posttoday

ศาล รธน.เขย่า ม.44 สะเทือนอำนาจ คสช.

28 พฤษภาคม 2561

การใช้มาตรา 44 ที่เคยคิดว่าง่าย โดยไม่สนใจเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจะทำให้ คสช.ยากต่อการใช้อำนาจตามอำเภอใจเหมือนที่ผ่านมา

การใช้มาตรา 44 ที่เคยคิดว่าง่าย โดยไม่สนใจเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจะทำให้ คสช.ยากต่อการใช้อำนาจตามอำเภอใจเหมือนที่ผ่านมา

******************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ถ้าหากจะบอกว่าการเลือกตั้งกำลังเดินตามโรดแมปก็คงไม่แปลกนักภายหลังศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งลงมติว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สว. ไม่มีปัญหาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

แม้วันที่ 30 พ.ค. ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. จะชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ถ้ามองกันในเบื้องต้นก็มีความเป็นไปได้ที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่น่าจะมีปัญหาทางกฎหมาย

สาเหตุที่มีความเป็นไปได้อย่างนั้น เนื่องจากมองถึงแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อกรณีร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาจะพบว่าได้มีคำวินิจฉัยไปในลักษณะว่าเมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติให้การแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจโดยเด็ดขาดของ สนช.เท่ากับว่าการตัดต่อร่างกฎหมายของ สนช. ถึงจะมีหน้าตาผิดแปลกไปจากของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญบ้าง แต่โดยรวมก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงพอให้คาดเดาได้ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 30 พ.ค. ก็คงไม่ได้มีความแตกต่างกันเท่าใดนัก

อย่างไรก็ดี วันที่ 30 พ.ค.ไม่ได้ชี้ขาดเฉพาะเรื่องกฎหมายเลือกตั้ง สส.เท่านั้น แต่ยังมีการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

เรื่องนี้มีที่มาที่ไปมาจากการยื่นคำร้องของพรรคการเมืองไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินที่ต้องการให้วินิจฉัยว่าคำสั่งของหัวหน้า คสช.ที่ออกโดยอาศัยมาตรา 44 ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินก็เห็นไปในทำนองเดียวกันว่าคำสั่งดังกล่าวอาจขัดกับรัฐธรรมนูญเช่นกัน จึงต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด

สำหรับประเด็นที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าอาจขัดกับรัฐธรรมนูญมีด้วยกันดังนี้

1.การให้สมาชิกพรรคที่ประสงค์จะยังคงเป็นสมาชิกพรรคต่อไป ต้องไปยืนยันตนเองและแสดงหลักฐานว่ามีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายต่อหัวหน้าพรรคการเมือง มิเช่นนั้นให้ถือว่าพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิและเพิ่มภาระให้กับสมาชิกพรรคเกินไป

2.การให้จัดประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับ จัดทำคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมือง ภายใน 90 วัน มิเช่นนั้น พรรคการเมืองดังกล่าวจะสิ้นสภาพไป ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าเป็นการสร้างภาระให้แก่พรรคการเมืองเกินสมควรเช่นกัน

ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 30 พ.ค. สามารถออกได้ด้วยกัน 3 หน้า

หน้าที่ 1 ให้คำสั่ง คสช.มีผลบังคับใช้ต่อไป โดยมองว่าการใช้มาตรา 44 ที่รองรับด้วยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 นั้นชอบด้วยกฎหมายและเป็นที่สุดแล้ว เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จและรวมศูนย์เด็ดขาด

หน้าที่ 2 ให้คำสั่ง คสช.สิ้นผลไป เพราะไปกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและพรรคการเมืองที่ได้รับการประกันไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แต่จะมีผลย้อนหลังหรือมีผลตั้งแต่ศาลมีคำวินิจฉัยก็สามารถออกมาได้ทุกทาง

หน้าที่ 3 ให้ คสช.แก้ไขคำสั่งบางส่วนที่มีผลกระทบ ซึ่งขั้นตอนการแก้ไขก็ไม่ได้ยาก เพียงแค่ คสช.ประชุมกันและแก้ไขก่อนให้หัวหน้า คสช.ลงนามและประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

จากความเป็นไปได้ข้างต้น หากผลลัพธ์แห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาเป็นหน้าแรกทุกอย่างก็จบ แต่ถ้าออกมาเป็นหน้าที่ 2 หรือ หน้าที่ 3 แน่นอนว่าจะกระทบต่อ คสช.อย่างมีนัยสำคัญ

ในทางกฎหมาย คสช.อาจจะมองว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของ คสช.ก็ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่สำหรับในทางการเมืองแล้วอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเขย่าอำนาจของ คสช.อย่างน่าสนใจ

ต้องไม่ลืมว่า คสช.พยายามสร้างมาตรา 44 ขึ้นมา เพื่อเป็นอำนาจเด็ดขาดที่รวมทั้งบริหารนิติบัญญัติและตุลาการไว้ที่บุคคลเพียงคนเดียว ดังนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสวนทางกับ คสช.ปฏิเสธไม่ได้ว่าอำนาจของ คสช.กำลังเจอกับปัญหาเข้าให้แล้ว

การใช้มาตรา 44 ที่เคยคิดว่าง่าย โดยไม่สนใจเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้ คสช.ยากต่อการใช้อำนาจตามอำเภอใจเหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมา

ยิ่งไปกว่านั้นอาจจะเป็นการเปิดทางให้ผู้ที่เคยได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรา 44 สามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเช็กบิล คสช.ย้อนหลังได้

แม้ผู้สันทัดกรณีทั้งหลายต่างมองว่ากรณีของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 น่าจะจบลงด้วยความสุขของ คสช. เพราะมีมาตรา 44 คุ้มครอง แต่ถ้าไม่มีประเด็นหรือไม่มีปัญหาจริง ศาลรัฐธรรมนูญก็คงไม่รับเข้าสารบบความไว้ตั้งแต่แรก เพราะถ้ามองว่ามาตรา 44 เป็นที่สุดแล้วศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ควรรับเอาไว้ให้เปลืองทรัพยากรของศาล

ดังนั้น วันที่ 30 พ.ค. เป็นอีกวันที่ คสช.น่าจะหายใจไม่ทั่วท้อง เพราะหากผลไม่ได้เป็นดั่งใจคิดอาจถึงคราวที่มาตรา 44 จะกลายเป็นหมันก็เป็นได้