posttoday

แผนยุทธศาสตร์ชาติ เพิ่มแรงต้านอีกรอบ

19 กุมภาพันธ์ 2559

กลายเป็นประเด็นใหม่สำหรับมติของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ให้ความเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กลายเป็นประเด็นใหม่สำหรับมติของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ให้ความเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ โดยตามขั้นตอน สปท.จะส่งให้กับคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งมอบให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดำเนินการพิจารณาออกเป็นกฎหมายต่อไป

เนื้อหาของร่างกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการด้านการบริหารราชการแผ่นดินของ สปท.มีทั้งสิ้น 61 มาตรา

โดยกำหนดให้คำว่า ยุทธศาสตร์ชาติ หมายความว่า “แม่บทหลักที่เป็นกรอบกำหนดนโยบายและแผนต่างๆ สำหรับการพัฒนาประเทศ กำหนดทิศทาง เป้าหมาย หรือแนวทางการพัฒนาประเทศ การบริหารราชการแผ่นดิน การจัดสรรงบประมาณ การจัดสรรทรัพยากร และเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาของภาคเอกชน และภาคประชาชน

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน รวมทั้งมีอธิปไตย และเข้มแข็งในภาคประชาคมโลก อย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญครอบคลุมด้านความมั่นคงทางทหาร การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เศรษฐกิจ การเกษตร การอุตสาหกรรม การบริการ การเงิน การคลัง และงบประมาณ พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การผังเมือง สาธารณสุข การคมนาคมและเทคโนโลยีการสื่อสาร สังคม ศิลปะ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี”

เรื่องยุทธศาสตร์ชาติเป็นหนึ่งในประเด็นที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ย้ำมาตลอดว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรมียุทธศาสตร์ชาติ เพื่อกำหนดเป็นเข็มทิศให้กับประเทศไทยอย่างชัดเจน ซึ่งภายหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ ส่งสัญญาณออกมา ปรากฏว่าได้รับการตอบสนองพอสมควร

นอกเหนือไปจากการที่ สปท.ได้เสนอร่างกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติแล้ว คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็ดำเนินการให้ยุทธศาสตร์เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมด้วย ผ่านการให้ยุทธศาสตร์ชาติมีสภาพบังคับอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ ดังที่ปรากฏในมาตรา 157 ของร่างรัฐธรรมนูญ

“คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาซึ่งต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ และต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย โดยไม่มีการลงมติไว้วางใจ ทั้งนี้ภายใน 15 วันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่” เนื้อหาของมาตรา 157

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ร่างกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติที่เขียนเพื่อการพัฒนาประเทศ กลับมีหลายประเด็นที่ก่อให้เกิดคำถามเรื่องความเหมาะสมหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

คณะกรรมการฯ มีจำนวน 25 คน ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ จำนวน 22 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี โดยมีหน้าที่ไปจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้รัฐสภาลงมติเห็นชอบ ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีอำนาจในการติดตามและการประเมินผลด้วย

ทั้งนี้ หากในกรณีที่คณะกรรมการฯ พบว่ายุทธศาสตร์ชาติไม่ได้รับการขับเคลื่อนจากหน่วยงานของรัฐ คณะกรรมการฯ จะมีอำนาจ 4 ประการ ซึ่งบัญญัติอยู่ในมาตรา 77 ของร่างกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ

1.กรณีไม่ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ แต่ยังไม่เกิดความเสียหาย ให้คณะกรรมการฯ แจ้งให้หน่วยงานดังกล่าวปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติให้ถูกต้อง

2.กรณีพบว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ซึ่งทำให้ประเทศชาติเกิดความเสียหายร้ายแรง แต่ไม่ปรากฏว่ามีการทุจริต ให้คณะกรรมการฯ เสนอวุฒิสภาเพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ

3.กรณีพบว่าผู้ใดหรือองค์กรใดของหน่วยงานรัฐไม่ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ซึ่งทำให้ประเทศชาติเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง แต่ไม่ปรากฏการทุจริต ให้คณะกรรมการฯ เสนอคณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป

4.กรณีไม่ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติส่อไปในทางทุจริตหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ให้คณะกรรมการฯ ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

อำนาจตามมาตรา 77 นี่เองที่อาจก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ในอนาคต เพราะกำลังจะเป็นอีกองค์กรหนึ่งที่เข้ามาทำหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีเพิ่มเติม จากเดิมที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับคณะ กรธ.ก็มีหลายมาตราที่ถือไม้เรียวคอยขู่รัฐบาล ถึงขั้นที่ “กษิต ภิรมย์” สมาชิก สปท.ออกมาตั้งข้อสังเกตว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีลักษณะเหมือนกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.)

“อำนาจของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นการบอกว่าคณะกรรมการชุดนี้ไม่ใช่ คปป. ซ่อนรูปถือเป็นการหลอกตัวเอง อีกทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติไม่มีอะไรที่เป็นส่วนร่วมของประชาชนเลย หากแต่เป็นการเสริมอาณาจักรของข้าราชการ” ข้อท้วงติงของอดีต รมว.ต่างประเทศ กลางที่ประชุม สปท. เมื่อวันที่ 16 ก.พ.

ต้องไม่ลืมว่าสถานการณ์ทางการเมืองว่าด้วยการร่างรัฐธรรมนูญที่เผชิญอยู่ทุกวันนี้ก็ถือว่าสาหัสอยู่ไม่น้อย ไม่มีใครตอบว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติ ดังนั้นเมื่อมีอีกประเด็นร้อนอย่างยุทธศาสตร์ชาติเข้ามาผสมโรงด้วย แน่นอนว่าการเมืองในอนาคตย่อมเกิดความเขม็งเกลียวและจะเกี่ยวไปถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้