posttoday

รัฐบาลแห่งชาติ กลเกมยื้อเลือกตั้ง

30 พฤษภาคม 2561

การจุดกระแสปลุกประเด็น “รัฐบาลแห่งชาติ” ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นความพยายามที่มีการออกมาโยนหินวัดกระแสตอบรับจากสังคมอยู่เป็นระยะ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การจุดกระแสปลุกประเด็น “รัฐบาลแห่งชาติ” ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นความพยายามที่มีการออกมาโยนหินวัดกระแสตอบรับจากสังคมอยู่เป็นระยะ ในขณะที่เริ่มมีหลายฝ่ายออกมาขานรับกับทางเลือกนี้

เจ้าพ่อวังน้ำเย็น ​เสนาะ เทียนทอง แกนนำพรรคเพื่อไทย เจ้าของฉายาผู้จัดการรัฐบาลที่เคยจุดประเด็นนี้เป็นคนแรกๆ มองว่าหากประเทศไม่มีทางออกใดที่จะทำให้บ้านเมืองเกิดความราบรื่น ถ้าเป็นไปได้ก็ให้มีรัฐบาลแห่งชาติเสีย ขอให้เอาบ้านเอาเมืองไว้ก่อน ไม่ใช่ทำเพื่อพวกฉันหรือเพื่อพวกพ้องแล้วบ้านเมืองเสียหาย

แม้ที่ผ่านมามุมมองข้อเสนอ “รัฐบาลแห่งชาติ” ที่คาดกันนั้นจะเป็นรัฐบาลแห่งชาติที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง โดยอาศัยสถานการณ์และกลไกตามรัฐธรรมนูญใหม่ที่หลายฝ่ายมองว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะสามารถรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด 

อลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)​ ​มองว่าการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ มีการพูดกันมาหลายยุคหลายสมัยแต่สิ่งที่จะชี้ขาดว่าจะมีรัฐบาลรูปแบบใดนั้นจะต้องดูผลการเลือกตั้งในอนาคต

“ส่วนที่รัฐธรรมนูญกำหนดช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี อาจเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดรัฐบาลแห่งชาติไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ก็ตามแต่จากสภาวะการเมืองปัจจุบันก็มีโอกาสเกิดรัฐบาลแห่งชาติมากที่สุด แต่จะต้องขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งที่จะเป็นตัวกำหนดรูปแบบรัฐบาลด้วย”

แม้แต่โหร คมช.-วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ ที่ออกมาวิเคราะห์ว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งในรูปแบบดีขึ้น โดย พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์คงได้คะแนนเสียงระดับหนึ่ง แต่คงไม่ได้หวนกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแน่นอน 

“ยังเป็นหน้าที่ของคนในรัฐบาลปัจจุบันแต่ก็อาจเป็นไปได้ที่จะมารวมกันเดินหน้าขับเคลื่อนเพื่อชาติบ้านเมือง โดยไม่คิดถึงประโยชน์ใดๆ คล้ายๆ กับรัฐบาลแห่งชาติ ในที่สุดน่าจะมาเป็นแบบนี้มากกว่า เวลานี้เป็นการเล่นการเมืองตามบท ...เท่าที่ดูความเป็นรัฐบาลแห่งชาติมีความเป็นไปได้สูง” 

ทว่าในระยะหลังเริ่มได้ยินเสียงสะท้อนพูดถึงรัฐบาลแห่งชาติในช่วงก่อนเลือกตั้งมากขึ้นด้วยหลายเหตุผล รวมทั้งเป็นหนึ่งในแผนที่ต้องการจะยื้อการเลือกตั้งออกไป 

ปัจจัยแรกมาจากมรสุมที่กำลังรุมเร้า จนฉุดความเชื่อมั่นและคะแนนนิยม คสช.ลงเรื่อยๆ หากประเมินสถานการณ์เวลานี้อาจไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก กับความพยายามปลุกปั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.​ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย  

ทั้งด้วยคะแนนนิยมที่ยังน่าเป็นห่วงกับแผลใหญ่เรื่อง “สืบทอดอำนาจ” ​ที่กำลังฉุดรั้งไม่ให้ทุกอย่างเดินหน้าไปถึงเป้าหมาย 

การขับเคลื่อนตั้งพรรคพลังประชารัฐที่เคยหวังว่าจะเป็นฐานสำคัญในกระบวนการรวมเสียงจาก “ปฏิบัติการดูด” เริ่มส่อเค้าไม่เข้าเป้ากับการไปรวมกับ 250 เสียง สว. เฉพาะกาลเพื่อเดินหน้าไปสู่เส้นทางนายกฯ คนใน 

ไม่ต้องพูดถึงขั้นตอนการเลือก “นายกฯ คนนอก” ที่ต้องใช้ทั้งจำนวนเสียง สส.ในสภามากกว่า และต้องเผชิญกับแรงเสียดทานจากสังคมมากกว่า อันจะทำให้ทางเลือกนี้เกิดขึ้นได้ยาก  

อีกทั้งเวลานี้เริ่มมีการขยับตั้งพรรค​ “รวมพลังประชาชาติไทย” อันอาจจะเป็นอีกตัวแปรทางการเมือง ซึ่งทำให้พลังฝั่งสนับสนุน คสช.อ่อนแรงแผ่วลงไปในที่สุด 

ประเมินเสียงสุดท้ายโอกาสที่จะ คสช.จะกลับมาหลังการเลือกตั้งจึงดูเลือนราง ในวันที่ฐานการเมืองเก่ายังคงเหนียวแน่น แม้จะถูกแช่แข็งมานานนับ 4 ปี 

แม้แต่ผลโหวตเพจเฟซบุ๊กขอล้านไลค์สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อ มีผู้ไม่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ บริหารประเทศต่อถึง 94% และสนับสนุนให้ทำหน้าที่ต่อแค่ 6%

ล่าสุด อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุว่า  พอรัฐบาลเจอวิกฤตหนักๆ จวนตัว มักจะหาแนวทางไปสู่คำว่า รัฐบาลแห่งชาติ เพื่อยื้อการเลือกตั้ง หรืออยู่ในอำนาจให้นานที่สุด อีกทั้งถ้าคำว่ารัฐบาลแห่งชาติคือ การพยายามดูดดึง ทุกกลุ่มก๊วน เข้าร่วมงานทางการเมือง สภาพปัจจุบันก็ไม่แตกต่างจากคำว่ารัฐบาลแห่งชาติอยู่แล้ว

ระยะหลังมีการพูดถึงสูตรรัฐบาลแห่งชาติก่อนเลือกตั้งหลายสูตรทั้ง สูตรที่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ นั่งเก้าอี้นายกฯ ต่อไป และดึงฝักฝ่ายกลุ่มการเมืองต่างๆ เข้ามาร่วมจับมือกันทำงานเป็นรัฐบาล​ เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าต่อไป เนื่องจากเกรงว่าหากเลือกตั้งแล้วอาจทำให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวายอีกรอบ อันจะทำให้ทุกสิ่งที่ทำมาทั้ง 4 ปี พังทลายลงไป 

แน่นอนว่าสูตรนี้ถูกมองว่าเป็นเพียงแค่ความพยายามยื้อการเลือกตั้งและคงอำนาจในมือ คสช.ให้อยู่นานขึ้นกว่าเดิมด้วยรูปแบบวิธีใหม่เท่านั้น จึงไม่น่าจะเป็นที่ยอมรับจากฝักฝ่ายต่างๆ 

อีกสูตรที่ถูกพูดถึงคือการยกเครื่องใหม่หมดเปลี่ยนรัฐบาลทั้งชุด แต่ยังคงให้คนจากกองทัพมานั่งเป็นนายกฯ พร้อมดึงกลุ่มการเมืองต่างๆ  ให้มาร่วมเป็นรัฐบาลแห่งชาติบริหารบ้านเมืองให้ผ่านช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ไปก่อนถึงจะมีการเลือกตั้ง

สุดท้ายไม่ว่าจะเป็นสูตรไหนย่อมถูกมองว่าทั้งหมดเพียงเป็นแผนต้องการยื้อเลือกตั้งออกไป อันจะนำไปสู่กระแสต่อต้านคัดค้านและความวุ่นวายมากกว่าการเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง