posttoday

โค้งสุดท้าย คสช. แนวร่วมหาย แนวต้านโผล่

30 มกราคม 2561

เส้นทางการเลือกตั้งที่มีอันต้องขยับออกไปอย่างน้อย 90 วัน จากการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งในชั้นสนช. สร้างแรงกระเพื่อมต่อเสถียรภาพคสช.

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เส้นทางการเลือกตั้งที่มีอันต้องขยับออกไปอย่างน้อย 90 วัน จากการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ในชั้นสภานิติบัญญัติ (สนช.) สร้างแรงกระเพื่อมต่อเสถียรภาพคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างมาก

เริ่มตั้งแต่แรงกดดันจากนอกประเทศเมื่อทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ออกมาประกาศจุดยืนสนับสนุนให้รัฐบาล คสช.เดินหน้าจัดการเลือกตั้งตามโรดแมปเดิมในเดือน พ.ย. 2561

"เรายังรอให้ประเทศไทยกลับคืนสู่การบริหารงานโดยรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยผ่านทางการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้" จิลเลียน บอนนาร์โดซ์ โฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทย กล่าว

การออกมาขยับของกลุ่มชาติมหาอำนาจย่อมทำให้รัฐบาล คสช.ต้องระมัดระวังก้าวย่างต่อจากนี้มิให้สายสัมพันธ์ที่เริ่มดีขึ้นต้องสะดุดอีกรอบ อันอาจพันไปถึงความเชื่อมั่นในสายตานักธุรกิจ นักลงทุน ซึ่งจะกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงเศรษฐกิจในภาพรวม

การเลื่อนเลือกตั้งออกไปจากกรอบเวลาเดิม ทำให้ข้อครหาเรื่องการยื้ออยู่ในอำนาจกลับมาเป็นประเด็นอีกรอบ ที่สำคัญนี่กลายเป็นชนวนให้ "แนวร่วม" ที่เคยสนับสนุน คสช.เริ่มตีตัวถอยห่างออกมา ขณะที่บางกลุ่มเริ่มเปิดหน้าออกมาถล่ม คสช. เรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งโดยเร็ว

ยังไม่รวมกับกลุ่มที่ผิดหวังจากผลงานการบริหารงานของ คสช.ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เมื่อเป้าหมายที่เคยประกาศไว้ทั้งเรื่องปฏิรูป และปรองดอง ยังดูเลื่อนลอยห่างไกลจากเป้าหมาย

ในวันที่กลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มคนรากหญ้า กลายเป็นกลุ่มคนที่ถูกละเลย หลายครั้งที่กลุ่มคนเหล่านี้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาล คสช.แก้ปัญหา นอกจาก คสช.จะไม่รับฟังเสียงของชาวบ้านแล้วยังมีการปิดกั้นไม่ให้เข้าถึง และสกัดการเคลื่อนไหวจนเกิดการกระทบกระทั่งในหลายกรณี

กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มประชาชน ประชาชนผู้เสียหายจากนโยบายของรัฐบาล และออกมาเรียกร้องสิทธิหรือจัดกิจกรรมทางวิชาการกลับโดนปิดกั้น ทำให้กลุ่มต่างๆ เหล่านี้ ถูกผลักไปยืนอยู่คนละฝั่งกับ คสช.

ส่งผลให้ "แนวต้าน" คสช.เริ่มขยายวงมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมาถูกสกัดไว้ด้วยอำนาจพิเศษ จนยากจะขยับตัว แต่ปัจจุบันช่องทางการแสดงออกเริ่มเปิดกว้างขึ้นกว่าในอดีต

ล่าสุด เครือข่ายประชาชนและ นักวิชาการ พีเพิ้ล โก เน็ตเวิร์ก ซึ่งจัดกิจกรรม "วีวอล์ก เดินมิตรภาพ" ที่เดินจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต ไปยัง จ.ขอนแก่น และถูกเจ้าหน้าที่สกัดในช่วงแรก ปัจจุบันศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้ตำรวจขัดขวางการชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายฯ พร้อมอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยให้กับผู้ร่วมชุมนุม

ส่องดูแต่ละกลุ่มที่ออกมาร่วมกิจกรรมทั้งตัวแทนจากกลุ่มสลัม 4 ภาค กลุ่มรักษ์บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง กลุ่มดาวดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มขบวนการประชาชน เพื่อสังคมที่เป็นธรรม กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) และกลุ่มเหมืองทอง จ.เลย หลายคนเคยเป็นกลุ่มที่ถูกละเลยในช่วง ที่ผ่านมา

สำหรับที่ผ่านมา การแยกกันเคลื่อนไหวอาจไม่มีพลังเพียงพอ และยากจะต้านทานการปิดกั้นของฝ่ายรัฐ แต่เมื่อกลุ่มต่างๆ รวมพลังกันนั่นย่อมทำให้การเคลื่อนไหวครั้งนี้มีพลัง และถูกจับตาจากสังคมมากกว่าเดิม

ยิ่งล่าสุดกลุ่มนักวิชาการ 26 คน ออกโรงยื่นรายชื่อพร้อมหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอให้พิจารณาทบทวนการดำเนินคดีกับ ผู้จัดกิจกรรม "เดินมิตรภาพ" ซึ่งมี เป้าหมายเพื่อรณรงค์เรื่องหลักประกันสุขภาพ ทรัพยากร ความมั่นคงทางอาหาร และสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

แรงกระเพื่อมที่เคยสะกดไว้ทั้งหมดในช่วงที่ผ่านมา จึงตั้งเค้าจะปะทุในไม่ช้านี้

เมื่อรวมกับปมสำคัญอย่างการเลื่อนเลือกตั้งยิ่งทำให้แนวต้านเปิดหน้าออกมาแสดงตัวกันมากขึ้น และหาก คสช.ยังตั้งรับด้วยวิธีการเดิมๆ ทั้งปิดกั้น หรือใช้ความรุนแรง นี่อาจลุกลามเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว

ล่าสุด การนัดรวมพลประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช. ที่บริเวณลานสกายวอล์ก เขตปทุมวัน ช่วงเย็นวันเสาร์ที่ผ่านมาถือเป็นการหยั่งเชิงชิมลางการเคลื่อนไหวต่อไป

เมื่อ รังสิมันต์ โรม สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) กล่าวว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการ "คิกออฟ" พร้อมนัดหมายรอบใหม่ วันที่ 10 ก.พ.

ในวันที่สถานการณ์เริ่มสุกงอม ทั้งบรรยากาศการเมือง และคะแนนนิยม ความเชื่อมั่น คสช.กำลังลดลงเรื่อยๆ การต้องมาเผชิญหน้ากับแรงเสียดทานใหม่ๆ อย่างการอุ้ม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่กำลังถูกตรวจสอบปมนาฬิกาหรูกว่า 20 เรือน ฉุดให้เส้นทางการประกาศสงครามคอร์รัปชั่นและทุจริตของรัฐบาล คสช.ที่อุตส่าห์ทำไว้ต้องเสียหายรุนแรง

ก้าวย่างนับจากนี้ของ คสช.ไปจนถึงการเลือกตั้งที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ จึงล้วนเปราะบางและสุ่มเสี่ยง