองพรรคใหญ่ออกมาเปิดสงครามน้ำลายถล่มกันอีกรอบ จนทำท่าว่าจะบานปลายต่อไป

แม้จะไม่ใช่เรื่องแปลกกับความระหองระแหงของสองพรรคใหญ่ที่ผ่านมาที่กระทบกระทั่งกันมายาวนานและรุนแรงกว่านี้เมื่อในอดีต

แต่ต้องยอมรับว่าหลังรัฐประหารเรื่อยมา ทั้งประชาธิปัตย์​และเพื่อไทย ซึ่งเสมือนต้องร่วมหัวจมท้ายตกอยู่ในชะตากรรมที่ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้กำหนดด้วยแล้ว ดูต่างฝ่ายต่างจะลดลาราวศอกไปเยอะ

ความขัดแย้งที่เคยปะทุในอดีตจึงถูกพักยกไว้ชั่วคราว แถมยังมีหลายๆ ครั้งที่สองพรรคใหญ่ ออกมาประสานเสียงแสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างไม่เคยเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญ ตลอดจนกฎ กติกา เลือกตั้ง รวมไปถึงการเรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็ว

ดังนั้น การเปิดศึกถล่มกันยกใหม่ของเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ จึงมีแต่จะส่งผลดีกับทาง คสช.ที่กำลังเดินหน้าเตรียมหาหนทางเข้าสู่อำนาจรอบต่อไปหลังการเลือกตั้ง

ประการแรก เมื่อสองพรรคใหญ่เปิดศึกกันย่อมเข้าทางยุทธศาสตร์ของทาง คสช.อันจะเป็นการเบี่ยงเป้าไม่ให้ทั้งคู่สามารถประสานกำลังถล่ม คสช.ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งอย่างที่หลายฝ่ายเคยเป็นห่วง

ดังจะเห็นจากที่ผ่านมาหลายครั้งพรรคการเมืองต่างออกมารุมถล่ม คสช.ในประเด็นต่างๆ จนสะบักสะบอมสะเทือนไปถึงคะแนนนิยมที่สู้อุตส่าห์ทำมาอย่างต่อเนื่อง

ยิ่งเวลานี้สถานการณ์ดูดอันรุนแรงของกลุ่มสามมิตรที่เข้าไปล้วงหาผู้สมัครจากบรรดาอดีต สส.พรรคต่างๆ จนทำให้หลายพรรคออกมาประสานถล่มอย่างรุนแรงดังที่ปรากฏ แต่เมื่อสองพรรคใหญ่เปิดฉากไปเล่นงานกันเองกระแสที่เคยจับจ้องเล่นงานยัง คสช. จึงมีแต่จะลดลงไป

ประการที่สอง เมื่อรอยร้าวระหว่างสองพรรคใหญ่ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ โอกาสที่จะจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลเพื่อสู่กับพรรคของ คสช. ย่อมเป็นไปได้ยากขึ้นตามไปด้วย

หากจำได้ก่อนหน้านี้แม้ทั้งสองพรรคใหญ่จะเคยประกาศไม่สนับสนุนรัฐประหาร และมีจุดยืนไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี อีกสมัย แต่ขณะเดียวกันการจะให้สองพรรคใหญ่มาจับมือร่วมตั้งรัฐบาลเองก็เป็นสูตรที่เป็นไปได้ยาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะหลายคนยังพูดถึงสูตรนี้

แต่หากสถานการณ์ที่ทั้งสองฝ่ายยังทะเลาะกันเช่นนี้ต่อไป ย่อมทำให้สูตรจัดตั้งรัฐบาลนี้ต้องปิดประตูตาย

​ประการที่สาม การที่บรรยากาศการเมืองกลับมาเต็มไปด้วยสงครามน้ำลายทะเลาะกันไปมาเหมือนในอดีตย่อมทำให้ประชาชนที่เคยอิดหนาระอาใจกับการเมืองแบบเดิมๆ ย่อมต้องรู้สึกหมดหวังกับอนาคตที่เคยคิดว่าจะฝากความหวังกับนักการเมือง และอาจถึงขั้นบีบให้ไปสนับสนุนพรรคที่มาจาก คสช.ก็เป็นได้

ยิ่งที่ผ่านมาหลังรัฐประหาร นักการเมืองถูกตีตราให้เป็นจำเลยของความวุ่นวายที่เกิดขึ้นจนไม่อาจก้าวพ้นวังวนปัญหา ดังนั้น หากยังเห็นสภาพการเมืองเช่นนี้ย่อมเข้าทาง คสช. ซึ่งมียุทธศาสตร์ต้องการสะกดให้พรรคการเมืองต่างๆ มีขนาดเล็ก เพื่อจะได้ไร้พลังในการรวมตัวจัดตั้งรัฐบาลต่อไป

ทั้งหมดล้วนแต่ทำให้โอกาสของ คสช.กับการปูทางรอหวนคืนสู่อำนาจหลังเลือกตั้งชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ