posttoday

ลุย ปรองดอง ซื้อเวลา ยื้อเลือกตั้ง

20 มกราคม 2560

เส้นทาง “ปรองดอง” รอบใหม่กำลังส่อเค้ายืดเยื้อบานปลายไม่ต่างจากความพยายามหลายครั้งที่ผ่านมา

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เส้นทาง “ปรองดอง” รอบใหม่กำลังส่อเค้ายืดเยื้อบานปลายไม่ต่างจากความพยายามหลายครั้งที่ผ่านมา​​

แม้ครั้งนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะส่งสัญญาณเอาจริง ผ่านการตั้งคณะกรรม​การบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ปยป.) ที่กำลังเริ่มตั้งไข่เตรียมเดินหน้าทำงาน

ผ่านคณะกรรมการ 4 ชุดย่อย ​ได้แก่ 1.คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ 2.คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ 3.คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง และ 4.คณะกรรมการบริหารราชการเชิงยุทธศาสตร์

แถมวางตัว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มารับผิดชอบเรื่องงานปรองดองเป็นการเฉพาะ

เบื้องต้น แนวคิดเรื่องการสลายความขัดแย้งสร้างความปรองดองดูจะได้รับการขานรับเป็นอย่างดีจากคู่ขัดแย้งแต่ละฝั่ง ถึงขั้นออกประกาศตัวพร้อมให้ความร่วมมือหาทางออกที่หมักหมมมายืดเยื้อยาวนาน 

แต่ทว่านี่เป็นเพียงท่าทีเบื้องต้นที่หากไปดูรายละเอียดของแต่ละฝั่ง จะเห็นว่าล้วนแต่มีเงื่อนไขของตัวเอง ที่ดูจะเป็นอุปสรรคขวางกั้น และทำให้เป้าหมายสู่ความปรองดองดูห่างไกลออกไปเรื่อยๆ 

​แน่นอนว่าปมใหญ่ยังอยู่ที่เรื่อง “นิรโทษ” ที่แต่ละฝ่ายแต่ละสีแต่ละพรรคยังเห็นไม่ตรงกัน ด้านหนึ่งอยากให้ใช้โอกาสนี้ “เซตซีโร่” ลืมอดีตที่ผ่านมาแล้วเดินหน้าเริ่มต้นกันใหม่

​ขณะที่อีกด้านเห็นว่าการล้มกระดานล้างไพ่ใหม่หมด อาจเกิดกระแสต่อต้านที่จะยิ่งสร้างความขัดแย้งมากกว่าสร้างความปรองดอง พร้อมเสนอให้นิรโทษเฉพาะคดีทางการเมืองเกี่ยวกับการชุมนุมที่ทำผิดกฎหมายพิเศษ ส่วนคดีที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญา ทุจริต รวมทั้ง 112 ให้ว่าไปตามกระบวนการ ​หลังจากนั้นจะมีช่องทางอภัยโทษก็ปล่อยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์

วิธีนี้จะทำให้กระบวนการค้นหาข้อเท็จจริงยังดำเนินต่อไป อีกด้านจะทำให้คดีเหล่านี้เป็นกรณีตัวอย่างสกัดไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงคล้ายกับที่ผ่านมาในอนาคต

ปมนี้เป็นชนวนร้อนที่ยากจะหาข้อสรุปที่ลงตัวและเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย

​ที่ผ่านมา ความพยายามแก้ปัญหาสลายความขัดแย้งจึงไม่อาจเดินหน้าไปจนสุดทาง การดำเนินการของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาส่วนใหญ่จึงจบลงที่รายงานเล่มหนาสรุปตั้งแต่ที่มาปัญหา จนถึงแนวทางแก้ไขปัญหาหลายแนวทาง ที่ไม่เคยนำไปสู่การปฏิบัติ​

ไล่มาตั้งแต่​คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. ที่มี คณิต ณ นคร เป็นประธาน เรื่อยมาจนถึงศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป หรือ ศปป. ที่มี พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผช.เสธ.ทบ. ตำแหน่งขณะนั้น เป็นผู้อำนวยการ

ก่อนจะมาถึงคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มี เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน ซึ่งได้สรุปแนวทางปรองดอง​ 6 หัวข้อ ประกอบด้วย 1.การสร้างความเข้าใจร่วมของสังคมต่อเหตุความขัดแย้ง

2.การแสวงหาและเผยแพร่ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรง 3.การอำนวยความยุติธรรม การสำนึกรับผิดชอบและการอภัย เช่น การนิรโทษกรรม 4.การเยียวยาดูแลและฟื้นฟู
ผู้ได้รับผลกระทบ 5.การสร้างสภาวะที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกัน และ 6.มาตรการป้องกันการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

แม้ครั้งนี้ดูจะคืบหน้าชัดเจนกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ถึงขั้นมีการเตรียมเปิดให้พรรคต่างๆ ร่วมเซ็นเอ็มโอยู ​แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอดเพราะหลายฝ่ายต่างออกมาปฏิเสธและไม่เชื่อว่านี่จะนำไปสู่ความปรองดองได้จริง

ส่วนหนึ่งเพราะยังไม่เห็นรายละเอียดว่าเนื้อหาในเอ็มโอยู หรือสัจวาจา หรือสัญญาประชาคมนั้นจะออกมาอย่างไร ที่สำคัญหลายฝ่ายเชื่อว่าการลงนามจากตัวแทนของฝักฝ่ายต่างๆ นั้นจะเป็นที่ยอมรับหรือเห็นด้วยจากสมาชิกหรือผู้สนับสนุนของฝั่งตัวเอง ที่จะยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งในวงย่อยต่อไปในอนาคต ​

แนวโน้มที่จะหาข้อสรุปร่วมกันจึงไม่ใช่เรื่องง่าย สอดรับกับที่ทาง พล.อ.ประวิตร ออกมาระบุว่าขั้นตอนแรกแค่จะต้องใช้เวลาหารือพูดคุยประมาณ 3 เดือน เพื่อให้ได้ข้อยุติว่าใครต้องการอะไร อย่างไร ปัญหาอยู่ตรงไหน จากนั้นไปว่ากันต่อในขั้นที่ 2 และ 3

เมื่อรวมกับขั้นตอนการสังเคราะห์ข้อมูล นำปัญหา ​ข้อเสนอ ตลอดจนแนวคิดต่างๆ มาประมวลเป็นแนวทางการแก้ปัญหา ​ย่อมต้องใช้เวลานาน

ที่สำคัญแนวทางการสร้างความปรองดองที่เป็นที่ยอมรับด้วยกันทุกฝ่ายนั้น ไม่ใช่หาง่ายๆ แค่เวลานี้แต่ละฝ่ายเริ่มออกมาตั้งการ์ดประกาศเงื่อนไขของตัวเองเรียบร้อย

ไม่แปลกที่เวลานี้จะมีกระแสออกมา “ดักคอ” เส้นทางปรองดองที่กำลังเดินหน้าอาจเป็นเพียงแค่การสร้างความชอบธรรม​ ยื้อเวลาอยู่ในอำนาจต่อไปจนกว่าจะสะสางปัญหาความ
ขัดแย้งได้สำเร็จ

เมื่อรู้อยู่แล้วว่าการหาข้อสรุปที่ทุกฝ่ายยอมรับนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งหากนำมาเป็นเงื่อนไขว่าหากปรองดองไม่สำเร็จจะไม่มีการเลือกตั้งด้วยแล้ว อาจทำให้การเลือกตั้งต้องยื้อเวลาออกไปจากโรดแมป

สอดรับไปกับการหยั่งกระแสสังคมแจงเหตุที่อาจทำให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องการปรับแก้รัฐธรรมนูญฉบับที่มีการลงประชามติ หรือการทำกฎหมายลูก

ยิ่งตราบใดที่ยังไม่สามารถสร้างความปรองดองได้ การเลือกตั้งยิ่งเกิดยากขึ้นไปทุกที