posttoday

เฉือนเนื้อ ซื้อใจทุกหย่อมหญ้า

05 สิงหาคม 2553

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้คงการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จาก 10% เป็น 7% ต่อไปอีก 2 ปี

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้คงการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จาก 10% เป็น 7% ต่อไปอีก 2 ปี

โดย...ทีมข่าวการเงิน

เฉือนเนื้อ

เฉือนเนื้อ ซื้อใจทุกหย่อมหญ้า

จากเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือน ก.ย. 2553 ไปสิ้นสุดเดือน ก.ย. 2555 ถือเป็นของขวัญชิ้นโบแดงกลางปีให้กับผู้ประกอบการและประชาชนทั้งประเทศ

เพราะก่อนหน้านี้ไม่นานมีข่าวออกมาสร้างภาพลบให้กับรัฐบาลว่า จะมีการปรับโครงสร้างภาษีขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10%

ทำให้รัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ต้องออกมาชิ่งสยบข่าวอย่างแข็งขันดุดันว่าจะไม่มีการปรับในช่วงที่เศรษฐกิจเพิ่งเริ่มฟื้น

และรัฐบาลก็ใช้วิกฤตเป็นโอกาส โดยรีบชิงออกมติ ครม. คงภาษีแวตออกไปอีก 2 ปี แต่เนิ่นๆ เพื่อเป็นการเรียกขวัญและสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการและประชาชน

ที่สำคัญรัฐบาลยังใจถึงประกาศคงภาษียาวถึง 2 ปี มากกว่าอายุของรัฐบาลที่เหลืออีก 1 ปี ถือเป็นการซื้อใจทางการเมืองเพื่อการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในต้นปีหน้า

 ในแง่ของผู้ประกอบการถือว่าเป็นการลดต้นทุนไปในตัว ไม่ต้องเพิ่มราคาสินค้า สามารถทำให้การขยายกิจการในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่สะดุด

ขณะที่ประชาชนตาดำๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้มีรายได้เสียภาษี หรือไม่ต้องเสียภาษี ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐี หรือเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ถือว่าเป็นการเพิ่มเงินในกระเป๋าให้มีมากขึ้น ทำให้การใช้จ่ายของประเทศกระฉับกระเฉง

เพราะการเพิ่มหรือลดภาษีมูลค่าเพิ่มทุกๆ 1% ทำให้การเก็บภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 7 หมื่นล้านบาท

หมายความว่า การคงแวตไว้ 7% เท่าเดิม จะเป็นการเพิ่มเงินในกระเป๋าประชาชนถึง 2 แสนล้านบาท

แต่หากขึ้นแวตเป็น 10% เป็นการดูดเงินในกระเป๋า ส่งผลกระทบไปถึงมาตรการเพิ่มรายได้ที่รัฐบาลจะผลักดันออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการประกันรายได้เกษตรกร หรือแก้หนี้คนจนหมดความหมายทันที

เท่ากับว่าช่วงที่รัฐบาลอัดแคมเปญเพิ่มรายได้ แต่อีกด้านไปขึ้นแวตทำให้คนต้องมีภาระมากขึ้น

 อย่างไรก็ตาม การคงแวตของรัฐบาลก็ต้องเผชิญแรงเสียดทานไม่น้อย ไม่ว่า จะเป็นจากนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย เพราะกลัวรายได้ในระยะยาวจะไม่พอกับรายจ่ายของประเทศที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างมาก

ทั้งรายจ่ายประจำ รายจ่ายงบลงทุน และรายจ่ายโครงการรัฐสวัสดิการต่างๆ ของรัฐบาลที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด

สอดคล้องกับความเห็นกับนักวิชาการอีกหลายคน ที่ได้เสนอให้มีการปรับเพิ่มแวตไปเป็น 10% เพื่อเพิ่มรายได้ของประเทศ และเป็นช่องทางในการลดภาษีรายได้บุคคล หรือนิติบุคคล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ

แต่เสียงคัดค้านดังกล่าว ก็ถูกกระทรวงการคลังแตะเบรกไว้ โดย นายกรณ์ ออกมาแจกแจงดัวยตัวเองว่า การคงแวตไม่กระทบกับรายได้ เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2542 รัฐบาลก็ไม่มีรายได้จากตรงนี้อยู่แล้ว เพราะเก็บภาษีแวตที่อัตรา 7% มาตลอด

นอกจากนี้ รมว.คลัง ยังสายตรงให้ นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ลงมาชี้แจงแถลงไขการคงแวตอีกรอบ โดยกระทรวงการคลังยังยืนยันว่า การคงภาษีอีก 2 ปี เป็นเรื่องที่ได้มากกว่าเสีย เพราะในภาวะเศรษฐกิจที่เพิ่งฟื้นตัวไม่ควรไปเพิ่มภาระให้กับประชาชน ทำให้การใช้จ่ายสะดุด การขยายตัวเศรษฐกิจกระเทือน

แม้ว่าเศรษฐกิจปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวได้ 56% แต่การขยายตัวเศรษฐกิจในปี 2554 จะขยายได้ 4% เท่านั้น ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ลดลง

ดังนั้น หากไปกระตุกเศรษฐกิจโดยการเพิ่มภาษี จะทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้และปีหน้าดิ่งหัวลงได้ คงต้องให้แน่ใจก่อนว่าเศรษฐกิจแข็งแรงเต็มที่ค่อยมาทบทวนอีกครั้ง

นอกจากนี้ หากภาวะเศรษฐกิจนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจในสหรัฐ ยุโรป หรือจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าส่งออกที่สำคัญของไทยมีปัญหารอบใหม่ย่อมส่งผลกระทบการส่งออกของประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การรักษาเครื่องยนต์การบริโภคภายในประเทศ เป็นก๊อกสำรองไว้ โดยการไม่ขึ้นภาษีแวตกระตุกการลงทุน การบริโภค จึงเป็นการกันไว้ดีกว่าขาดของรัฐบาล เพราะหากการส่งออกมีปัญหา ยังมีการบริโภคที่ขยายตัวดีเข้ามาช่วยเสริมให้เศรษฐกิจไม่ทรุดได้

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ตัวช่วยจากรายได้รัฐบาลที่เก็บได้เพิ่มขึ้นจากเป้าจำนวนมหาศาล

โดยในปีงบประมาณ 2553 คาดว่าจะเก็บรายได้สูงกว่าเป้าถึง 3 แสนล้านบาท แม้ว่ารายได้ที่เก็บได้มากส่วนหนึ่งมาจากการยึดทรัพย์อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 4.9 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อตัดส่วนนี้ออกไปแล้ว การเก็บรายได้ของรัฐบาลก็ยังสูงกว่าเป้าถึง 2.5 แสนล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลไม่มีแรงกดดันให้เพิ่มแวต เพื่อเพิ่มรายได้

การเก็บรายได้ที่สูงเกินเป้ายังส่งผลให้การทำงบประมาณแบบขาดดุลของรัฐบาลลดน้อยลง ทำให้การขาดดุลอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง ไม่ได้ส่งผลเสียต่อเสถียรภาพฐานะการเงินการคลัง

อย่างไรก็ดี ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการคงภาษีแวตเป็นตัวล็อก ทำให้การปรับโครงสร้างภาษีของรัฐบาลทำได้ลำบากภายใน 2 ปีต่อจากนี้ ส่งผลให้การลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 25% ก็น่าจะต้องรอออกไปอีก 2 ปี เช่นเดียวกัน

เพราะตามสูตรปรับโครงสร้างภาษีที่ง่ายที่สุด จะต้องมีการปรับภาษีแวตขึ้นไปเป็น 10% เพื่อให้รายได้เข้ามาในรัฐ 2 แสนล้านบาท ชดเชยการลดภาษีนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดาให้น้อยลง

เมื่อไม่มีรายได้แวตเพิ่มขึ้น การลดภาษีก็กลายเป็นหมันไปด้วย

แม้ว่า นายสาธิต จะออกมาแก้ต่างว่า การปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบมีหายแนวทาง ทั้งแนวทางที่ต้องปรับขึ้นภาษี VAT และไม่ต้องปรับขึ้นภาษี VAT แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า แนวทางการไม่ต้องปรับขึ้นภาษี VAT เป็นเรื่องที่ทำได้ยากกว่า การปรับขึ้นภาษี VAT

ลำพังจะอุดรูรั่วภาษี หรือขยายฐานภาษีให้เพิ่มขึ้น จะพบว่า ไม่ได้ส่งให้การเก็บภาษีมากขึ้น เพราะการอุดรูรั่วภาษีเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และการขยายฐานภาษีก็เป็นเรื่องของการเพิ่มปริมาณผู้เสียภาษีเสียมากกว่า แต่ในเรื่องของเม็ดเงินภาษีกลับไม่ได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้ที่ผ่านมารัฐบาลต้องพึ่งอยู่กับฐานภาษีเดิมมากกว่าฐานภาษีใหม่

จากข้อจำกัดการปรับโครงสร้างภาษี ทำให้แวตเป็นตัวชี้เป็นชี้ตายว่าการปรับโครงสร้างภาษีจะมีขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อแวตที่ปลดล็อกขยับเพิ่มขึ้นได้

แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่การเมืองยังไม่มีความแน่นอนจากศึกช่วงชิงอำนาจ ผ่านการเลือกตั้งให้กลับมาได้เป็นรัฐบาลอีกครั้ง ทำให้ภาษีมูลค่าเพิ่มยังตกอยู่ในอาถรรพ์ต่อไป

เพราะไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ไม่กล้าที่จะไปแตะให้ขยับเพิ่มขึ้นให้ส่งผลกระทบกับประชาชน และฐานเสียงทางการเมืองให้เสียเปล่า