posttoday

ปัญหารถติด เศรษฐกิจสูญ 1.1 หมื่นล้าน

10 กันยายน 2559

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ถึงปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ พบว่าคนกรุงเทพฯ ใช้เวลาในการเดินทางนานขึ้น35 นาที/การเดินทาง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ถึงปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ พบว่าคนกรุงเทพฯ ใช้เวลาในการเดินทางนานขึ้น 35 นาที/การเดินทาง

เมื่อนำมาคำนวณเป็นค่าเสียโอกาสทางด้านเวลาที่คนกรุงเทพฯ ต้องรถติดอยู่บนถนน แทนที่จะนำเวลานั้นไปสร้างรายได้ หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จะคิดเป็นเม็ดเงินมูลค่าประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท/ปี หรือเฉลี่ยประมาณ 60 ล้านบาท/วัน ซึ่งเป็นต้นทุนที่ประชากรยอมจ่ายเพื่อแลกกับการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจกรุงเทพฯ

อีกทั้งปัญหาการจรจรที่ติดขัด ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่

1.การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการจัดสรรทรัพยากร (Reallocation) : เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจราจรที่ติดขัด ส่งผลต่อการบิดเบือนการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ จากธุรกิจหนึ่งไปสู่อีกธุรกิจหนึ่ง ตัวอย่างเช่น การหันมาใช้บริการร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด หรือใกล้ที่ทำงานแทนร้านอาหารที่ต้องใช้เวลาในการรอนาน รวมถึงการเปลี่ยนวิธีการเดินทางเป็นการใช้รถไฟฟ้า รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือใช้ทางด่วน การปรับเปลี่ยนทางด้านธุรกิจ เช่น การใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร การซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์ เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรติดขัด  


2.ค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงาน : โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวและรถโดยสารสาธารณะ พบว่าการเดินทางที่ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นในช่วงที่รถติด ทำให้เกิดต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้หากมองในเชิงปัจเจกบุคคล ถือเป็นส่วนที่สูญเสียไปเป็นต้นทุนของผู้ใช้รถที่ต้องจ่ายเอง อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ถึงผลในเชิงเศรษฐกิจโดยภาพรวม หรือผลต่อจีดีพีของประเทศ อาจไม่ได้หายไปทั้งหมด กล่าวคือ สถานการณ์ดังกล่าวอาจมองได้ว่าเป็น Zero-Sum Effect ซึ่งหมายถึงสถานการณ์ที่มีฝ่ายหนึ่งสูญเสีย แต่มีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ได้ประโยชน์ เช่น ประชาชนผู้ใช้รถต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าเชื้อเพลิง แต่ขณะเดียวกันธุรกิจพลังงานก็เป็นฝ่ายที่ได้ประโยชน์ และหากพิจารณาถึงผลเชื่อมโยงต่อไปอีกทอดหนึ่ง เมื่อผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้ยังเท่าเดิม ก็อาจเป็นผลทำให้ผู้บริโภคต้องหันมาประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจอื่น เช่น ธุรกิจค้าปลีก (ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค) ตามมา

3.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด อาทิ รถไฟฟ้า การตัดถนนสายใหม่ หรือการขยายทางด่วนเพิ่มเติม แม้ว่าจะเป็นงบประมาณที่รัฐต้องจ่ายเพิ่ม แต่ถือเป็นการลงทุนที่ก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ที่เป็นประโยชน์ทั้งภาคธุรกิจ อาทิ การก่อสร้าง การจ้างงาน การค้าวัสดุก่อสร้าง รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวตาม ขณะที่ภาคประชาชนเองก็ได้รับความสะดวกในการเดินทางหรือมีทางเลือกในการเดินทางที่หลากหลายมากขึ้น