posttoday

คสช.ถอยอุ้มมือถือ  ลดแรงเสียดทานโค้งสุดท้าย

29 มีนาคม 2561

ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายกับการที่ประชุมคสช. ยอมถอยไม่ใช้อำนาจตามมาตรา 44ออกคำสั่งช่วยเหลือผู้ประกอบการ ทีวีดิจิทัล-คลื่น900

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์​

ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายกับการที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.​) ยอมถอยไม่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งการชำระค่าใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลและมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่ต้องชำระเงินจำนวนสูง งวดสุดท้ายในปี 2562  

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)​ ระบุว่าที่ประชุม คสช.ยังไม่ได้ตัดสินใจอะไรทั้งสิ้น เพราะเห็นว่าต้องหามาตรการที่เหมาะสม สร้างความเป็นธรรม และต้องพิจารณาด้วยว่าจะดูแลกันอย่างไรในเรื่องของเศรษฐกิจด้านนี้

“รวมถึงต้องคำนึงถึงความเสี่ยงด้วยในการลงทุน ซึ่งต้องดูตรงนี้ว่าจะแก้ไขอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้อีกเพราะมันต้องมีการประมูลต่อไปอีกตั้งหลายคลื่นความถี่” 

สัญญาณจาก พล.อ.ประยุทธ์ สะท้อนให้เห็นความเป็นห่วงว่าหากการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการย่อมสุ่มเสี่ยงจะกระทบกับการประมูลในอนาคต แม้จะเห็นว่าเป็นธุรกิจที่สำคัญ แต่ พล.อ.ประยุทธ์​ ก็ยังออกอาการลังเล ชี้แจงเพียงแค่ ​“ควรหรือไม่ที่รัฐบาลต้องมารับผิดชอบตรงนั้น มันใช่หรือไม่ใช่ก็ไม่รู้ แต่เขากำลังพิจารณาอยู่ยังมีเวลา”

สำหรับในส่วนของทีวีดิจิทัลนั้น อาจมีเหตุผลพอรับฟังได้เพราะล่าสุดจากคำพิพากษาของศาลปกครองที่ให้ กสทช. คืนเงินกว่า 1,500 ล้านบาทระบุว่า ​​ในการเปลี่ยนผ่านระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์เป็นระบบดิจิทัลเป็นไปอย่างล่าช้าและไม่เป็นไปตามแผนงาน ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิบอกเลิกการให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลทั้งสองช่องรายการดังกล่าว และผู้ฟ้องคดีต้องคืนคลื่นความถี่ที่เคยได้รับอนุญาตให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง โดยไม่มีสิทธิเผยแพร่ออกอากาศรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลได้อีกต่อไป

ทั้งหมดทำให้ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าเรื่องไหนคือเรื่องที่เป็นเชิงธุรกิจ ที่ต้องเป็นความรับผิดชอบของภาคธุรกิจเอง และเรื่องไหนเป็นการเยียวยา​

ส่วนกรณีของโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น สืบเนื่องมาจากเป็น 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลและผู้ประกอบการเครือข่ายโทรคมนาคม ซึ่งเข้าหารือกับ ​ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ​และ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

โดยขอให้กำหนดระยะการจ่ายค่าประมูลคลื่นความถี่ 900 ให้ผู้ประกอบการที่ชนะการประมูลได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น แบ่งจ่ายเป็นระยะเวลา 5 ปี ปีละประมาณ 1 หมื่นล้านบาทเศษ โดยให้จ่ายอัตราดอกเบี้ยตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

ภายหลังมีข้อเสนอดังกล่าวเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก เพราะมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวถูกมองว่าอาจเป็นการเลือกปฏิบัติเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการบางรายหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบธุรกิจจำนวนมากก็ได้รับความเดือดร้อนแต่ทำไมถึงไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลบ้าง

ที่สำคัญยังถูกจับจ้องว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรหรือไม่ถึงตัดสินใจช่วยเหลือ อันจะยิ่งกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล คสช.​ที่กำลังง่อนแง่นจากการเข้าไปพัวพันกับเงื่อนงำความไม่โปร่งใสหลายเรื่องที่ผ่านมา 

ดังนั้น การตัดสินใจเบรกมาตรการช่วยเหลือค่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ออกไปจึงเป็นเหมือนการถอดสลักไม่ให้ประเด็นนี้วนกลับมาซ้ำเติมความเชื่อมั่นที่ถูกกัดเซาะอย่างต่อเนื่อง

ท่ามกลางสถานการณ์ความร้อนแรงทางการเมืองในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ อยู่ระหว่างที่พรรคการเมืองเก่ากำลังจะเริ่มต้นให้สมาชิกพรรคมายืนยันความเป็นสมาชิก ก่อนนับหนึ่งกระบวนการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดในช่วงเดือน ก.พ.​ 2562 

ทั้งช่วงเวลาที่ คสช.ต้องเตรียมลงจากอำนาจ ส่งไม้ต่อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือการเตรียมตัวกระโดดลงสนามการเมืองของ คสช.แบบเต็มตัว การต้องมาเผชิญกับข้อครหาในทำนองเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มธุรกิจย่อมไม่เป็นผลดี

ยังไม่รวมกับการถูกฟ้องร้องจากฝ่ายที่เสียหาย อันได้แก่ ฝ่ายที่แพ้การประมูลในรอบที่แล้ว ด้วยไม่คาดคิดว่าจะมี “เงื่อนไข” การเข้าช่วยเหลือจากฝ่ายรัฐ ทำให้การคำนวณราคาประมูลไม่ได้สะท้อนตัวเลขที่แท้จริงในมุมของผู้ประกอบการ 

จับสัญญาณจาก ​พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะเห็นว่า รัฐบาล คสช.ยังคงใช้วิธีการเดิมๆ กับเรื่องที่ยังมีปัญหาคือ พักเรื่องไว้ก่อน โดยโยนให้ กสทช. กลับไประดมความคิดเห็นจากทีมงาน กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประมวลข้อมูล

เมื่อรู้ดีว่าการเดินหน้าตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใดออกไปย่อมเสี่ยงเกิดผลเสีย​ที่จะเป็นชนวนให้หยิบมาโจมตี คสช.ในอนาคต อันจะทำให้สิ่งที่พยายามทำมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมาเสียหายลงไปหมด

การพักเรื่องนี้ด้วยเหตุผลเรื่องการพิจารณาอย่างรอ​บคอบ รอบด้านทั้งเรื่องการประกอบธุรกิจ ที่จะต้องเกี่ยวพันผูกมัดไปถึงมีเรื่องการประมูลในอนาคต​จึงเป็นหนทางที่ดีที่สุด

ในเมื่ออีกไม่กี่เดือน คสช.ย่อมจะต้องพ้นจากอำนาจอยู่แล้ว การปล่อยให้ “เผือกร้อน” ตกไปอยู่ในมือรัฐบาลชุดใหม่ย่อมจะเป็นหนทางที่ปลอดภัยสำหรับตัวเอง ดีกว่าจะมาเสี่ยงรับผลความเสียหายที่อาจเกิดในอนาคต