โดย...ทีมข่าวการเมือง
29 ส.ค. นับได้ว่าเป็นวันสำคัญทางการเมืองระดับหนึ่ง เนื่องจากเป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) และสมาชิกสภาเขต (สข.)
ย้อนดูสถิติที่ผ่านมาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2549 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์ พรรคฝ่ายค้านในเวลานั้นกลับได้รับชัยชนะไปอย่างงดงาม โดยจำนวนเก้าอี้ สก. ทั้ง 57 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ได้ไปถึง 36 คน ไทยรักไทย 17 คน และกลุ่มอิสระอีก 4 คน
มาถึงปี 2553 มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของการเลือกตั้งเล็กน้อย อันมีผลมาจากประชากรในพื้นที่กรุงเทพฯ สูงมากขึ้น ทำให้ปีนี้มีเก้าอี้ สก.ให้ชิงชัยถึง 61 ที่นั่ง จาก 50 เขตทั่วกรุงเทพมหานคร (กทม.) ส่วน สข.มีได้ 256 คน
ด้วยจำนวนเก้าอี้ที่เพิ่มมากขึ้นย่อมมีผลให้การเลือกตั้งเข้มข้นสูงขึ้นเป็นลำดับ
ที่สำคัญ คือ การเลือกตั้งท้องถิ่นในพื้นที่เมืองหลวงประเทศไทยครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ กทม. เพิ่งผ่านเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองเมื่อไม่นานมานี้
แน่นอนว่าสนามเลือกตั้งรอบนี้เป็นการแข่งขันของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ + พรรคการเมืองน้องใหม่ คือ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะแชมป์เก่า พรรคเพื่อไทย ผู้ท้าชิง และ พรรคการเมืองใหม่ ซึ่งตั้งเป้าหมายจะใช้สนามเล็ก กทม. ชิมลางก่อนสู้ศึกเลือกตั้งใหญ่
มาดูความพร้อมในตอนนี้ต้องยกให้กับ “ประชาธิปัตย์” เพราะได้เปรียบแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น รัฐบาลก็เป็นของประชาธิปัตย์ ผู้ว่าฯ กทม. ก็ของประชาธิปัตย์ แถมยังมี สส. ใน กทม. 30 คน ตรงกันข้ามกับ พรรคเพื่อไทย มี สส.กทม. เพียง 6 คน ส่วนองค์ประกอบอื่นๆ ไม่ต้องพูดถึง เพราะพรรคมีสถานะเป็นเพียงพรรคฝ่ายค้าน ความได้เปรียบหรือการสร้างกระแสย่อมสู้กับประชาธิปัตย์ลำบาก
ไม่เพียงเท่านี้ รอยด่างสำคัญของพรรคเพื่อไทยที่จะทำให้แพ้ประชาธิปัตย์คงหนีไม่พ้นความสัมพันธ์ระหว่างพรรคกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นมาแล้วเมื่อการเลือกตั้งซ่อม สส.กทม. เพราะพรรคเพื่อไทยที่ส่ง “ก่อแก้ว พิกุลทอง” ผู้ต้องหาในคดีก่อการร้าย ต้องแพ้ให้กับ “พนิช วิกิตเศรษฐ์” ของประชาธิปัตย์
ความพ่ายแพ้ในครั้งนั้นกลายเป็นจุดสำคัญที่ทำให้พรรคเพื่อไทยเปลี่ยนแนวทางในการหาเสียงเลือกตั้งรอบนี้ ด้วยการลดทอนวาระของคนเสื้อแดงลง แต่แทนที่ด้วยการชูประเด็น “ตรวจสอบถ่วงดุล” การทำงานของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.จากประชาธิปัตย์ โดยหวังว่าจะใช้เป็นจุดขายของพรรคในการโกยเก้าอี้เข้าสภาเสาชิงช้า เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจก่อนลุยศึกเลือกตั้งใหญ่ของประเทศในปีหน้า พร้อมกับเป็นการถอนแค้นจากการเลือกตั้งซ่อม สส.กทม.ไปในตัว
การเลือกตั้งสนามเล็กรอบนี้มีความสำคัญกับ “พรรคเพื่อไทย” เป็นอย่างมาก เพราะสถานการณ์ภายในพรรคกำลังเกิดคลื่นใต้น้ำค่อนข้างมาก
สังเกตได้จากการออกเสียงโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ที่เริ่มปรากฏว่า สส.งูเห่าอีก 12 รายออกมา ดังนั้นหากให้พรรคเพื่อไทยจมอยู่กับความพ่ายแพ้ต่อไปเรื่อยๆ แบบนี้ ย่อมจะส่งผลต่อศึกใหญ่อย่างแน่นอน
ส่วน “พรรคประชาธิปัตย์” ไม่ยอมน้อยหน้าด้วยการใช้จุดขายอ้อนขอให้เลือก สก. และ สข. ของพรรค เพื่อให้การบริหารงาน กทม. ระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติของ กทม. เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งจะช่วยให้การแก้ไขปัญหาทำได้อย่างรวดเร็วและทันสถานการณ์ภายใต้คำว่า “ทั้งชีวิตเราดูแล แก้เรื่องใหญ่อย่างยั่งยืน และร่วมกันเราทำได้”
รอบนี้ประชาธิปัตย์หมายมั่นปั้นมือเอาไว้ว่าต้องรักษาฐานของตัวเองเอาไว้ให้ได้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้สร้างอำนาจเบ็ดเสร็จบนพื้นที่ศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองของ กทม. นัยหนึ่งย่อมเป็นการประกาศให้เห็นว่าประชาธิปัตย์เป็นสินค้าดีในตลาดการเมืองซึ่งจะช่วยสร้างอิทธิพลทางจิตวิทยาให้กับพื้นที่อื่นๆ ด้วย
ขณะที่ “พรรคการเมืองใหม่” ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย น่าจะลำบากกว่าใครเพื่อน เพราะเป็นพรรคการเมืองน้องใหม่ ส่งผลให้การทำงานหนักเพื่อเรียกคะแนนความนิยมต้องเหนื่อยกว่าอีกสองพรรคที่เหลือ เริ่มตั้งแต่ต้องสร้างคำว่าพรรคการเมืองใหม่ให้ติดหูคนเมืองหลวง แต่โจทย์ที่ต้องแก้ให้ได้ คือ ความสัมพันธ์ของพรรคกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)
อย่าลืมปรากฏการณ์ต่อต้าน “ทักษิณ” หรือ “นอมินีทักษิณ” ไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่เรียกว่า “คนรักเท่าผืนหนังคนชังเท่าผืนเสื่อ” มีคนที่ไม่เห็นด้วยและเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของกลุ่ม พธม. ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการปิดสนามบินสุวรรณภูมิที่ได้สร้างความเสียหายกับประเทศค่อนข้างมาก
ในเมื่อการสู้ในสนามการเมืองนอกสภากำลังแปรเปลี่ยนมาสู่สนามในสภาเสาชิงช้า ย่อมไม่ง่ายกับการปิดสนามบินอย่างแน่นอน เพราะพรรคการเมืองใหม่จะรู้ได้อย่างไรว่าฐานมวลชนคนเสื้อเหลืองใน กทม. จะเทคะแนนให้กับผู้สมัครของพรรคการเมืองใหม่ ส่งผลให้พรรคการเมืองใหม่เลือกที่จะส่งผู้สมัคร สก. เพียง 40 คนเท่านั้น
ขณะเดียวกัน โครงสร้างของกลุ่ม พธม. ตอนนี้เองก็ยังเริ่มกระจัดกระจายหลังจากแกนนำกลุ่ม พธม. มีความเห็นไม่ลงรอยกันค่อนข้างสูง นับตั้งแต่การถอนตัวในการเป็นผู้สมัครเลือกตั้งซ่อม สส.กทม.เขต 6 ของ พล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ ทั้งๆ ที่มีการวางตัวเอาไว้ตั้งแต่แรก
ใช่ว่าพรรคการเมืองใหม่จะไร้ซึ่งการมี สก. และ สข. มาประดับสภาเสาชิงช้า ดูจากสถิติปี 2549 สนามเล็ก กทม. ไม่ได้ผูกขาดเฉพาะสองพรรคการเมืองใหญ่เสียทีเดียว เพราะมีผู้สมัครในนามอิสระได้มาถึง 4 คน
นั่นแสดงให้เห็นถึงโอกาสของพรรคทางเลือกที่สามอยู่บ้าง
ดังนั้น ในภาพสนามการเมือง กทม.ครั้งนี้ จะเป็นการชิงชัยครั้งสำคัญของ 3 พรรคการเมือง บนความหมายที่แตกต่างกัน
พรรคประชาธิปัตย์ ต้องการใช้โอกาสนี้สร้างปรากฏการณ์ชัยชนะถล่มทลายเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจสำหรับการเลือกตั้งใหญ่ พร้อมกับเป็นการตอกย้ำภาพความล้มเหลวของพรรคเพื่อไทยในฐานะที่เกี่ยวกับเสื้อแดง
ด้านพรรคเพื่อไทยก็ต้องพยายามโกยคะแนนให้มากที่สุดเพื่อล้างข้อหาดังกล่าว ขณะที่พรรคการเมืองใหม่ต้องการหาเวทีแจ้งเกิดให้กับตัวเองก่อนลุยศึกเลือกตั้ง สส. ในปีหน้า แต่ทว่ามาถึงนาทีนี้โอกาสมีที่นั่งในเวทีสนามเล็ก กทม.ริบหรี่
ที่สุดแล้วจะเห็นได้ว่าเส้นทางสู่สภาเสาชิงช้า 2553 ได้กลายเป็นสนามประลองกำลังกีฬาสีการเมือง “เหลืองแดง” แต่ใครจะเข้าวินสมหวังและผิดหวัง วันที่ 29 ส.ค.จะเป็นวันเฉลยคำตอบ