posttoday

จับตาล้ม ‘ไพรมารีโหวต’ ลดกระแสลากเลือกตั้ง

26 มกราคม 2561

การเมืองไทย ณ วินาทีอยู่บนความไม่แน่นอนอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการเลือกตั้ง หลังจากตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การเมืองไทย ณ วินาทีอยู่บนความไม่แน่นอนอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการเลือกตั้ง หลังจากตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่

เดิมทีเมื่อครั้งมีการรัฐประหารใหม่ๆ เมื่อปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัญญากับประชาชนจะขอเวลาทำหน้าที่ไม่นาน เพียงแค่ขอระยะเวลาการปฏิรูปประเทศสักพักก่อน ประกอบกับ ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. มักจะแสดงออกผ่านสื่อมวลชนว่าทำงานเหนื่อยและจะไม่ขอกลับมาทำงานอีก ยิ่งเป็นการชี้ให้เห็นประชาชนน่าจะได้อำนาจอธิปไตยคืนมา

ทุกอย่างก็กลับหัวกลับหางจนได้ เมื่อปรากฏว่าสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มี "บวรศักดิ์ อุวรรณโณ" เป็นประธาน

การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับ "มีชัย ฤชุพันธุ์" ทุกอย่างเริ่มดูราบรื่น พร้อมกับประชาชนลงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เป็นเสมือนหลักประกันทางการเมืองให้กับประชาชนว่าจะมีการเลือกตั้ง เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดว่าทันทีที่ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ได้แก่ การเลือกตั้ง สส. การได้มาซึ่ง สว. คณะกรรมการการเลือกตั้ง และพรรคการเมือง มีผลบังคับใช้ การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นภายใน 150 วัน

แต่มาถึงเวลานี้ ฉันทามติของประชาชนกำลังจะไม่มีความหมายภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เล่นแร่แปรธาตุกับตัวอักษรด้วยการเสนอให้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากเดิมที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

การดำเนินการลักษณะนี้ทำให้แทนที่การนับถอยหลัง 150 วันจะเริ่มทันทีเมื่อประกาศใช้กฎหมาย แต่กลับต้องมาถูกถ่วงเวลาไว้อีก 90 วันถึงจะเริ่มต้นนับหนึ่งสู่การเลือกตั้ง

ที่ผ่านมาทั้ง สนช. ครม. และ คสช.พยายามอ้างว่าการชะลอการเลือกตั้งออกไป 90 วันมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หลายฝ่ายเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะอย่างเมื่อคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ซึ่งแก้ไขเนื้อหา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 อันมีผลให้พรรคการเมืองจะทำกิจกรรมทางการเมืองได้ในเดือน มี.ค.และ เม.ย.

อย่างไรก็ตาม แม้ คสช.จะถูกถล่มจากรอบด้านอย่างไร แต่ คสช.ก็ยังไม่ค่อยนำพาเท่าไหร่นัก ซึ่งทำให้อุณหภูมิการเมืองไม่มีทีท่าจะลดลงแต่อย่างใด

ล่าสุด คสช.อาจต้องกลับลำภายหลังโลก ทั้ง "สหรัฐและยุโรป" เริ่มชายตามองกลับการเล่นแร่แปรธาตุของผู้มีอำนาจในประเทศไทย

จิลเลียน บอนนาร์โดซ์ โฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย แสดงจุดยืนว่า "จุดยืนของสหรัฐต่อการจัดการเลือกตั้งของประเทศไทยยังไม่เปลี่ยนแปลง โดยสหรัฐยินดีที่นายกรัฐมนตรีได้แสดงพันธกรณีต่อสาธารณชนในการที่จะจัดการเลือกตั้ง สส.ขึ้นไม่เกินเดือน พ.ย. 2561"

เช่นเดียวกับ เปียร์กา ตาปิโอลา เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ส่งสัญญาณว่า "เราเข้าใจว่ายังคงเป็นไปได้ที่จะมีการจัดการเลือกตั้งภายในเดือน พ.ย. 2561 และส่งเสริมให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายให้ความเคารพต่อโรดแมปเพื่อกลับคืนสู่ประชาธิปไตยในประเทศไทยที่ได้ประกาศไปก่อนหน้านี้"

เสียงของคนไทยอาจไม่ดังเท่ากับมหาอำนาจ เพราะแน่นอนว่าเศรษฐกิจของไทยยังคงต้องพึ่งพา ต่างประเทศพอสมควร ดังนั้น เมื่อโลกเตือนไทย ย่อมเป็นเสียงสำคัญที่ผู้มีอำนาจในไทยต้องรับฟัง มิเช่นนั้นแล้วอาจได้ไม่คุ้มเสีย

บางทีเมื่อโลกเตือนไทย คสช.อาจหาทางลงเพื่อให้การเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

วิธีการที่พอจะทำได้ คือ การชะลอการทำไพรมารีโหวตออกไปก่อน

การทำไพรมารีโหวตตามกฎหมายพรรคการเมืองมีกระบวนการค่อนข้างยุ่งยาก เพราะต้องมีสมาชิกพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมือง ยิ่งไปกว่านั้นหากเขตเลือกตั้งไหนไม่ได้ดำเนินการทำไพรมา รีโหวต จะมีผลให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งในเขตนั้นได้

เท่ากับว่าพรรคการเมืองใหม่และพรรคการเมืองเก่า หรือแม้แต่พรรคทหารที่อาจตั้งขึ้นมาใหม่ย่อมตกที่นั่งลำบากไม่แพ้กัน เนื่องจากถูกบีบรัดด้วยเวลา

ดังนั้น การใช้มาตรา 44 เพื่อเลื่อนการทำไพรมารีโหวตออกไปก่อน ย่อมเป็นทางออกที่ดีกับทุกฝ่าย โดยนอกจากจะทำให้ปลดภาระการเมืองให้กับพรรคการเมืองลงไปได้ระดับหนึ่ง อีกทั้งช่วยให้การจัดการเลือกตั้งสามารถดำเนินการได้เร็วขึ้นและไม่ถูกเลื่อนออกไปเป็นต้นปี 2562 จนเป็นเงื่อนไขในทางการเมือง

เรียกได้ว่าวิน-วินทุกฝ่าย คสช.ได้หน้า ส่วนพรรคการเมืองได้เลือกตั้ง n