posttoday

ปล่อยผี"อบจ." แลกหนุนพรรค คสช.

12 มิถุนายน 2561

การคืนตำแหน่งให้ 4 นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด กำลังถูกจับตาเป็นพิเศษถึงเบื้องหน้าเบื้องหลัง

การคืนตำแหน่งให้ 4 นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด กำลังถูกจับตาเป็นพิเศษถึงเบื้องหน้าเบื้องหลัง

********************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การปล่อยผีคืนตำแหน่งให้ 4 นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ​ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 6/2561 เรื่องการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2558 ว่าด้วยเรื่องการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่อื่น คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 43/2559 เรื่องประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างถูกตรวจสอบ กำลังถูกจับตาเป็นพิเศษถึงเบื้องหน้าเบื้องหลัง

ยิ่งหากพิจารณารายชื่อของทั้ง 4 คน​ ได้แก่ ​1.สถิรพร นาคสุข นายก อบจ.ยโสธร 2.มลัยรัก ทองผา นายก อบจ.มุกดาหาร 3.บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายก อบจ.เชียงใหม่ 4.​ชัยมงคล ไชยรบ นายก อบจ.สกลนคร ยิ่งจะพบถึงความเชื่อมโยงและเป้าหมายที่คาดว่าจะนำไปสู่การเร่งทำพื้นที่โกยคะแนนให้กับพรรค คสช.ในช่วงที่ปี่กลองการเมืองกำลังเริ่มต้นโหมโรง

สอดรับไปกับกระแสดูดก่อนหน้านี้ที่มีความพยายามดึงตัวอดีต สส.จากพรรคต่างๆ ไปเสริมทีมพรรค คสช. จนพรรคการเมืองต้องรีบออกมาดักคอสกัดพฤติกรรม “ตกปลาในบ่อเพื่อน” ที่นอกจากจะทำให้การเมืองย้อนกลับสู่วังวนเหมือนเช่นในอดีตแล้ว อีกด้านหนึ่งยังสวนทางกับแนวทางปฏิรูปที่รัฐบาล คสช.กำลังเดินหน้า

ทว่าปัญหาอยู่ที่หลายพรรคการเมืองเวลานั้นเริ่มไล่เช็กยอดหาทางสกัดปัญหาถูกดูดจนทำให้ปฏิบัติการดูดเงียบหายไป ท่ามกลางความเป็นห่วงในสถานการณ์ที่อาจทำให้เป้าหมายสู่การผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยต้องสะดุดหยุดลงไป

ยังไม่รวมกับการเปิดตัวของพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่อาจจะทำให้คะแนนเสียงของพรรคพลังประชารัฐแว่วว่าจะลดน้อยถอยลงไปอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

แผนสำรองจึงต้องเบี่ยงเป้ามายังสนามการเมืองท้องถิ่น ​อันจะเป็นฐานที่มั่นในพื้นที่สำหรับทำการเมืองของพรรค คสช.ในอนาคต และสามารถต่อกรกับพรรคใหญ่ที่มีระบบหัวคะแนนในพื้นที่เหนียวแน่น

หากไล่ดูจากทั้ง 4 คน เป้าใหญ่ที่สังคมจับตาคือ บุญเลิศ ซึ่งถูกพักงานตั้งแต่ ก.ค. 2559 เพราะคาดว่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญช่วงการทำประชามติ ผ่านมาเกือบ 2 ปี ถึงได้กลับมาทำหน้าที่ โดยเจ้าตัวยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่มีประเด็นทางการเมืองมาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด การกลับมาครั้งนี้มาแบบไม่มีเงื่อนไขอย่างแท้จริง โดยตนเองยังไม่เคยไปพบกับนายกรัฐมนตรีแม้แต่ครั้งเดียว

ทว่า หลังทิศทางลมเปลี่ยน แว่วว่า​ตระกูล “บูรณุปกรณ์” เริ่มจะไม่แนบแน่นกับทางฝั่ง “ชินวัตร” เหมือนที่เคยเป็นมา ท่ามกลางข่าวคราวการทาบทามคนในตระกูลบูรณุปกรณ์ไปลงสมัครในนามพรรค คสช.เป็นที่เรียบร้อย รอแค่การเปิดตัวอย่างเป็นทางการ

เช่นเดียวกับ “มุกดาหาร” ที่มีข่าวว่า วีระพงษ์ ทองผา พี่ชายสามี ของ มลัยรัก ทองผา ได้รั้งตำแหน่งผู้สมัคร มุกดาหาร ในนามพรรค คสช.เป็นที่เรียบร้อย รวมทั้ง “ยโสธร” ที่ว่ากันจะได้แรงสนับสนุนสำคัญจาก สถิรพร ผ่านการประสานจาก สุชาติ ตันเจริญ แห่งบ้านริมน้ำ

แม้ทาง ​พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ​ออกมาชี้แจงว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ได้มีนัยทางการเมือง เรื่องนี้สืบเนื่องจากการตรวจสอบของกระทรวงยุติธรรม และส่งผลตรวจสอบมาให้ ศอตช.และ คสช.จึงมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จากนั้นได้สืบสวนสอบสวนเพิ่มเติมให้ดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นมีทั้งผู้ที่ให้ถูกออกและให้พ้นจากหน้าที่ ส่วนใครที่ไม่พ้นจากตำแหน่งก็ให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่คืน

“ดูจากข้อเท็จจริงและเนื้อผ้าเป็นหลัก ผิดก็คือผิด โดยมี ป.ป.ช.-สตง. เป็นต้นเรื่องในการตรวจสอบ และกระทรวงมหาดไทยมาสืบสวนสอบสวนอีกครั้ง ซึ่งเราสืบสวนสอบสวนไปตามหน้าที่ ใครผิดก็ดำเนินการตามกฎหมาย ใครไม่ผิดก็ให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่เช่นเดิม แต่ก็ยังมีอีกจำนวนมากและในจำนวนนี้ก็มีหลายคนที่มีความผิด” พล.อ.อนุพงษ์ ระบุ

ที่สำคัญคือการพิจารณาคืนตำแหน่งในล็อต 2 ต่อจากนี้ ซึ่งทาง พล.อ.อนุพงษ์ ระบุว่า ไม่ทราบว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร บอกเพียงแค่เป็นไปตามกระบวนการนั้น ถูกมองว่าเหมือนเป็นแรงบีบให้ นายก อบจ.ที่ถูกพักงาน ต้องยอมหันมาสนับสนุนพรรค คสช.ในอนาคตเพื่อแลกกับการคืนตำแหน่งให้กลับมาทำหน้าที่ต่อไป

หากพิจารณาจากคำชี้แจง ​วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า ตัวเลขเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกพักงานทั้งหมดมีประมาณ 300 คน โดยคืนตำแหน่งไปแล้วหลายสิบคน ย่อมเหลืออีกกว่า 200 ตำแหน่งที่ยังถูกพักงานอยู่ในหลายพื้นที่ กำลังส่วนนี้ยิ่งต้องถูกจับตาเป็นพิเศษ

ที่สำคัญเวลานี้เริ่มมีสัญญาณเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะสูตรที่จะเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งหมด หรือเลือกบางพื้นที่ที่คาดว่าจะไม่มีปัญหา ก่อนเลือกตั้งใหญ่ จะเป็นแรงบีบ และดัชนีชี้วัดถึงทิศทางทางการเมืองและผลการเลือกตั้งในสนามใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง

ยิ่งอำนาจชี้ขาดทั้งหมดอยู่ในมือ คสช.ที่จะเป็นผู้ชี้ขาด ทั้งเรื่องกรอบเวลาเลือกตั้ง รวมทั้งพื้นที่เลือกตั้ง นั่นย่อมเป็นข้อได้เปรียบของ คสช. ที่จะไปชักจูงหรือต่อรองกับท้องถิ่นให้เข้ามาสนับสนุนพรรค คสช.ได้ง่ายขึ้น​