posttoday

"ล้มกระดานกกต." แผนจัดแถวองค์กรอิสระ

26 กุมภาพันธ์ 2561

“การปฏิรูปประเทศ-ยุทธศาสตร์ชาติ” เป็นเรื่องสำคัญที่ คสช.อยากสานต่อให้จบ แต่เหนืออื่นใด คสช.ก็ต้องมั่นใจด้วยว่าจะไม่มีหอกข้างแคร่มาคอยทิ่มแทง

“การปฏิรูปประเทศ-ยุทธศาสตร์ชาติ” เป็นเรื่องสำคัญที่ คสช.อยากสานต่อให้จบ แต่เหนืออื่นใด คสช.ก็ต้องมั่นใจด้วยว่าจะไม่มีหอกข้างแคร่มาคอยทิ่มแทง

****************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

นับเป็นประเด็นใหญ่ในทางการเมืองพอสมควร สำหรับการลงมติไม่เห็นชอบกับบุคคลที่ผ่านการสรรหาให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวน 7 คน ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา

รายละเอียดของการลงมติของ สนช.มีดังนี้

1.ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ไม่ได้รับความเห็นชอบ 156 คะแนน ได้รับความเห็นชอบ 27 คะแนน

2.เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ ไม่ได้รับความเห็นชอบ 175 คะแนน ได้รับความเห็นชอบ 10 คะแนน

3.ชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ ไม่ได้รับความเห็นชอบ 168 คะแนน ได้รับความเห็นชอบ 16 คะแนน

4.อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ ไม่ได้รับความเห็นชอบ 149 คะแนน ได้รับความเห็นชอบ 30 คะแนน

5.ประชา เตรัตน์ ไม่ได้รับความเห็นชอบ 125 คะแนน ได้รับความเห็นชอบ 57 คะแนน

6.ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ไม่ได้รับความเห็นชอบ 128 คะแนน ได้รับความเห็นชอบ 46 คะแนน

7.ปกรณ์ มหรรณพ ไม่ได้รับความเห็นชอบ 130 คะแนน ได้รับความเห็นชอบ 41 คะแนน

จากคะแนนที่ปรากฏออกมานั้นนับว่ามีนัยทางการเมืองพอสมควร โดยเฉพาะกับกรณีของ “ฉัตรไชย-ปกรณ์” ซึ่งเป็นผู้ผ่านการสรรหามาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพราะมีไม่บ่อยครั้งที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะลงมติหักกับฝ่ายตุลาการ

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ สนช.เคยข้องใจถึงกระบวนการลงมติเลือกว่าที่ กกต.ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามาก่อนแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ถึงขนาดที่ต้องส่งหนังสือไปยังศาลฎีกาเพื่อให้ยืนยัน โดยศาลฎีกายืนยันกลับมาว่ากระบวนการทุกอย่างเป็นไปอย่างถูกต้องแล้ว

ตรงนี้เองอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ สนช.ไม่มั่นใจนักหากจะลงมติเพื่อรับรองว่าที่ กกต.จากศาลฎีกา เพราะ สนช.ทั้งสภาคงรับผิดชอบไม่ไหวแน่ๆ หากเกิดอุบัติเหตุทางกฎหมายขึ้นมา จึงเลือกที่จะปลอดภัยไว้ก่อนแทน

ส่วนกรณีของ 5 คนที่มาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหานั้นก็มีความเคลื่อนไหวปรากฏออกมาตลอดว่าสนช.หลายคนไม่ค่อยปลื้มเท่าไรนัก อีกทั้งเคยมีการพยายามเสนอให้คณะกรรมการสรรหาใช้ช่องทางตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ที่ให้คณะกรรมการสรรหาเชิญบุคคลที่มีคุณสมบัติครบเข้ามาสมัคร กกต. นอกเหนือไปจากการรับสมัครตามขั้นตอนปกติ

ทว่าคณะกรรมการสรรหาไม่ได้ใช้เครื่องมือดังกล่าว เพราะเห็นว่ามีผู้ที่ผ่านคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญกำหนดเพียงพอแล้ว และคาดว่า สนช.น่าจะเคารพการตัดสินใจของคณะกรรมการสรรหาที่มี “พรเพชร วิชิตชลชัย”ประธาน สนช. ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการสรรหาด้วย

แต่เมื่อ สนช.ล้มกระดานว่าที่ กกต.แบบนี้ ทำให้ต้องกลับมาเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ ทั้งขั้นตอนของคณะกรรมการสรรหาและของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ซึ่งประธาน สนช.ระบุว่าอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 90 วัน

การสรรหา กกต.ครั้งใหม่ก็นับหนึ่งใหม่กันไปตามขั้นตอน แต่สำหรับในทางการเมืองแล้วมติของ สนช.เมื่อวันที่ 22 ก.พ. สะท้อนให้เห็นว่า สนช.กำลังเข้ามาเป็นผู้ช่วยสำคัญในการจัดระเบียบองค์กรอิสระ

ย้อนกลับไปดูการพิจารณาก่อนหน้านี้ จะเห็นได้ว่า สนช.ได้ดำเนินกระบวนการลักษณะนั้นมาพอสมควร

หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งถ้า สนช.เห็นชอบไปตามร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะมีผลให้กรรมการ ป.ป.ช.อย่างน้อย 2 คน ต้องพ้นจากตำแหน่ง เพราะมีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่ปรากฏว่า สนช.แก้ไขกฎหมายจากหน้ามือเป็นหลังมือ โดยกำหนดให้คนที่มีลักษณะต้องห้ามยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้จนนำมาสู่การยื่นศาลรัฐธรรมนูญในเวลาต่อมา

เช่นเดียวกับกรณีของ กกต. โดยก่อนหน้านี้ กรธ.เสนอร่างกฎหมาย กกต. เพื่อกำหนดให้ กกต.ที่มีคุณสมบัติไม่ครบตามรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่ง แต่ต่อมา สนช.ก็แก้ไขให้ กกต.ชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งทั้งหมด เพียงแต่ยังให้รักษาการต่อไปจนกว่าจะมี กกต.ชุดใหม่

ในอนาคตอันใกล้นี้จะต้องมีการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทั้งหมด และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคุณสมบัติที่รัฐธรรมนูญกำหนด และแน่นอนว่าจากสัญญาณที่ กกต.สื่อออกมาเมื่อวันที่ 22 ก.พ. แสดงให้เห็นว่า สนช.จะเข้ามาเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญ

สาเหตุที่ สนช.ต้องออกตัวแรงขนาดนี้ เนื่องจากอีกไม่นานประเทศไทยจะเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลทหารไปสู่รัฐบาลพลเรือนผ่านการเลือกตั้ง

ไม่เพียงเท่านี้ ยังเป็นวาระที่ คสช.ต้องลงจากตำแหน่ง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ คสช.จะต้องได้รับความปลอดภัยมากที่สุดในเวลาที่ไม่มีมาตรา 44 เป็นยาสามัญ

“การปฏิรูปประเทศ-ยุทธศาสตร์ชาติ” เป็นเรื่องสำคัญที่ คสช.อยากสานต่อให้จบ แต่เหนืออื่นใด คสช.ก็ต้องมั่นใจด้วยว่าจะไม่มีหอกข้างแคร่มาคอยทิ่มแทง เพราะเส้นทางข้างหน้าเมื่อการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว หาก คสช.ได้กลับมาจะต้องเจอกับอิทธิฤทธิ์ของฝ่ายค้านมืออาชีพ โดยไม่มี สนช.คอยกดปุ่มตามคำสั่งเหมือนในเวลานี้

ดังนั้น การกรุยทางและจัดแถวอำนาจตั้งแต่เวลานี้จะเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ คสช.