posttoday

"บิ๊กป้อม" อยากอยู่ต่อ ต้องรอลุ้น "ปปช."

07 กุมภาพันธ์ 2561

หากจะบอกว่าเวลานี้ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นจุดอ่อนของรัฐบาลคงไม่ผิดนัก

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

หากจะบอกว่าเวลานี้ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นจุดอ่อนของรัฐบาลคงไม่ผิดนัก หลังจากโดนกระหน่ำด้วยกระแสกดดันจากกรณีของการยืมนาฬิกาหรู

นาฬิกาจะมีกี่เรือนในมือบิ๊กป้อมนั้นไม่ใช่สาระสำคัญ หากได้แจ้งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เมื่อครั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งเมื่อปี 2557

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏแจ้งชัดว่าในรายการบัญชีทรัพย์สินที่ พล.อ.ประวิตร แสดงต่อ ป.ป.ช.ไม่มีนาฬิกาดังกล่าว ย่อมทำให้เกิดความกดดันให้รองนายกฯ ต้องแสดงสปิริตด้วยการรับผิดชอบทางการเมืองก่อนนำไปสู่การรับผิดชอบทางกฎหมาย

ทว่าสถานการณ์ที่ผู้มีอำนาจในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คิดว่าถ้าอยู่นิ่งๆ ทุกอย่างจะเงียบไป พอเอาเข้าจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะยิ่งนานวันเริ่มมีการเผยแพร่นาฬิกาหรูที่ พล.อ.ประวิตรมีนั้นไม่ได้มีแค่เรือนเดียว ผนวกกับท่าทีที่ออกมาปกป้องชัดเจนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ทั้งการบอกว่า "ขอให้ลดราวาศอก" หรือ "เป็นเรื่องส่วนตัว" ยิ่งทำให้เชื้อไฟการเมืองโหมแรงมากขึ้น

เวลาผ่านมานานหลายเดือน เริ่มเกิดกระแสว่า พล.อ.ประวิตร อาจถอดใจและลาออกจากตำแหน่ง ดังจะเห็นได้จากการพูดกับสื่อมวลชนในทำนองว่า "ถ้าประชาชนไม่ต้องการก็พร้อมจะไป" ซึ่งเป็นการเปลี่ยนท่าทีที่เคยแข็งกร้าวมาอ่อนลงอย่างเห็นได้ชัด

นับจากนั้น โพลตามสื่อสังคมออนไลน์ต่างเห็นตรงกันว่า พล.อ.ประวิตร ควรเสียสละออกจากตำแหน่ง แต่มาจนถึงวันนี้สังคมยังไม่ได้เสียงตอบรับจากนายทหารพี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์นายนี้ กระทั่งล่าสุดมีการยืนยันออกมาจากกระทรวงกลาโหมว่านายใหญ่แห่งกระทรวงความมั่นคงไม่มีความคิดลาออกจากตำแหน่ง

"ยืนยันว่า พล.อ.ประวิตร ยังมีกำลังใจและสุขภาพแข็งแรงดี มีจิตใจเข้มแข็ง หนักแน่นและมั่นคงที่จะทุ่มเทปฏิบัติหน้าที่ เป็นแกนหลักในการดูแลความมั่นคงของประเทศและรักษาความปลอดภัยของสังคมต่อไป" การยืนยันจาก พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม

เท่ากับว่า พล.อ.ประวิตร เลือกเดินฝ่ากระแสกดดันต่อไปแม้ว่ากระแสนั้นจะลามไปถึงรัฐบาลทั้งองคาพยพ ดังนั้นการให้ พล.อ.ประวิตร ออกจากตำแหน่งได้มีอยู่ทางเดียว คือ การดำเนินคดีของ ป.ป.ช.

ที่ผ่านมา ป.ป.ช.ถูกจับตาจากสังคมไม่แพ้กันนับตั้งแต่เกิดเรื่องของ พล.อ.ประวิตร เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าประธาน ป.ป.ช.เวลานี้ชื่อ “พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ” ซึ่งอดีตเคยเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีให้กับ พล.อ.ประวิตร แต่ ป.ป.ช.ก็สามารถเอาตัวรอดได้ในระดับหนึ่ง ภายหลัง พล.ต.อ.วัชรพล ขอถอนตัวจากการพิจารณาคดีนี้

เมื่อไม่นานมานี้ ป.ป.ช.ได้แถลงต่อสื่อมวลชนถึงกรณีดังกล่าวว่า ภายในเดือน ก.พ.จะมีการสรุปข้อเท็จจริงทั้งหมด

ตามขั้นตอน ณ ขณะนี้ ป.ป.ช.อยู่ในระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง หาก ป.ป.ช.เห็นว่าเมื่อรวบรวมข้อเท็จจริงจนเป็นที่ยุติแล้วและเห็นว่าไม่มีมูล ทุกอย่างก็เป็นอันสิ้นสุด แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น ป.ป.ช.ต้องตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน พล.อ.ประวิตร ต่อไป

การตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนในความหมายนี้ ถ้าเกิดขึ้นจริง จะนำมาซึ่งอุณหภูมิการเมืองที่สูงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ต้องไม่ลืมว่า ป.ป.ช.เคยวางบรรทัดฐานมาแล้วจากกรณีของอดีตปลัดกระทรวงคมนาคมที่เคยยืมรถตู้จากบุคคลอื่น และไม่ได้แสดงรายการทรัพย์สินดังกล่าวต่อ ป.ป.ช. โดยไม่เพียงแต่ ป.ป.ช.เท่านั้นที่เห็นว่ามีความผิด เพราะศาลฎีกาแผนคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาเป็นที่สุดแล้วว่ามีความผิดเช่นกัน

หาก ป.ป.ช.ตัดสินแตกต่างจากบรรทัดฐานที่ศาลฎีกาฯ พิพากษาไว้ คงต้องออกแรงตอบสังคมให้เกิดความกระจ่างพอสมควร ไม่ใช่เดินหนีระหว่างการแถลงข่าวเหมือนครั้งที่ผ่านมา มิเช่นนั้นแล้วยิ่งเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้รุนแรงมากขึ้นไปอีก

ในชั้นการพิจารณาของคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ต้องยอมรับว่าไม่มีกรอบเวลาที่กำหนดตายตัวแน่นอน บางคดีก็ทำได้เร็ว บางคดีก็ทำได้ช้า แต่ส่วนใหญ่จะอยู่เกณฑ์ค่าเฉลี่ย 1-2 ปีกว่าคดีนั้นจะถึงมืออัยการสูงสุด

โดยระหว่างการไต่สวน ถ้าว่ากันตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน พล.อ.ประวิตร ยังสามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ จนกว่า ป.ป.ช.จะชี้มูลว่า พล.อ.ประวิตร มีความผิดและส่งเรื่องไปให้อัยการสูงสุด

"ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติว่าข้อกล่าวหาใดมีมูล และข้อกล่าวหานั้นเป็นเรื่องตามมาตรา 43 (1) หรือ (2) นับแต่วันที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองจะมีคําพิพากษา แล้วแต่กรณี" บทบัญญัติของกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 55 

ดังนั้น อนาคตทางการเมืองของ พล.อ.ประวิตร ต้องฝากไว้ที่นิ้วเพชรของ ป.ป.ช. แต่ระหว่างทางก่อนถึงวันที่ ป.ป.ช.ชี้ชะตานั้นยังต้องมีขวากหนามที่ต้องฝ่าอีกมาก และไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์คาดไม่ถึงหรือไม่ เพราะฝ่ายรัฐบาลเองพยายามสร้างเงื่อนไขขึ้นมา โดยไม่มีความพยายามจะปลดล็อกเพื่อสร้างความปรองดองแต่อย่างใด