posttoday

สุญญากาศวุฒิสภาถอดถอน"นิคม-ปู"ไม่ง่าย

27 มีนาคม 2557

ย่อมมีความเป็นไปได้ที่ สว.เลือกตั้งชุดใหม่จะใช้เอกสิทธิ์เรียกร้องให้วุฒิสภาเริ่มกระบวนการไต่สวนใหม่ทั้งหมด

โดย....ทีมข่าวการเมือง

กระบวนการถอดถอน “นิคม ไวยรัชพานิช” ประธานวุฒิสภา เริ่มเดินหน้าไปเป็นระยะ หลังจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยในสัปดาห์นี้ทีมกฎหมายสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะประชุมร่วมกับ “สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย” รองประธานวุฒิสภา ในฐานะรักษาราชการประธานวุฒิสภาเพื่อกำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาถอดถอน

ในเบื้องต้นที่ประชุมเตรียมทำเรื่องไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อตราพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยคาดว่าจะเปิดประชุมได้ในช่วงต้นเดือน เม.ย. ทันกรอบเวลาที่ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาข้อที่ 117 ที่กำหนดให้วุฒิสภาต้องเปิดประชุมครั้งแรกภายใน 20 วัน หลังจาก ป.ป.ช.ส่งสำนวนมาให้

การประชุมวุฒิสภาครั้งแรกดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญมาก กล่าวคือ เป็นวันที่วุฒิสภาต้องกำหนดว่าจะให้ ป.ป.ช.และ นิคม มาแถลงเปิดคดีครั้งแรกต่อวุฒิสภาในวันใด นอกจากนี้วุฒิสภาจะต้องตั้งคณะกรรมาธิการสามัญขึ้นมาหนึ่งคณะสำหรับทำหน้าที่เป็นผู้ไต่สวน ป.ป.ช.และ นิคม ขั้นตอนไต่สวนไปจนถึงการลงมติทั้งหมดนี้วุฒิสภาจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ซึ่งน่าจะเป็นช่วงปลายเดือน เม.ย.

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นหนึ่งที่เป็นปัญหาที่ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภากำลังคบคิดอยู่ คือ ช่วงสุญญากาศของวุฒิสภา

เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 273 บัญญัติว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ส่งรายงานให้นอกสมัยประชุม ให้ประธานวุฒิสภาแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ เพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญ และให้ประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ” เรียกได้ว่าเป็นปัญหาซ้อนปัญหา

กล่าวคือ รัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้มีอำนาจสูงสุดในการเปิดประชุมวุฒิสภาเป็นกรณีพิเศษ หรือที่เรียกว่า สมัยวิสามัญ คือประธานรัฐสภา แต่ปัจจุบันยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ไม่มีบุคคลมาดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา เพื่อทำหน้าที่รับสนองพระบรมราชโองการได้ จึงเป็นปัญหากระบวนการถอดถอน นิคม อาจต้องหยุดชะงักจากเงื่อนไขรัฐธรรมนูญตรงนี้ ซึ่งที่ประชุมฝ่ายกฎหมายจะหารือให้ได้ข้อสรุปอีกครั้งในวันที่ 27 มี.ค.

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีปัญหาเรื่องรอยต่อระหว่าง สว.เลือกตั้งชุดเก่า กับ สว.เลือกตั้งชุดใหม่ด้วย ปัญหาที่ว่านั้นคือ สว.ชุดไหนจะเป็นผู้พิจารณาไต่สวนและลงมติในขั้นตอนสุดท้าย เพราะหากเกิดรูปแบบที่ สว.เลือกตั้งชุดปัจจุบันเป็นผู้ไต่สวน แต่ สว.ที่ต้องลงมติว่าจะถอดถอนหรือไม่ กลับเป็น สว.เลือกตั้งชุดใหม่ อาจเกิดปัญหาโต้แย้งในภายหลังถึงความไม่เหมาะสมด้วย

เรื่องนี้แม้แต่ “สุรชัย” เองก็ยังแสดงเป็นห่วงว่า “ถ้านำการพิจารณาคดีของศาลมาเทียบเคียง จะถือว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่มีความเหมาะสมเท่าไรนัก เพราะการพิจารณาของศาลมีอยู่ว่า ถ้าบุคคลใดไม่ได้อยู่ในกระบวนการไต่สวนตั้งแต่ต้น ก็ย่อมไม่เป็นการสมควรที่จะมาวินิจฉัยคดีในขั้นตอนสุดท้าย” ดังนั้น ถ้าถึงที่สุดแล้วเกิดเหตุการณ์ที่ว่านั้นจริง ย่อมมีความเป็นไปได้ที่ สว.เลือกตั้งชุดใหม่จะใช้เอกสิทธิ์เรียกร้องให้วุฒิสภาเริ่มกระบวนการไต่สวนใหม่ทั้งหมด ซึ่งนั่นจะหมายความว่ากระบวนการถอดถอนต้องล่าช้าออกไปอีก

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของ สว.เลือกตั้งเมื่อวันที่ 25 มี.ค. น่าสนใจตรงที่การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่มี จิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สว.ศรีสะเกษ เป็นประธาน โดยมีวาระพิจารณาปัญหาถึงสถานะทางกฎหมายของ สว.เลือกตั้ง|ในปัจจุบัน ซึ่งที่ประชุมส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกัน สว.เลือกตั้งชุดปัจจุบันยังสามารถทำหน้าที่ต่อไปได้จนกว่าจะมี สว.ใหม่ โดย สว.เลือกตั้งชุดใหม่จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นทางการก็ต่อเมื่อผ่านการปฏิญาณตนในที่ประชุมวุฒิสภา

นี่จึงเป็นประเด็นให้ขบคิดว่า การถอดถอน นิคม นอกจากไม่ง่ายอย่างที่คิดแล้ว อาจส่งผลต่อการถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในอนาคตด้วย ที่คาดว่า ป.ป.ช.จะชี้มูลความผิดคดีทุจริตจำนำข้าวในเดือน เม.ย.นี้