posttoday

ไม่ประกาศวันเลือกตั้ง ยิ่งคลุมเครือ ยิ่งบั่นทอนคสช.

19 กุมภาพันธ์ 2561

ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ทำให้เริ่มมีคนออกมาเคลื่อนไหวกดดันให้รัฐบาล คสช.​ประกาศความชัดเจนถึงวันเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้ทุกอย่างเกิดความอึมครึมv

ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ทำให้เริ่มมีคนออกมาเคลื่อนไหวกดดันให้รัฐบาล คสช.​ประกาศความชัดเจนถึงวันเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้ทุกอย่างเกิดความอึมครึม

*****************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์ 

ร้อนจนถึงขั้นที่ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต้องออกมาการันตีด้วยตัวเองว่า เป็นเรื่องยากที่ สนช.จะคว่ำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. เพราะต้องใช้ 166 เสียง จาก 248 เสียง

ทั้งนี้ หากจะคว่ำคงคว่ำไปตั้งแต่แรกเพราะใช้เสียงเพียงแค่กึ่งเดียว แต่ถ้าจะคว่ำในชั้นหลังจากการพิจารณาของกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย คือ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (​กรธ.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ สนช. จะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ซึ่งเป็นเรื่องยาก

อีกทั้งหากพิจารณาในรายละเอียดเนื้อหาเห็นว่าทุกอย่างน่าจะตกลงกันได้ในที่ประชุมร่วม พร้อมประกาศชัดว่าหากกฎหมายลูกทั้งสองฉบับถูกคว่ำ สนช.จะต้องเป็นคนรับผิดชอบ

สาเหตุสำคัญที่พรเพชรต้องออกมาแถลงชี้แจงประเด็นนี้ด้วยตัวเอง เพราะแรงกดดันที่รุมเร้า คสช.​กระทบชิ่งมาถึง สนช. ในฐานะกลไกสำคัญที่จะควบคุมทิศทางการเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

ด่านแรก ​สนช.ปรับแก้เนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. ให้มีผลบังคับใช้ 90 วันหลังจากประกาศใช้ ทำให้โรดแมปที่เคยคาดว่าการเลือกตั้งจะอยู่ที่เดือน พ.ย. 2561 ต้องขยับไปอยู่ที่เดือน ก.พ. 2562 หรือช้าสุดตามที่พรเพชรคำนวณคือ วันที่ 5 มี.ค.

ด่านสอง หาก สนช.คว่ำร่างกฎหมายลูกทั้งสองฉบับ การเริ่มต้นนับหนึ่งที่จะต้องจัดการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญกำหนดก็มีอันจะต้องขยับออกไป ​และที่สำคัญคือไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลามากน้อยเพียงใดกับการจัดทำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ 

ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ทำให้เริ่มมีคนออกมาเคลื่อนไหวกดดันให้รัฐบาล คสช.​ประกาศความชัดเจนถึงวันเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้ทุกอย่างเกิดความอึมครึม จนกระทบไปถึงความเชื่อมั่นใน คสช.

ยิ่งในวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ไม่ออกมายืนยันความชัดเจนถึงกำหนดการเลือกตั้งที่ชัดเจน หลังมีอันต้องถอยร่นจากกำหนดเดิม ซึ่งเคยประกาศเป็นสัญญาประชาคมระหว่างการเยือนสหรัฐอเมริกา จนทำให้สถานการณ์ยิ่งย่ำแย่หนัก

แรงกดดันที่เกิดขึ้นจึงมีทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมออกมารวมตัวเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศวันเลือกตั้งให้ชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นช่วงไหนกันแน่ และอยากให้ยืนยันว่าจะไม่มีเหตุให้ต้องเลื่อน หรือหากจะเลื่อนจริงก็ต้องมีเหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงพอที่ประชาชนจะยอมรับและเข้าใจได้

รวมทั้งฝั่งการเมืองซึ่งเฝ้ารอวันเลือกตั้งมานานเกือบ 4 ปี แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ หรือจะเกิดขึ้นช่วงใด

ในฐานะพรรคการเมืองซึ่งจะต้องเตรียมตัวลงสนามเลือกตั้งกับกฎกติกาใหม่ ที่เรียกว่าแทบจะต้องตั้งต้นนับหนึ่งกันใหม่หมด ทั้ง การจัดทำระบบสมาชิกพรรค จัดตั้งสาขาพรรค ไปจนถึงการจัดทำไพรมารีโหวต เพื่อหาตัวผู้สมัครทั่วประเทศ การที่ขาดความชัดเจนเรื่องวันเวลาเลือกตั้งย่อมมีผลอย่างรุนแรง

ยังไม่รวมกับประเด็นเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบของพรรคการเมืองเก่าและพรรคการเมืองใหม่ ที่ถูกมองว่าอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ต้องเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป

แต่ทว่า แรงกดดันที่หนักที่สุดของความไม่ชัดเจนเรื่องการเลือกตั้ง​ อยู่ที่สาเหตุนำไปสู่การออกมาเคลื่อนไหวของประชาชนจากภาคส่วนต่างๆ ไล่มาตั้งแต่กลุ่มประชาชนคนอยากเลือกตั้ง ที่นัดชุมนุมกันครั้งแรกที่สกายวอล์ก ซึ่งมีประชาชนออกมาร่วมกิจกรรมอยู่ไม่น้อย

ถึงขั้น คสช.ต้องงัด “ไม้แข็ง” สั่งดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมหวังว่าจะเป็นการสกัดไม่ให้เกิดการชุมนุมขยายวงไปในวงกว้างหรือมีแนวร่วมออกมามากขึ้น

แสดงให้เห็นว่า รัฐบาล คสช. ประเมินแล้วว่า ปมมีนี้มีความอ่อนไหว และสามารถนำไปขยายผลพัฒนาไปสู่การปลุกมวลชนให้ออกมาเคลื่อนไหว

ปัญหานี้ถึงขั้นทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกมากำชับให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งทำความเข้าใจถึงเหตุผลการเลื่อนเลือกตั้ง รวมทั้งทำความเข้าใจกับกลุ่มที่ออกมาชุมนุม ​ซึ่งส่งสัญญาณให้ความสำคัญทุกภาคส่วนต้องทำความเข้าใจกับประชาชนทั้งกลุ่มผู้ที่เคลื่อนไหวและประชาชนทั่วไป

“กลุ่มที่เคลื่อนไหวอาจทำความเข้าใจยากหน่อยไม่เป็นไร แต่ประชาชนที่อยู่รอบๆ บริเวณที่มีการชุมนุมต้องได้รับความเข้าใจว่า รัฐบาลไม่ได้เป็นคนกำหนดให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป โรดแมปยังคงเป็นโรดแมปเหมือนเดิม เพียงแต่ สนช.เห็นชอบต่อร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. ว่าให้มีผลบังคับใช้เมื่อประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว 90 วัน ตรงนี้ต้องชี้แจงให้ประชาชนทราบ”

ยิ่งหากพิจารณารูปแบบการชี้แจงจะเห็นว่า เมื่อใดก็ตามที่มีการจัดกิจกรรม ทางรัฐบาล คสช.​ก็จะส่งตัวแทนไปร่วมชี้แจงเพื่อให้ประชาชนเกิดการรับฟังข้อมูลจากทั้งสองด้าน

แน่นอนว่ามาตรการประกบเวทีการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น นอกจากจะเป็นการหวังผลสร้างแรงกดดันสกัดการเคลื่อนไหวแล้ว อีกด้านยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและผิดทาง

เมื่อชัดเจนอยู่แล้วว่าเรื่องนี้จะไม่ลุกลามบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่โต เพียงแค่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดประกาศให้ชัดเจนว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ และยืนยันว่าจะไม่เลื่อนโดยเด็ดขาด