posttoday

คดีจำนำข้าว ยังไม่จบ

25 สิงหาคม 2560

ชี้ขาดวันนี้กับอีกคดีประวัติศาสตร์ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำพิพากษาคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ชี้ขาดวันนี้กับอีกคดีประวัติศาสตร์ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำพิพากษาคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว สร้างความเสียหาย 5 แสนล้านบาท

ตามความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งมีโทษจำคุก 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่น-2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

วันเดียวกับคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำพิพากษาในคดี ทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยมิชอบ ตามที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.​พาณิชย์ และพวก รวม 28 ราย

ท่ามกลางการติดตามรับฟังความคิดเห็นว่าคำพิพากษาจะออกมาอย่างไร เพราะไม่ว่าผลของคดีนี้จะออกมาอย่างไร ย่อมส่งผลกระทบต่อไปถึงทิศทางการเมืองในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม

ดังจะเห็นว่าก่อนหน้านี้เริ่มมีกระแสปลุกมวลชนออกมาให้กำลังใจอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก่อนจะถูกมาตรการสกัดเพื่อป้องกันความวุ่นวายและมือที่สามจ้องก่อเหตุสวมรอยสร้างสถานการณ์เพิ่มเติม

จนล่าสุด อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก ขอให้มวลชนไม่ต้องเดินทางมาให้กำลังใจถึงที่ศาล โดยขอให้ทุกคนให้กำลังใจด้วยการรับฟังข่าวสารอยู่ที่บ้าน

“ดิฉันจึงขอให้ทุกท่านที่ห่วงใย และต้องการให้กำลังใจดิฉัน ไม่ต้องเดินทางมาศาลฯ ในวันพรุ่งนี้ เพื่อความไม่สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาอันไม่คาดคิดจากผู้ที่ไม่หวังดีต่อบ้านเมือง”

แต่ถึงกระนั้นคำพิพากษาที่จะออกมาก็ถูกมองว่าเป็นเพียงแค่ “ยกแรก” เพราะอาจไม่ใช่คำตัดสินที่ถือเป็นที่สุด เพราะตามกระบวนการทางกฎหมายยังเปิดช่องให้มีการอุทธรณ์คำตัดสินของศาลที่จะนำไปสู่การต่อสู้ทางกฎหมายใน “ยกสอง” ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกไม่น้อย

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 กำหนดไว้ในมาตรา 195 เปิดช่องให้สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ​ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

แตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่คำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะอุทธรณ์ได้ก็ต่อเมื่อมีพยานหลักฐานใหม่

การวินิจฉัยอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตามวรรคสี่ ให้ดำเนินการโดยองค์คณะของศาลฎีกา ซึ่งประกอบไปด้วยผู้พิพากษาในศาลฎีกา โดยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา หรือผู้พิพากษาอาวุโส ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่า
ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาไม่เคยพิจารณาคดีนั้นมาก่อน

ดังนั้น ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรย่อมมีความเป็นไปได้สูงที่กระบวนการทางคดีย่อมต้องเดินหน้าไปสู่ “ยกสอง”

ทั้งกรณีที่ศาลตัดสินว่าจำเลยมีความผิดผู้เสียหายย่อมไม่ปล่อยโอกาสอุทธรณ์หลุดลอยไป

ส่วนกรณีที่ศาลยกฟ้องซึ่งทางอัยการสูงสุดในฐานะโจทก์ก็จะต้องพิจารณาว่าจะยื่นอุทธรณ์คดีหรือไม่ และหากไม่ยื่นอุทธรณ์ย่อมต้องมีเหตุผลที่ชี้แจงต่อสังคม ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดแรงกดดันย้อนกลับมายังอัยการสูงสุด

จะมีก็เพียงแต่กรณีที่ศาลตัดสินว่าจำเลยมีความผิดแต่ให้รอลงอาญา ซึ่งไม่รู้ว่าทั้งสองฝั่งจะคิดอ่านอย่างไรกับการอุทธรณ์คดี

ด้านหนึ่งเพราะผลของคำตัดสินทางอาญานี้อาจถูกหยิบยกไปใช้ต่อสู้ในกระบวนการยึดทรัพย์เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเริ่มต้นเดินหน้าไปแล้ว

ก่อนหน้านี้ วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ได้ลงนามในคำสั่งทางปกครองเกี่ยวกับการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวให้ยิ่งลักษณ์ต้องชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น​แก่กระทรวงการคลังเป็นเงิน 35,717,273,028 บาท ภายใน 30 วัน

ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการทางปกครองตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติทางปกครอง พ.ศ. 2539 โดยยิ่งลักษณ์​ได้ร้องศาลปกครองสั่งเพิกถอนคำสั่งของกระทรวงการคลังที่เรียกให้ชดใช้เงินดังกล่าว และทุเลาการบังคับคดีไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ​​ระบุเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2560 ว่า “เข้าใจว่า เวลานี้ยังไม่ถูกเบรกจากศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราว ทำให้กรมบังคับคดีเดินหน้าไปได้ แต่ยังไม่มีอะไรที่จะไปยึด เพราะไม่เจอว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีอะไร”

ทั้งนี้ กรมบังคับคดีได้อายัด และถอนเงินจากบัญชีธนาคาร 5 บัญชี เป็นจำนวนเงินหลักแสนบาท จาก 16 บัญชี ถือเป็นอำนาจตามกฎหมาย เพราะเป็นการยึดตามคำสั่งทางคดีปกครอง

โดยเงินยังอยู่ที่กรมบังคับคดี ยังไม่ส่งเข้าคลัง ส่วนเงินที่เหลืออีก 11 บัญชี ยังไม่มีการแตะต้องใดๆ ​อีกทั้งยังมีบ้าน ที่ดิน คอนโดมิเนียม พบ 37 รายการ กรมบังคับคดีได้ประสานงานกับกรมที่ดินเพื่อขอฟรีซทรัพย์นั้นไว้ เพื่อไม่ให้มีการทำธุรกรรม จำหน่าย โอน ​

เช่นเดียวกับคดีของบุญทรง ที่ถูกใช้คำสั่งทางปกครองติดตามเรียกค่าเสียหาย 1,700 ล้านบาท ​ที่อยู่ระหว่างขอทุเลาคำสั่ง

ทั้งหมดทำให้กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการจำนำข้าวทั้งหมดต้องลากยาวออกไปอีกนาน