posttoday

พรรคการเมืองผวา! คสช.โชว์พลังดูด

20 เมษายน 2561

คสช.ที่เป็นฝ่ายควบคุมกติกา แต่กลับลงมาเล่นเกมในกติกาที่ตัวเองเขียนไว้ เพื่อเตะตัดขาฝ่ายตรงข้าม เรียกได้ว่าสนามเลือกตั้งครั้งนี้ คสช.ได้ออกตัวนำเพื่อนไปหลายช่วงตัว

คสช.ที่เป็นฝ่ายควบคุมกติกา แต่กลับลงมาเล่นเกมในกติกาที่ตัวเองเขียนไว้ เพื่อเตะตัดขาฝ่ายตรงข้าม เรียกได้ว่าสนามเลือกตั้งครั้งนี้ คสช.ได้ออกตัวนำเพื่อนไปหลายช่วงตัว

****************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

นอกจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จะกำลังทำหน้าที่การบริหารประเทศแล้ว ปรากฏว่ายังทำงานด้านการเมืองอย่างขะมักเขม้นด้วย

งานด้านการบริหารประเทศเวลานี้ดูเหมือนว่านับตั้งแต่ประกาศใช้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี คสช.จะกระชุ่มกระชวยเป็นพิเศษ เพราะเป็นผลงานชิ้นโบแดงที่ คสช.พยายามจะโชว์ให้ประชาชนได้เห็น

โครงการขนาดใหญ่อย่างนี้ ถ้าไม่ทำในช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบแบบนี้ โอกาสที่จะเกิดขึ้นมีความเป็นไปได้ยาก เนื่องจากจะติดขัดด้วยปัญหาทางกฎหมายมากมาย

ดังนั้น เมื่อโครงการเป็นรูปเป็นร่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “แจ็ค หม่า” ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท อาลีบาบา เดินทางมาเช็กแฮนด์กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. พร้อมกับหารือถึงการลงทุนถึงที่ทำเนียบรัฐบาลด้วยแล้ว ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าโครงการอีอีซีไม่ได้ไร้ราคาตามที่ฝ่ายตรงข้ามกล่าวหาแต่อย่างใด

ต้องยอมรับว่านโยบายเศรษฐกิจและการลงทุน ถ้าได้ผลตอบรับดี ย่อมจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้รัฐบาล
ดังกล่าวประสบความสำเร็จมากขึ้น เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับรัฐบาลของ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่สามารถใช้นโยบายประชานิยมจนสามารถสร้างฐานเสียงให้มีความเข้มแข็ง ก่อนที่จะได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการคือ การขึ้นมาเป็นรัฐบาลพรรคเดียวในปี 2548

ถึงแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะแสดงอาการเกลียดนักการเมืองเท่าไร แต่ก็เป็นเพียงการเกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกงเท่านั้น เพราะโมเดลที่ทักษิณได้สร้างไว้แทบจะเป็นสูตรสำเร็จที่ คสช.ไม่อาจอดใจได้ไหว

ด้วยเหตุนี้ โครงการอีอีซีที่เกิดขึ้นในสมัย คสช.จะเป็นกุญแจสำคัญของการสร้างบารมีสำหรับการเลือกตั้ง เพื่อดึงดูดให้กลุ่มทุนมาสนับสนุนมากขึ้น เมื่อถึงคราวที่ คสช.ต้องสวมสูทนักการเมืองลงสนามเลือกตั้ง

อย่างไรก็ดี การจะประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้งได้นั้นไม่อาจหวังพึ่งพลังด้านเศรษฐกิจได้อย่างเดียวเท่านั้น เพราะต้องอาศัยพลังทางการเมืองเกื้อหนุนด้วย

พอเป็นแบบนี้ จึงได้เห็นปรากฏการณ์ดูดกลุ่มการเมืองมาเข้าค่ายของ คสช.เป็นระยะ โดยกลุ่มแรกที่เข้าค่ายอย่างเป็นทางการแล้วคือ กลุ่มพรรคพลังชล ภายหลัง “สนธยา คุณปลื้ม”หัวหน้าพรรค และ “อิทธิพล คุณปลื้ม”เข้ามามีตำแหน่งในรัฐบาล เช่นเดียวกับ “สกลธี ภัททิยกุล” อดีต สส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ได้ตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม.

ทั้งนี้ เป็นการออกโปรโมชั่นให้เห็นว่า ถ้าใครมาอยู่ข้าง คสช.จะไม่ได้กลับบ้านมือเปล่า แต่ได้ของติดไม้ติดมือเป็นชิ้นเป็นอัน จึงเป็นแรงจูงใจให้กลุ่มการเมืองที่กำลังรู้สึกเคว้งคว้างในเวลานี้มาอยู่กับ คสช.ได้ง่ายขึ้น

กลุ่มการเมืองที่กำลังตกอยู่ในภาวะเช่นนั้น เริ่มแสดงอาการออกมาให้เห็นแล้ว เช่น กลุ่มสะสมทรัพย์ ที่ก่อนหน้านี้ภักดีกับพรรคเพื่อไทย แต่พอพรรคเพื่อไทยต้องเจอกับแรงเสียดทานทุกครั้งเวลาขึ้นมามีอำนาจ ย่อมทำให้เกิดความเบื่อหน่ายที่จะสู้เพื่อทักษิณอีกต่อไป

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นผลให้บรรดาพรรคการเมืองปัจจุบันมีอาการหัวร้อนพอสมควร โดยมองว่า คสช.กำลังตกปลาในบ่อเพื่อน

“พฤติกรรมมันชัดอยู่แล้วว่าดูดนักการเมือง เพราะนายกฯ บอกว่าให้มาเป็นที่ปรึกษาทางการเมือง ผมคิดว่าปีสุดท้ายของนายกฯ แล้วจะมามีที่ปรึกษาเรื่องการเมืองเพื่ออะไร ทำไมเพิ่งมาคิดเอาปีนี้ ทำให้เห็นว่านายกฯ กำลังจะเข้าสู่การเมือง เดิมไม่ได้สร้างบ่อปลาไว้ก็ไปตกของคนอื่น เพื่อจะยุบรวมเป็นบ่อเดียวกัน” สุ้มเสียงของ “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทย เห็นได้จากท่าทีของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย

“หากผู้มีอำนาจที่อยากกลับเข้าสู่การเมือง เชื่อว่าทุกพรรคยินดี หากเขาแสดงตัวให้ชัดเจน และใช้วิธีที่ตรงไปตรงมา ดังนั้น เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จะเข้ามา ขอให้แสดงตัวว่าจะตรงไหน เพื่อให้การกลับเข้ามามีความสง่างามผ่านการตัดสินใจเลือกของประชาชน” คุณหญิงสุดารัตน์ ระบุ

สถานะของพรรคการเมืองในขณะนี้อยู่ในสภาพที่เสียเปรียบทุกประตู ทั้งกติกาของกฎหมายเลือกตั้งที่ไม่ได้เอื้อกับพรรคการเมืองให้ทำการเมืองได้สะดวก หรือแม้แต่การไม่ยอมปลดล็อกของ คสช. พรรคการเมือง จึงตกที่นั่งลำบากไม่สามารถขยับตัวได้

ความชัดเจนและการถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียวมาตลอด 4 ปี กลุ่มนักเลือกตั้งและนักการเมืองอาชีพ จึงรับไม่ได้กับความไม่มั่นคงของพรรคการเมือง และจำเป็นต้องหาที่พึ่งใหม่ เพื่อให้ตัวเองสมประโยชน์

ต่างกับ คสช.ที่เป็นฝ่ายควบคุมกติกา แต่กลับลงมาเล่นเกมในกติกาที่ตัวเองเขียนไว้ เพื่อเตะตัดขาฝ่ายตรงข้าม เรียกได้ว่าสนามเลือกตั้งครั้งนี้ คสช.ได้ออกตัวนำเพื่อนไปหลายช่วงตัว

ด้วยเหตุนี้ พรรคการเมืองปัจจุบันจึงออกอาการหัวร้อนและผวาพอสมควร เพราะหากปล่อยให้ คสช.โชว์พลังดูดต่อไป ผลกระทบร้ายแรงจะตกมาที่พรรคการเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้

ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าพรรคการเมืองอยู่ในสภาพที่ง่อนแง่นอย่างเห็นได้ชัดเจน ถึงจะมั่นใจว่าเสียงในพื้นที่ของตัวเองที่สร้างจะยังแข็งแรง แต่การลงสนามเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้มีอำนาจอยู่ในมือย่อมเสียเปรียบคู่แข่งทุกประตู เหมือนกับพรรคฝ่ายค้านลงเลือกตั้งแข่งกับพรรคของรัฐบาล

ภายใต้อาการหัวร้อนของพรรคการเมือง แต่ คสช.กลับยิ้มกริ่มในอำนาจและบารมีทางการเมืองของตัวเองที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น แม้ผลงานจะไม่เข้าตาประชาชนก็ตาม