posttoday

อนาคตลงทุนไทย หลังการเมืองญี่ปุ่นพลิกขั้ว

21 กันยายน 2552

โดย...อรวรรณ จันทร์ธิวัตรกุล

โดย...อรวรรณ จันทร์ธิวัตรกุล

หลังจากที่พรรคประชาธิปไตยแห่งญี่ปุ่นหรือพรรคดีพีเจ ภายใต้การนำของนายยูคิโอะ ฮาโตยามะ ชนะการเลือกตั้งเหนือพรรคเสรีประชาธิปไตยหรือพรรคแอลดีพีของนายทาโร อาโสะ ที่ผูกขาดการครองอำนาจบริหารประเทศมาตลอดระยะเวลา 54 ปี ด้วยการกวาดจำนวนที่นั่งในสภาไปมากถึง 308 ที่นั่ง จากที่นั่งในสภาทั้งหมด 480 ที่นั่ง ขณะที่พรรคแอลดีพีได้ที่นั่งไปเพียง 47 ที่นั่ง

การชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลายครั้งนี้ ส่งผลให้นายยูคิโอะ ฮาโตยามา ผงาดขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่นคนต่อไป ซึ่งการพลิกหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของญี่ปุ่นครั้งสำคัญนี้ จะส่งผลอย่างไรต่อไทยในฐานะที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทย มีสัดส่วนมากสุดเป็นอันดับหนึ่ง และไทยยังเป็นฐานการลงทุนของญี่ปุ่นมากสุดในอาเซียนด้วยเช่นกัน

เพราะภายใต้นโยบายสำคัญที่พรรคดีพีเจ ไปหาเสียงไว้กับประชาชนญี่ปุ่น คือ เน้นเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ ด้วยการสร้างรัฐสวัสดิการให้กับคนญี่ปุ่น ขณะที่นโยบายด้านต่างประเทศยังไม่มีทิศทางออกมาชัดเจนว่าจะดำเนินไปในแนวทางใด

ทิศทางนโยบายดังกล่าวจะส่งผลต่อแผนการดึงดูดนักลงทุนญี่ปุ่นของไทยอย่างไร โดยเฉพาะปีหน้าที่หลายฝ่ายคาดว่าเศรษฐกิจโลกได้ผ่านจุดต่ำสุดและพลิกฟื้นแล้ว
นั่นหมายถึงการลงทุนทั่วโลกจะกลับมาเคลื่อนไหวเป็นปกติอีกครั้ง ในขณะที่สถานการณ์การเมืองภายในประเทศของไทยที่ไม่แน่นอน จะเป็นปัจจัยลบที่ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นขาดความเชื่อมั่นเข้ามาลงทุนในไทยหรือไม่

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายอุตสาหกรรม) สำนักงานที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรม ประจำกรุงโตเกียว กล่าวว่า นโยบายสำคัญที่คาดว่ารัฐบาลพรรคดีพีเจจะเข้ามาเปลี่ยนแปลง คือ ลดอำนาจของข้าราชการลง รวมถึงความสัมพันธ์กับภาคเอกชนจะน้อยลง โดยการกำหนดนโยบายของรัฐบาลใหม่จะมาจากนักการเมืองมากขึ้น

แตกต่างจากนโยบายของพรรคแอลดีพี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเดิมที่ระบบราชการจะแข็งแรง เป็นผู้วางแผนงานของประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจที่มีความแนบแน่นกับพรรคแอลดีพีมาก ดังนั้นนโยบายที่มาจากพรรคแอลดีพีจะเป็นนโยบายที่เกิดมาจากภาคธุรกิจญี่ปุ่นร่วมด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ นโยบายพรรคดีพีเจเชื่อว่าจะเน้นรัฐสวัสดิการตามที่ได้รณรงค์หาเสียงไว้ในหลายประเด็นจนชนะเลือกตั้ง เช่น การให้ประชาชนใช้บริการถนนทางหลวงฟรี เรียนฟรีระดับมัธยม สนับสนุนรายได้ให้แก่เกษตรกร ให้เงินช่วยเหลือแก่ผู้หางาน เพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ การตัดภาษีต่างๆ ลงมา เป็นต้น นั่นคือประเด็นหลักที่รัฐบาลพรรคดีพีเจจะเน้นเป็นสำคัญ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นกลับคืนมา

ขณะที่นโยบายด้านต่างประเทศ แม้จะยังไม่มีการระบุออกมาชัดเจน  แต่สามารถประเมินได้จากทิศทางที่คาดว่ารัฐบาลภายใต้การนำของพรรคดีพีเจจะลดความสำคัญกับสหรัฐอเมริกาน้อยลง ไม่เหมือนกับรัฐบาลชุดเดิมที่ให้ความสำคัญกับสหรัฐมาก

รัฐบาลชุดนี้จะเน้นสร้างความสำคัญกับภูมิภาคเอเชีย เพราะในระหว่างที่พรรคดีพีเจเป็นฝ่ายค้านไม่ค่อยเห็นด้วยกับสหรัฐเหมือนกันที่รัฐบาลเก่าสนับสนุนไว้

การเพิ่มความสัมพันธ์กับภูมิภาคเอเชียมากขึ้น คาดว่าจะส่งผลดีกับไทย ดังนั้นการเพิ่มบทบาทในภูมิภาคเอเชีย ญี่ปุ่นคงไม่ยินยอมให้ประเทศใดเข้ามาลงทุนเป็นอันดับหนึ่งในไทย เพราะญี่ปุ่นมีการลงทุนในไทยเป็นจำนวนมากแล้ว

“เชื่อว่าญี่ปุ่นคงไม่ยอมให้ใครเข้ามาเป็นเบอร์หนึ่งในไทย เพราะธุรกิจของญี่ปุ่นลงทุนไว้เยอะ ดังนั้นความไว้วางใจของคนญี่ปุ่นกับคนไทยมีสูงกว่าประเทศอื่นในอาเซียน การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของญี่ปุ่นคงไม่มีผลกับไทยในแง่ลบ”

นายจุลพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนของญี่ปุ่น เชื่อว่าไทยจะยังเป็นศูนย์กลาง หรือฮับการผลิตสินค้าให้กับญี่ปุ่นในอาเซียน ดังนั้นเชื่อว่าเมื่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นฟื้นตัวคืนมาตามภาวะเศรษฐกิจโลก และการกระตุ้นเม็ดเงินผ่านมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล คาดว่าญี่ปุ่นจะยังคงเลือกไทยเป็นอันดับต้นๆ ในด้านการลงทุน แต่ที่จะมีผลทำให้การลงทุนของญี่ปุ่นชะลอ น่าจะเกิดจากปัจจัยภายในประเทศของไทยเอง โดยสถานการณ์การเมือง เพราะจากการสำรวจความคิดเห็นภาคธุรกิจญี่ปุ่นปี 2552 มองปัจจัยการเมืองเป็นปัจจัยอันดับหนึ่งต่อการเข้ามาลงทุนในไทย

“ต้องแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เข้ามาลงทุนในไทยแล้ว เป็นกลุ่มที่ไม่มีปัญหา เพราะเข้าใจสถานการณ์ในไทยดี แต่สำหรับกลุ่มนักลงทุนใหม่ อาจลังเลต่อการตัดสินใจเข้าลงทุนได้เช่นกัน และไม่ใช่แค่นักลงทุนเท่านั้น แต่นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่ยังไม่เคยมาเมืองไทยก็ลังเลใจในการเดินทางเข้ามาในไทยเช่นกัน”

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ยังทำให้ไทยเป็นประเทศที่น่าเข้ามาลงทุนสำหรับนักลงทุนญี่ปุ่นในปีหน้า คือ ความได้เปรียบด้านโลจิสติกส์ เพราะไทยมีสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำในหลายอุตสาหกรรม รวมถึงการมีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับหลายประเทศ โดยเฉพาะเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) ที่กำลังจะกลายเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในอีก 6 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้อาเซียนเป็นฐานตลาดเดียวกัน หมายถึงญี่ปุ่นสามารถใช้ไทยเป็นฐานผลิต นำเข้าวัตถุดิบราคาถูกจากอาเซียนมาผลิตในไทยได้ และกำลังซื้อภายในประเทศของไทย

“หากเศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับมาฟื้นเหมือนเดิม ก็จะส่งผลดีต่อการลงทุนในไทย ซึ่งเชื่อว่าหลังจากที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้น ไม่เกิน 23 เดือน การลงทุนของญี่ปุ่นในไทยก็จะฟื้นคืนมาเช่นกัน กลุ่มที่คาดว่าจะเข้ามาลงทุนคือสินค้าเกี่ยวข้องด้านพลังงาน สินค้าลดภาวะโลกร้อน อุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น” 

นายโชคดี แก้วแสง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ กรุงโตเกียว กล่าวว่า หากพิจารณาทิศทางการเมืองญี่ปุ่นที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ประเมินว่านโยบายหลักในเรื่องการค้าการลงทุนระหว่างประเทศของสองพรรค คือ พรรคดีพีเจ และพรรคแอลดีพี คงไม่แตกต่างกัน แต่สำหรับนโยบายภายในประเทศแตกต่างกันบ้าง ดังนั้นนโยบายใหม่ของพรรคดีพีเจที่ดำเนินการออกมาจะกระทบกับนโยบายเศรษฐกิจของญี่ปุ่นมากกว่า

ทั้งนี้ ยังเชื่อว่าการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นจะยังคงเหมือนเดิม เพราะปัจจัยที่นักลงทุนญี่ปุ่นจะเข้ามาลงทุนในไทยหรือไม่ ไม่ได้ดูจากนโยบายภายในประเทศญี่ปุ่น แต่จะดูจากปัจจัยความพร้อมและเศรษฐกิจที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศนั้น

เท่าที่สอบถามผู้สื่อข่าวญี่ปุ่น ระบุว่า นโยบายที่มาจากสองพรรคหลัก คงไม่แตกต่างกันมาก คือ เน้นเรื่องการใช้งบประมาณขาดดุล ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลใหม่อาจจะระมัดระวังเรื่องการใช้เงินมากขึ้น

สำหรับนโยบายด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะยังคงยึดกรอบการค้าที่ทำไว้ในระดับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกรอบองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ความร่วมมือหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่น (เจเทปา) ทั้งเรื่องการค้าและการลงทุนก็ยังคงดำเนินต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง เพียงแต่เมื่อพรรคดีพีเจขึ้นมาเป็นรัฐบาล อาจลดระดับความสำคัญกับบางประเทศลงไป โดยเพิ่มความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียมากขึ้น

อย่างไรก็ดี มองว่าสิ่งที่จะกระทบต่อการลงทุนของญี่ปุ่นในไทย จะเป็นเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลกมากกว่า ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน การลงทุนญี่ปุ่นในไทยลดลง 3040% ขณะที่การลงทุนของญี่ปุ่นไปยังประเทศทั่วโลกลดลง 60% เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกล้วนๆ แต่ยังมีสัญญาณที่ดี คือ ญี่ปุ่นยังคงให้ความสนใจไทยเป็นประเทศที่น่าเข้ามาลงทุน ซึ่งพิจารณาจากลูกค้าญี่ปุ่นที่ติดต่อขอข้อมูลกับทางสำนักงานปีนี้เทียบกับปีที่แล้วใกล้เคียงกัน และการจัดสัมมนาเรื่องการลงทุน พบว่ามีนักลงทุนญี่ปุ่นยังคงให้ความสนใจเข้าร่วมงานสัมมนาเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงบรรยากาศการลงทุนไม่ได้ลด ดังนั้นเชื่อว่าเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้น ญี่ปุ่นจะยังคงเลือกไทยเป็นประเทศลำดับต้นที่เข้ามาลงทุน

สำหรับแผนส่งเสริมการลงทุนในปีหน้าของทางสำนักงานฯ รูปแบบกิจกรรมคงไม่เปลี่ยนแปลงไป จะยังเน้นเรื่องการจัดสัมมนาชักชวนให้เข้ามาลงทุน แต่อาจเปลี่ยนแปลงตรงเนื้อหาที่จะสื่อสารกับนักลงทุน เน้นกลุ่มธุรกิจที่ต้องการให้ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ไฟฟ้า อาหาร พลังงานทดแทน และเครื่องจักร ซึ่งเป็นธุรกิจเป้าหมายของไทยและเป็นธุรกิจที่นักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจเข้ามาลงทุน

“กิจกรรมคงเท่าเดิม คือจัดสัมมนาประมาณ 10 ครั้งต่อปี แต่จะเน้นเรื่องเนื้อหาที่จะสื่อสารไป แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว และไทยมีปัจจัยลบคือปัญหาการเมืองภายในประเทศ แต่จะสื่อให้นักลงทุนญี่ปุ่นมองถึงการลงทุนระยะยาวมากกว่าระยะสั้น เพราะหากลังเลตัดสินใจเข้ามาลงทุน และเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นอาจช้าไป และสิ่งที่ตั้งเป้าคงไม่ใช่เรื่องมูลค่าเม็ดเงินเข้ามาลงทุน แต่เป็นอุตสาหกรรมที่ไทยต้องการว่าได้เป้าหมายหรือไม่”

กระนั้นยังไม่สามารถประเมินได้ว่าระดับการลงทุนในปีหน้าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก

นายสันติ ลีละวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ นครโอซากา กล่าวว่า รัฐบาลใหม่ของญี่ปุ่นเน้นเรื่องแก้ไขปัญหาภายในประเทศเป็นหลัก เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่นและการแก้ไขปัญหาสังคม

ส่วนเรื่องนโยบายต่างประเทศ ที่คาดการณ์กันไว้ก็คือลดระดับความสำคัญกับสหรัฐ ส่วนนโยบายด้านการลงทุนต่างประเทศยังไม่ออกมา แต่มองว่าการเปลี่ยนแปลงการเมืองญี่ปุ่นจะส่งผลให้กับไทยในแง่บวกมากกว่า เพราะการให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียมากขึ้น

ด้านปัญหาการเมืองภายในประเทศไทย มองว่า นักลงทุนญี่ปุ่นคงไม่ได้ให้น้ำหนักมากเท่ากับปัจจัยในเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายในไทย เพราะจากการจัดลำดับปัจจัยทางด้านการลงทุน พบว่าการเมืองอยู่ในปัจจัยลำดับที่ 7 แต่ปัจจัยภาวะเศรษฐกิจโลกอยู่ในลำดับต้น เพราะกระทบต่อตลาดมากกว่า

“นักลงทุนญี่ปุ่นจะมองที่ภาวะเศรษฐกิจโลกมากกว่า ซึ่งไตรมาส 2 และไตรมาส 3 สถานการณ์เริ่มดีขึ้น ส่วนปัญหาการเมืองภายในไทยที่เกิดเหตุการณ์รุนแรง เป็นความตกใจจนเกินเหตุ พอสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ไม่มีความรุนแรง ความเชื่อมั่นก็เริ่มฟื้นขึ้นมา”

นายสันติกล่าวว่า การลงทุนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในปีหน้าหรือไม่ ยังต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด แต่เชื่อว่าพอเศรษฐกิจฟื้น ญี่ปุ่นจะเลือกเข้ามาลงทุนในไทยเป็นลำดับต้นๆ สำนักงานฯ จะเตรียมพร้อมกิจกรรมด้านโปรโมชันไว้ เน้นเผยแพร่ข้อมูลของไทย เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งคงไม่ใช่แค่การลงทุนอย่างเดียว แต่รวมถึงการชักจูงในเรื่องการซื้อวัตถุดิบจากไทยเข้ามาผลิตสินค้าด้วย เพราะไทยและญี่ปุ่นมีข้อตกลงเจเทปาระหว่างกัน

สำหรับอุตสาหกรรมที่นักลงทุนโอซากาให้ความสนใจ ยังคงเป็นอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า กิจการแปรรูปชิ้นส่วนโลหะ ธุรกิจภาคบริการ และธุรกิจลงทุนเกี่ยวกับระบบน้ำ