posttoday

อัดงบประมาณปี’62 กระสุนดินดำสู้เลือกตั้ง

11 มิถุนายน 2561

การทำงบประมาณปี62 ของ คสช.ครั้งนี้เป็นมากกว่าการเสนอกฎหมายงบประมาณต่อสภาในทุกครั้ง เพราะครั้งนี้มีการเลือกตั้งเป็นเดิมพัน 

การทำงบประมาณปี62 ของ คสช.ครั้งนี้เป็นมากกว่าการเสนอกฎหมายงบประมาณต่อสภาในทุกครั้ง เพราะครั้งนี้มีการเลือกตั้งเป็นเดิมพัน 

*****************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันทีสำหรับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ภายหลังปรากฏภาพสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อยู่ในอาการหลับ 2 คน เล่นเอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โมโหไม่น้อย

“ฉะนั้นใครที่หลับ คราวหน้าก็เป็นอะไรไม่ได้อีกต่อไปอยู่แล้ว ผมดูไว้หมด หลับก็ไม่ต้องเป็นอะไร ไปนอนที่บ้าน แต่วันนี้อยู่ให้มันจบไปก่อน เพราะงานอย่างอื่นเขาก็ทำ อย่ามาจับผิดจับถูกเรื่องแบบนี้ จนเรื่องใหญ่สาระไม่มี ภาพไม่สวยก็อย่าไปออก ก็เห็นจ้องถ่ายกันอยู่ตรงนั้นนั่นแหละ สื่อก็รู้อยู่ อย่ามาซักให้ฉันโมโห ไม่เอา” อารมณ์ฉุนของนายกฯ

มองอีกด้านหนึ่งก็ไม่แปลกที่นายกฯ จะแสดงความไม่พอใจออกมา เนื่องจากการพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณประจำปี เป็นเรื่องสำคัญ โดยความสำคัญนั้นถึงขนาดที่นายกฯ ต้องนำคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งคณะมาแถลงชี้แจงต่อสภา ยิ่งในสมัยรัฐบาลพลเรือนถึงขั้นมีการคาดโทษกันเลยสำหรับ สส.คนไหนที่ไม่มาประชุมสภาในวันพิจารณากฎหมายงบประมาณ

พล.อ.ประยุทธ์ ก็เช่นเดียวกัน แม้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับ สนช.จะไม่ใช่ระบบพรรคการเมือง แต่เมื่อ สนช.มีรอยตำหนิอะไรออกมา ย่อมส่งผลมาถึงนายกฯ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเหตุมาเกิดในระหว่างการเสนอกฎหมายงบประมาณประจำปีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จึงมองว่าไม่ควรปล่อยให้ผ่านไป เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา

อย่างไรก็ตาม พักจากเรื่องสมาชิก สนช.หลับกลางสภา มาโฟกัสกันที่นัยทางการเมืองที่สะท้อนผ่านร่างกฎหมายงบประมาณประจำปี 2562

ในแง่ของเวลานั้น จะเห็นได้ว่า แม้จะเป็นการเสนอตามกรอบปฏิทินงบประมาณปกติ แต่ต้องไม่ลืมว่าเมื่อกฎหมายงบประมาณฉบับนี้ประกาศใช้ในเดือน ต.ค.นี้ จะมีผลบังคับใช้ข้ามปีไปถึงครึ่งปีหลัง 2562 ประจวบเหมาะกับจังหวะของการหาเสียงเลือกตั้งพอดี

ด้วยเหตุนี้ การจัดทำงบประมาณครั้งล่าสุด จึงถูกเชื่อมโยงว่าเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะ คสช.เองก็เป็นหนึ่งในแคนดิเดตชิงตำแหน่งนายกฯ ในอนาคต

นอกเหนือไปจากนัยทางเวลาแล้ว ในแง่ของเนื้อหาจะพบว่ามีประเด็นให้ครุ่นคิดเช่นกัน

กล่าวคือ คสช.และรัฐบาลได้ทำการจัดสรรเงินเพื่อการตั้ง “กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” จำนวน 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้กำหนดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับในการใช้จ่ายงบประมาณเอาไว้อย่างน่าสนใจ

“กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เป็นเครื่องมือช่วยสร้างความมั่นคง เพิ่มศักยภาพ และพัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคมอย่างครบวงจร สำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร อันจะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น ตั้งแต่ระดับฐานราก และทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืน

ตลอดจนเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการโครงการเพื่อสังคมและช่วยเหลือคนในชุมชนท้องถิ่นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน รวมถึงทำให้จำนวนผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาท/ปี ลดลงปีละ 6 แสนคน”

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า มุ่งเป้าไปที่ประชาชนจำนวนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นหลักโดยตรง หวังซื้อใจประชาชนฐานรากซึ่งเป็นฐานเสียงใหญ่ของประเทศ เพราะการเจาะแต่ฐานเสียงของคนในเมืองนั้นไม่ได้เป็นกุญแจไปสู่ชัยชนะของการเลือกตั้งแต่อย่างใด

ดังนั้น การเดินเกมนี้ของ คสช.แทบไม่ต่างอะไรกับช่วงปลายของรัฐบาลนักการเมืองที่มักจะอัดงบประมาณลงไปเพื่อหวังเป็นการหาเสียงล่วงหน้า ชิงความได้เปรียบเหนือฝ่ายตรงข้าม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โครงการประชารัฐ” เป็นโครงการที่รัฐบาลพยายามขายมาตลอดเพื่อสร้างการรับรู้ของประชาชนแข่งกับประชานิยมของพรรคเพื่อไทย จึงหวังใช้โครงการประชารัฐเป็นธงนำในการสู้ศึกเลือกตั้ง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เวลานี้ คสช.เป็นฝ่ายที่กุมความได้เปรียบเหนือทุกพรรคการเมือง

ไล่มาตั้งแต่กติกาของการเลือกตั้งที่มาจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) การกุมอำนาจการตั้งบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่ง สว.ชุดแรก เพื่อเป็นฐานเสียงในสภา ไปจนถึงการยังถือกุญแจไม่ยอมปลดล็อกให้กับพรรคการเมืองเพื่อให้สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองภายใต้กฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่ได้

ขณะที่พรรคการเมืองปัจจุบันได้แต่นั่งเฉยๆ และให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนแบบรายวัน โดยไม่สามารถประชุมเพื่อนำเสนอนโยบายใหม่ๆ ให้กับประชาชนได้ ประชาชนเลยได้รับแต่นโยบายของ คสช.เพียงฝ่ายเดียว

ไม่เพียงเท่านี้ ท่าทีของนายกฯ ต่อการเสนองบประมาณกลางสภาคราวนี้เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ก็ดูจะเน้นไปที่การเลือกตั้งเป็นพิเศษ

“วันหน้าต้องเป็นแบบนี้ นายกรัฐมนตรีต้องเป็นแบบนี้ ต้องซื่อสัตย์ มีคุณธรรม ต้องดูให้ทั่วถึง ทุกโครงการ ต้องทำให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ทั้งการแก้ไขปัญหาในอดีต ปัจจุบัน และลงทุนเพื่ออนาคต” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกลางสภา

ดังนั้น การทำงบประมาณประจำปี 2562 ของ คสช.ครั้งนี้ จึงเป็นมากกว่าการเสนอกฎหมายงบประมาณต่อสภาในทุกครั้ง เพราะครั้งนี้มีการเลือกตั้งเป็นเดิมพัน ทำให้ คสช.ต้องทุ่มสุดตัวอย่างที่ปรากฏให้เห็นในขณะนี้