posttoday

ส่องปมกฎหมายกกต. ท้าทายก่อนเลือกตั้ง

22 กันยายน 2560

ปรากฏต่อทุกสายตาเป็นที่เรียบร้อย สำหรับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560ทำให้บรรยากาศการเมืองจากนี้มุ่งหน้าไปสู่ถนนการเลือกตั้ง

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

ปรากฏต่อทุกสายตาเป็นที่เรียบร้อย สำหรับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา ทำให้บรรยากาศการเมืองจากนี้มุ่งหน้าไปสู่ถนนการเลือกตั้ง

แม้จะยังมีความไม่แน่นอนใน ส่วนวันเวลาชัดเจนว่าจะเกิดการ เลือกตั้งเมื่อใด แต่อยู่ภายใต้โรดแมปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัญญาประชาคม ทว่าเสียงท้วงติงก่อนหน้าถึงปัญหากฎหมายลูกที่จะตามมาใน 6 ประเด็นสำคัญ

มาตรา 11 วรรคสาม การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ ผู้เป็นกรรมการสรรหา กกต. ว่า ให้ คัดเลือกบุคคลซึ่งมีความเป็นกลาง ซื่อสัตย์ สุจริต มีความเข้าใจภารกิจของ กกต. ไม่มีพฤติกรรมยอมตนอยู่ใต้อาณัติพรรคการเมืองใด ซึ่งถือว่าเขียนเกินกว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 203 ประกอบมาตรา 201 และมาตรา 202 บัญญัติไว้

มาตรา 12 วรรคหนึ่ง กำหนดเพิ่มเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ กกต. ว่า บุคคลที่จะเป็น กกต. ต้องไม่มีพฤติการณ์ยอมตนอยู่ใต้อาณัติพรรคการเมืองใดๆ รวมทั้งมีทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลสำเร็จ ซึ่งเขียนเกินกว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 203 วรรคท้าย ประกอบ 206 และ 222 บัญญัติไว้

มาตรา 26 บัญญัติให้ กกต. คนเดียวหากพบเห็นการกระทำเข้าข่ายทุจริตสามารถสั่งระงับ ยับยั้ง การเลือกตั้งในหน่วยหรือเขตเลือกตั้งนั้นได้ และให้รายงานต่อ กกต.ทราบโดยเร็ว ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 224 วรรคสาม บัญญัติให้เรื่องนี้ กกต.คนเดียวมีอำนาจเด็ดขาดดำเนินการได้โดยไม่ต้องรายงานต่อ กกต.

มาตรา 27 ให้ กกต.มอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจัดการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขณะที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 224 (1) และ (2) บัญญัติให้มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้เอง หรือมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการได้

มาตรา 42 วรรคหนึ่ง ให้ กกต.มอบอำนาจให้เลขาธิการ กกต. หรือพนักงาน กกต. เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจในการสืบสวน สอบสวน ไต่สวน ซึ่งเป็นการเขียนเกินกว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 224 วรรคสอง บัญญัติให้อำนาจนี้เป็นของ กกต.เท่านั้น และมาตรา 70 ที่ให้ กกต.ปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ เห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 3 มาตรา 26 และ 27 ในเรื่องหลักนิติธรรมและหลักนิติประเพณีปฏิบัติมา

ขณะที่ สดศรี สัตยธรรม อดีต กกต. รับผิดชอบงานด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวว่า กฎหมายใหม่ที่ออกมามีหลายส่วนส่งผลต่อการทำงาน กกต. เช่น บัตรเดียว สามารถเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ ซึ่งเรื่องนี้ กกต.ชุดปัจจุบันยอมรับว่ามีปัญหามากในการพิมพ์บัตร

ทั้งนี้ ต้องออกแบบกว่า 300 แบบ ถือว่าสำคัญ เพราะถ้าจัดการเลือกตั้งยังมีปัญหาในเรื่องเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้ง หรือการปฏิบัติงานของ กกต. แม้ กกต. จะออกมาระบุถึงปัญหา แต่ไม่เคยได้รับการโต้ตอบจากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

"ท่านก็ควรจะต้องดูว่าคนที่ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะ กกต.ชุดปัจจุบันพ้นจากหน้าที่และต้องมีชุดใหม่ และ กกต.ชุดนี้ออกมาพูดถึงปัญหาในการปฏิบัติงาน ถือเป็นเรื่องสำคัญ กรธ.เองก็ควรดูและทบทวน ไม่ใช่ต่างเอาชนะกัน คิดว่า กกต.ชุดนี้คงไม่ต้องการชนะอะไรอีกแล้ว เพราะโดนเซตซีโร่หมดแล้ว"

สดศรี ระบุว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่อง กรธ.และผู้มีอำนาจในบ้านเมืองควรจะพิจารณา เมื่อมีการจัดการเลือกตั้งตามโรดแมปในปีหน้า ก็ไม่ควรให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะเหมือนวันที่ 2 ก.พ. 2557 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกตั้งครั้งหน้า กกต.ชุดใหม่ทั้ง 7 คนที่เข้ามาทำงานควรดูแลปัญหาต่างๆ ตาม กกต.ชุดปัจจุบันได้สะท้อนถึงปัญหา และส่วนตัวคิดว่าเมื่อเกิดปัญหาลักษณะนี้ กรธ.ควรจะมาร่วมจัดการเลือกตั้งกับ กกต.ชุดหน้าด้วย

"เพราะท่านเป็นคนเขียนกฎหมายลูก คนเขียนเขียนไปอีกทางหนึ่ง คนปฏิบัติไปอีกทาง มันคงไม่ยุติธรรม นัก จึงควรร่วมรับผิดชอบด้วยกัน คือ กรธ.ชุดนี้ควรร่วมรับผิดชอบกับการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วยหลักเกณฑ์ต่างๆ ถือเป็นเรื่องเกิดขึ้นใหม่ ปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นครั้งหน้าก็จะต้องมีแน่ ดังนั้นผู้ที่ร่างกฎหมายควรต้องมาร่วมรับผิดชอบในการร่างกฎหมายลูกในครั้งนี้ด้วย"

สำหรับอุปสรรคทั้งการลงคะแนนหรือนับคะแนน การคัดค้าน เรื่องควบคุมการพิมพ์ใบ ที่จะต้องไม่ให้เกิดปัญหาการปลอมบัตร เพราะแต่ละพรรคได้เบอร์แตกต่างกันไป ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อมีเสียงท้วงติงก็ต้องรับฟัง เพราะเรื่องนี้สำคัญ กรธ. ต้องฟังและร่วมรับผิดชอบในร่างกฎหมายที่ขึ้นมาด้วยการร่วมเป็นกรรมการในครั้งหน้า ไม่ใช่ปล่อยให้คนอื่นรับผิดชอบ

ส่วนการสรรหาภายใน 90 วัน คงไม่เกินปีนี้ และต้องได้ชุดใหม่เพื่อมาจัดการเลือกตั้ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ก็ยังมีปัญหาว่าจะมีผู้ตรวจการเลือกตั้งตามกฎหมายลูก ซึ่งความรับผิดชอบของผู้ตรวจการเลือกตั้งยังไม่มีความชัดเจน เมื่อผู้ตรวจการดำเนินการและเกิดความขัดแย้งกับ กกต.ทั้ง 7 คน ใครเป็นคนชี้ขาดนอกจากศาล

ฉะนั้น ในเรื่องความวุ่นวายเกิดขึ้น นอกจากมีบุคคลอื่นอาจจะไม่รู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่มาช่วยจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นปัญหาสำคัญ เพราะการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งหน้าเหมือนกับเป็นการยกชุด เพราะการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นไม่มีเลย ถ้าครั้งหน้ามีการควบคุมดูแลจะอยู่ที่ผู้ตรวจการเลือกตั้งทั้งหมด เป็นเรื่องสำคัญว่าการบังคับบัญชาระหว่าง กกต. กับผู้ตรวจการเลือกตั้ง จะเกิดปัญหาใดๆ หรือไม่