posttoday

ญี่ปุ่นเร่งปรับทัศนคติ ลด‘คาโรชิ’โหมงานจนตาย

15 มกราคม 2560

ญี่ปุ่นเป็นชาติที่ขึ้นชื่อว่าขยันทำงานหนักมากที่สุดชาติหนึ่งในโลก จนบางครั้งก็มากเกินไปจนเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรม

โดย...ชญานิศ ส่งเสริมสวัสดิ์

ญี่ปุ่นเป็นชาติที่ขึ้นชื่อว่าขยันทำงานหนักมากที่สุดชาติหนึ่งในโลก จนบางครั้งก็มากเกินไปจนเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรม เช่น การฆ่าตัวตายของพนักงานสาวบริษัท เดนท์สุ เอเยนซีโฆษณาที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น หลังต้องทำงานล่วงเวลามากกว่า 100 ชั่วโมง/เดือน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศที่มีวัฒนธรรมการทำงานหนักอย่างแดนอาทิตย์อุทัย นำไปสู่ความพยายามปฏิรูปลดชั่วโมงการทำงานของประชาชน

“ญี่ปุ่นมีปัญหาที่ฝังรากลึกในด้านการทำงาน ไม่ใช่เพียงแค่เดนท์สุเท่านั้น แต่บริษัทอื่นๆ ด้วย” ฮิโรชิ คาวาฮิโตะ ทนายที่ปรึกษาครอบครัวของพนักงานสาวแห่งเดนท์สุ กล่าว

หนังสือพิมพ์ไฟแนนซ์เชียลไทมส์ ระบุว่า ที่ญี่ปุ่นมีศัพท์คำว่า “คาโรชิ” หรือโรคทำงานหนักจนถึงขั้นเสียชีวิต โดยชาวญี่ปุ่นที่เสียชีวิตจากภาวะดังกล่าวอาจสูงถึงมากกว่า 200 คนในแต่ละปี ท่ามกลางวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่รับมาตั้งแต่สมัยสร้างชาติในช่วงปี 1980 หลังภาวะสงคราม และต้องการผลักดันประเทศ มาจนถึงในยุคที่ญี่ปุ่นเผชิญกับภาวะเงินฝืดมาตลอด 2 ทศวรรษ ซึ่งชาวญี่ปุ่นต้องทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องหน้าที่การงานเอาไว้


ญี่ปุ่นปฏิรูปชั่วโมงทำงาน

รัฐบาลญี่ปุ่นลดการจำกัดเวลาการทำงานล่วงเวลาลงจากเดิมที่อนุญาตให้ไม่เกิน 100 ชั่วโมง/เดือน เหลือ 80 ชั่วโมง/เดือน หากบริษัทรายใดฝ่าฝืนจะต้องรายงานกับกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นจะเริ่มใช้โครงการ “ศุกร์พรีเมียม” เริ่มต้นในวันที่ 24 ก.พ.นี้ โดยจะให้พนักงานได้เลิกงานในช่วง 15.00 น. ซึ่งเร็วกว่าเวลาเลิกงานปกติ 2 ชั่วโมง ในช่วงวันศุกร์สุดท้ายของเดือน เพื่อให้พนักงานได้มีเวลาผ่อนคลาย ขณะที่ภาคเอกชนหลายแห่งเริ่มขยับเพื่อรับนโยบายของรัฐบาล

บลูมเบิร์ก ยกตัวอย่างซันโตรีโฮลดิงส์ ผู้ผลิตเบียร์ชื่อดังที่ขยายโครงการอนุญาตให้พนักงานสามารถทำงานจากบ้าน เช่นเดียวกับยาฮู เจแปนที่อนุญาตให้พนักงานทำงานจากบ้านได้ 5 ครั้ง/เดือน และพิจารณาเพิ่มวันหยุดเป็น 3 วัน/สัปดาห์ ภายในปี 2020 ขณะที่เจแปน โพสต์ อินชัวรันส์ จะปิดไฟอาคารสำนักงานเพื่อให้พนักงานทุกคนกลับบ้านให้หมดในเวลา 19.30 น. 


หนทางยังอีกยาวไกล

แม้สังคมจะตื่นตัวกับเรื่องนี้มากขึ้น ทว่าเป้าหมายการลดชั่วโมงการทำงานของญี่ปุ่นยังต้องเผชิญอุปสรรคอีกมาก โดยเฉพาะในเรื่องวัฒนธรรมและแนวคิดที่ฝังรากลึกมายาวนาน โดยสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น เปิดเผยว่า มีเอกชนเพียง 1,300 แห่งเท่านั้นที่ลงทะเบียนในโครงการรณรงค์ “ศุกร์พรีเมียม” เมื่อเทียบกับจำนวนบริษัทมากกว่า 2.5 ล้านแห่งทั่วญี่ปุ่น

“ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่คิดว่าการทำงานหลายชั่วโมงเป็นความถูกต้อง แต่พวกเราต้องมุ่งให้ความสนใจในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในชั่วโมงที่จำกัดเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต” คาซึนาริ ทามากิ ทนายผู้เชี่ยวชาญคดีความ“คาโรชิ” เปิดเผยกับสำนักข่าวเกียวโด

อย่างไรก็ตาม โยชิฮิเดะ ซูงะ โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่น เปิดเผยว่า รัฐบาลกำลังพยายามเปลี่ยนแนวคิดของภาคเอกชน และเร่งภาคเอกชนให้ยืดหยุ่นมากขึ้น และญี่ปุ่นจำเป็นต้องยุติการทำงานหนักหลายชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้สามารถสร้างสมดุลได้ระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต ท่ามกลางจำนวนประชากรที่ลดลงต่อเนื่อง

“ญี่ปุ่นต้องยุติบรรทัดฐานการทำงานยาวนาน เพื่อให้ผู้คนสามารถบาลานซ์การใช้ชีวิตในหลายสิ่งอย่างการเลี้ยงดูบุตรหลาน และดูแลผู้สูงอายุ” ซูงะ กล่าว


สอดรับนโยบายอาเบะ

การลดชั่วโมงทำงานมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มเวลาในการสันทนาการ ซึ่งรวมถึงการจับจ่ายใช้สอยเช่นกัน โดยโทชิฮิโระ นากาฮามะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไดอิจิ ไลฟ์ รีเสิร์ช ในกรุงโตเกียว คาดการณ์ว่า หากพนักงานมีเวลามากขึ้นจาก “ศุกร์พรีเมียม” จะช่วยให้การจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น 1.24 แสนล้านเยน (ราว 3.7 หมื่นล้านบาท) ในทุกศุกร์สุดท้ายของทุกเดือน

ความพยายามลดชั่วโมงการทำงานของประชาชนลง ยังสอดรับกับศรดอกที่สามในนโยบาย “อาเบะโนมิกส์” หรือนโยบายเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่น ประกอบไปด้วยการใช้การเงินและการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งต้องเร่งให้ทันก่อนที่ญี่ปุ่นจะมีปัญหาตลาดแรงงานไปมากกว่านี้ หลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากกว่าชาติใดในโลก

โนมูระ ระบุว่า แม้จะทำให้ผลผลิตของพนักงานลดลง แต่ก็จะช่วยให้ศักยภาพการผลิตปรับตัวดีขึ้นในอนาคต รวมถึงยังเป็นส่วนเสริมช่วยให้อัตราการเกิดปรับขึ้นอีกด้วย หลังญี่ปุ่นประสบปัญหาประชากรเกิดใหม่ลดลง

ทั้งนี้ นิกเกอิบิซิเนสเดลี เปิดเผยว่า เมื่อเทียบกับสถิติของญี่ปุ่นเมื่อปี 1949 ที่มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ถึงเกือบ 2.7 ล้านคน จำนวนเด็กเกิดใหม่ในปี 2016 ที่ผ่านมา อาจลดลงต่ำกว่า 1 ล้านคนเป็นครั้งแรก โดยคาดว่าอยู่ที่ระหว่าง 9.8-9.9 แสนคนเท่านั้น

ภาพ เอเอฟพี