สถานการณ์ของประชาธิปัตย์เริ่มมีปัญหา หลังผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน ของสถาบันพระปกเกล้า ในโอกาสครบรอบ 19 ปี พบว่าคะแนนนิยมของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงที่สูงสุด คือ ปี 2553 อยู่ที่ 61.6% และปี 2554 ตกลงมาเหลือ 51.2%
ต่ำกว่าอดีตนายกรัฐมนตรีคนอื่นอย่างมาก ทั้ง ทักษิณ ชินวัตร ได้รับความนิยมถึง 92.9% ในปี 2546 แต่ลดลงมาเหลือ 77.2% ในปี 2549 ก่อนมีการรัฐประหาร
แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่มาจากรัฐประหาร ก็ยังได้คะแนนนิยมที่สูงถึง 87.5% ในปี 2558 ก่อนจะตกลงมาที่ 84.6% และ 84.8% รวมทั้ง อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ยังได้คะแนนนิยม 69.9% ในปี 2555 และตกลงมาเหลือ 63.4% ในปี 2556-2557
ประเด็นนี้ ทาง อภิสิทธิ์ พยายามอธิบายว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบรรยากาศทางการเมืองที่ทำให้คนไม่เชื่อมั่นองค์กรทางการเมืองทั้งหมด แต่พรรคการเมืองต้องหาทางรื้อฟื้นความศรัทธาจากประชาชนให้ได้ โดยจะชัดเจนมากขึ้นหลังพรรคการเมืองทำกิจกรรมได้
พร้อมกันนี้ ยังมองไปถึงแนวทางการฟื้นศรัทธาประชาชนของพรรค ได้มีการจัดลำดับความสำคัญปัญหาที่ประชาชนหวังพึ่งพรรคการเมือง โดยมุ่งที่เรื่องเศรษฐกิจ และการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับประชาธิปัตย์ที่จะกอบกู้คะแนนนิยมให้กลับคืนมา ด้วยหลายปัจจัยทั้งภายในและภายนอกพรรคประชาธิปัตย์เอง
เริ่มตั้งแต่ประเด็นแรก เอกภาพภายในพรรค สืบเนื่องจากปัญหารอยร้าวระหว่าง กปปส.และประชาธิปัตย์ที่ยังไม่สมานกันดี จนอาจกระทบไปถึงผลการเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเกือบจะเป็นพื้นที่ผูกขาดของประชาธิปัตย์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
ดังจะเห็นว่าที่ผ่านมาจุดยืนทางการเมืองของฝั่ง กปปส.และประชาธิปัตย์ หลายเรื่องไม่ได้คิดอ่านไปทางเดียวกัน จนบานปลายไปสู่วิวาทะกระทบกระทั่งของคนกันเอง
ทั้งจุดยืนเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่ กปปส.ประกาศสนับสนุน แต่ประชาธิปัตย์ คัดค้าน หรือจุดยืนเรื่องของสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ของ กปปส.ที่สั่นคลอนจุดยืนความเป็นหัวหน้าพรรคของอภิสิทธิ์เป็นอย่างมาก
ความแตกต่างในแนวคิดและจุดยืนของทั้ง กปปส.และประชาธิปัตย์ ย่อมทำให้ฐานเสียงซึ่งเดิมเป็นฐานเดียวกันต้องแยกย่อยไปสนับสนุนจุดยืนของแต่ละฝั่ง จนอาจเปิดช่องให้คู่แข่งเข้ามาเจาะพื้นที่ได้
ประการต่อมา เรื่องผลงานและแนวนโยบายของประชาธิปัตย์ที่ยังไม่โดนใจประชาชน ทั้งในภาพรวมสมัยเป็นรัฐบาลบริหารประเทศที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายเรื่อง ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ยิ่งซ้ำเติมให้ปัญหาปากท้องค่าครองชีพยิ่งทวีความรุนแรง
ที่สำคัญอีกฐานเสียงที่เป็นจุดแข็งของประชาธิปัตย์ คือ พื้นที่ กทม.ที่ผูกขาดตำแหน่งผู้ว่าราชการ กทม.มาหลายสมัยนั้น แต่ปัญหาจากการบริหารงานและยังพัวพันกับเรื่องความไม่โปร่งใสหลายโครงการ ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร สองสมัยที่ผ่านมา กลายเป็นแรงกดดันรุนแรงย้อนกลับมายังประชาธิปัตย์
ประการสำคัญ คือ เรื่อง “ภาพลักษณ์” และปัญหาเชิงโครงสร้างบริหารภายในพรรคที่เคยมีการเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปพรรคอย่างจริงจัง หลังพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งมาอย่างต่อเนื่อง แต่ผลลัพธ์สุดท้ายก็เดินไปไม่ถึงฝั่งฝัน
ยังไม่รวมกับความพยายามแซะอภิสิทธิ์ พ้นเก้าอี้หัวหน้าพรรคที่มีมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อต้องการให้เกิดการถ่ายเลือดปรับภาพลักษณ์ลงสนามยกใหม่
เมื่อฝั่งตรงข้ามพยายามรื้อฟื้นหยิบยกบาดแผล ตั้งแต่สลายการชุมนุมเสื้อแดงที่มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตจำนวนมาก มาขย่มหลายระลอก ในระหว่างที่คดีความยังอยู่ระหว่างการพิจารณารอการชี้ขาด
ไปจนถึงภาพลักษณ์ของพรรคช่วงที่ผ่านมา ถูกมองว่าเอนเอียงมาอยู่ฝั่งกองทัพและได้ประโยชน์จากรัฐประหาร กลายเป็นอีกจุดอ่อนที่ถูกหยิบยกมาโจมตี
สถานการณ์เหล่านี้ ล้วนแต่ทำให้ประชาธิปัตย์ยังไม่อาจหยิบฉวยโอกาสนี้สร้างความได้เปรียบทางการเมืองให้กับตัวเองในจังหวะที่คู่แข่งกำลังเพลี่ยงพล้ำ