posttoday

แยกกันเดินร่วมกันตี ล้มคำสั่งคสช.?

19 มกราคม 2561

ไม่บ่อยครั้งที่สองขั้วขัดแย้ง "เพื่อไทย" และ "ประชาธิปัตย์" จะคิดอ่านไปทางเดียวกัน

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ไม่บ่อยครั้งที่สองขั้วขัดแย้ง "เพื่อไทย" และ "ประชาธิปัตย์" จะคิดอ่านไปทางเดียวกัน แม้จะไม่ได้ร่วมเคลื่อนไหวด้วยกันแต่ก็เปิดหน้าประกาศตัวชัดเจนว่าเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน

ชนวนมาจากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 เข้าไปแก้ไขเนื้อหา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ให้พรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่ได้ดำเนินการตามกรอบเวลา 3 ระดับ

เริ่มตั้งแต่วันประกาศคำสั่งจนถึงวันที่ 1 มี.ค. 2561 ระดับที่ 2 จากวันที่ 1 มี.ค. 2561 ไปจนถึง 1 เม.ย. 2561 และระดับที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.เป็นต้นไป และหลังจากนั้นจะมีการปลดล็อกพรรคการเมือง โดยจะยกเลิกประกาศ คสช.และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการเลือกตั้งโดยเสรี

จากก่อนหน้านี้พรรคการเมืองต่างออกมาเรียกร้องให้ คสช.ปลดล็อก คำสั่งให้พรรคการเมืองสามารถเคลื่อนไหว ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ อันจะเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้งในระบบใหม่

คำสั่งใหม่กำหนดใหม่วันที่ 1 มี.ค. 2561 สามารถเริ่มจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมือง 1 เม.ย. 2561 แต่ละพรรคการเมืองต้องยืนยันสถานะสมาชิกพรรค พร้อมจ่ายค่าบำรุงพรรคภายใน 30 วัน รวมทั้งเรื่องทุนประเดิม พรรคละ 1 ล้านบาท หาสมาชิกพร้อมค่าบำรุงพรรคไม่น้อยกว่า 500 คน ภายใน 180 วัน

กรอบกำหนดสุดท้าย ให้พรรคการเมืองจัดประชุมใหญ่ ปรับโครงสร้างบุคคลและข้อบังคับ จัดตั้งสาขาและตัวแทนประจำจังหวัด ภาคละ 1 สาขา ภายใน 90 วัน นับแต่ประกาศปลดล็อกพรรคการเมือง

ทว่าทั้งประชาธิปัตย์และเพื่อไทยต่างเห็นว่าคำสั่ง คสช.ดังกล่าว มีปัญหาและสร้างความไม่เสมอภาคระหว่างพรรคเก่า กับพรรคใหม่ ในการแข่งขันตามระบบใหม่

นำมาสู่การที่สองพรรคใหญ่เตรียมยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคำสั่งดังกล่าวว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของสมาชิกพรรคและพรรคการเมืองหรือไม่

พรรคเพื่อไทยเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญและผู้ตรวจการแผ่นดินให้พิจารณาคำสั่ง 53/2560 ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบมาตรา 5 หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่า มีความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญใน หลายประการ

ทั้งประเด็น คำสั่ง คสช.แก้ไขกฎหมาย เป็นการลบล้างกระบวนการตรากฎหมายตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งหัวหน้า คสช.เป็นเพียงผู้ได้รับอำนาจมาจากรัฐธรรมนูญไม่อาจใช้อำนาจ ที่ขัดหรือแย้งหรือนอกเหนือไปจากที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ได้

การที่หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจโดยไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้และใช้อำนาจซึ่งเป็นขององค์กรอื่น อันไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 131 และมาตรา 132 จึงเป็นการกระทำโดยที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจไว้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสอง (2)

การออกคำสั่งที่มีผลเป็นการลบล้างสมาชิกภาพของสมาชิกพรรคการเมือง มิใช่การออกกฎหมายจำกัดสิทธิเท่านั้น แต่เป็นการยกเลิกสิทธิของการเป็นสมาชิกพรรค จึงกระทบต่อสาระสำคัญของสิทธิเสรีภาพของบุคคล และเป็นการออกกฎหมาย ที่มีผลย้อนหลังเป็นโทษแก่บุคคล จึงขัดต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคแรก

ด้าน "ประชาธิปัตย์" เตรียมยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ภายในสัปดาห์นี้ โดย จะสรุปอีกครั้งว่าจะยื่นในนามหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หรือเป็นการยื่น ของสมาชิกพรรค เพราะได้รับผล กระทบทั้งคู่

ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวสร้างความเสียหาย ทำให้มีภาระเกินสมควรแก่เหตุจากกรณีให้สมาชิกพรรคต้องยืนยันความเป็นสมาชิกต่อหัวหน้าพรรคภายใน 30 วัน รวมทั้งมีความแตกต่างระหว่างพรรคเก่ากับพรรคใหม่

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การแจ้งเรื่องราวให้แก่สมาชิกจำนวน 3 ล้านกว่าคน ภายใน 30 วัน ถือเป็นภาระเกินจำเป็นของหัวหน้าพรรคด้วย อีกทั้งการแสดงหลักฐานบังคับใช้แต่กับพรรคการเมืองเก่า แต่สำหรับพรรคการเมืองใหม่ไม่ต้องแสดงหลักฐานใดๆ เลย

แม้การเคลื่อนไหวที่สอดประสานของสองพรรคใหญ่ จะไม่ได้หมายความว่าอนาคตทั้งสองพรรคใหญ่จะสามารถจับมือทางการเมือง อย่างที่หลายฝ่ายเสนอเพื่อสกัดการกลับมาของ คสช.หลังเลือกตั้ง

แต่ท่าทีของทั้งสองพรรคใหญ่ที่เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันรอบนี้ ถือเป็นการประสานกำลังเปิดหน้าชนกับ คสช.โดยตรง หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศตัวเป็นนักการเมือง ในวันที่เสียงเชียร์ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

คสช.จึงกลายเป็นโจทก์ร่วมและ คู่แข่งคนสำคัญของทั้งประชาธิปัตย์และเพื่อไทย

เมื่อทั้งสองพรรคใหญ่เริ่มเห็นแล้วว่าด้วย สถานะ อำนาจพิเศษ ของ คสช. สร้างความเสียเปรียบให้พรรคการเมืองอย่างมาก ดังจะเห็นว่าเริ่มมีหลายฝ่ายออกมาดักคอไม่ให้ คสช.ใช้อำนาจพิเศษที่จะทำให้พรรคการเมืองเสียเปรียบ และยัง สุ่มเสี่ยงที่ คสช.จะเข้าข่ายกฎหมายเลือกตั้ง

ทิศทางการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองนับจากนี้จึงอาจเห็นภาพการประสานเสียงพาดพิงมายัง คสช. อันจะยิ่งสร้างแรงกดดันและฉุดความเชื่อมั่น คสช.ให้ลดลงเรื่อยๆ