posttoday

อุปสรรคขวาง"ยิ่งลักษณ์"ถึงอยากไปต่อก็ลำบาก

24 กุมภาพันธ์ 2557

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังอยู่ในภาวะสาหัสไม่น้อย เพราะมีวิบากกรรมรออยู่มากและ

โดย...ทีมข่าวการเมือง

สถานการณ์ในทางการเมืองเวลานี้ถือได้ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังอยู่ในภาวะสาหัสไม่น้อย เพราะมีวิบากกรรมรออยู่มาก แม้จะมีจุดแข็งในฐานะที่ยังอยู่ในอำนาจรัฐ แต่กับอุปสรรคที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่รับประกันว่ารัฐบาลจะอยู่ไปได้ตลอดรอดฝั่ง

เงินจำนำข้าวไม่ถึงมือชาวนา

กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง พยายามสยบม็อบชาวนาที่ชุมนุมกดดันรัฐบาลอยู่ในตอนนี้ด้วยการอ้างว่าภายในสัปดาห์นี้จะมีเงินจำนำข้าวจ่ายให้กับชาวนา แต่ท่าทีของกิตติรัตน์ที่ออกมากลับถูกตั้งคำถามว่ารัฐบาลจะเงินมาจากทีไหน เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 181 บัญญัติข้อห้ามไม่ให้รัฐบาลรักษาการอนุมัติหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดที่อาจมีผลผูกพันกับรัฐบาลใหม่ในอนาคต

สิ่งที่เกิดขึ้นจึงไม่ต่างอะไรกับหนีเสือปะจระเข้ เพราะถ้าไม่จ่ายเงินให้กับชาวนาตามสัญญาก็จะถูกกล่าวหาว่าผิดสัญญา หรือครั้นจะเอาเงินมาจ่ายก็จะถูกฝ่ายตรงข้ามจะยื่นเรื่องให้องค์กรอิสระตรวจสอบแน่นอน

ป.ป.ช.เร่งสอบคดีจำนำข้าว-แก้รธน.

ต้องยอมรับว่าการทำงานของป.ป.ช.มีผลต่อการอยู่หรือไปของยิ่งลักษณ์เป็นอย่างมาก โดยขณะนี้มี 2 คดีที่คาดว่าป.ป.ช.จะสามารถวินิจฉัยชี้ขาดได้ในเร็วๆนี้ คือ คดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว และ คดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของสว.

ในส่วนของโครงการรับจำนำข้าวนั้นป.ป.ช.เพิ่งได้มีมติแจ้งข้อกล่าวหากับนายกฯยิ่งลักษณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่ไม่ดำเนินการใช้อำนาจยับยั้งโครงการเพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับรัฐ ซึ่งป.ป.ช.นัดให้มารับข้อกล่าวหาที่สำนักงานป.ป.ช.ในวันที่ 27 ก.พ.

ตามขั้นตอนหากนายกฯไม่เดินทางมาทางป.ป.ช.จะจัดส่งข้อกล่าวหาไปยังภูมิลำเนาของนายกฯ และมีกำหนดต้องมาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อป.ป.ช.ภายใน 15 วัน จากนั้นป.ป.ช.จะพิจารณาว่าการแก้ข้อกล่าวหากป.ป.ช.มีความเห็นว่าฟังไม่ขึ้นและชี้มูลความผิด คาดว่าน่าจะเป็นในช่วงปลายเดือนมี.ค.

มติของป.ป.ช.ในขั้นตอนนี้จะมีผลให้นายกฯต้องยุติการปฎิบัติหน้าที่ทันทีจนกว่าวุฒิสภามีมติว่าจะถอดถอนหรือไม่ หรือ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำพิพากษา ซึ่งเป็นไปตามมาตราของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

เบื้องต้นมีความเป็นไปได้สูงที่ป.ป.ช.จะชี้มูลความผิดเฉพาะการถอดถอนออกจากตำแหน่งก่อน เนื่องจากหลักฐานที่ป.ป.ช.มีนั้นเพียงพอที่จะชี้ให้เห็นว่านายกฯได้ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายมาตรา 157 จะต้องใช้เวลารวบรวมหลักฐานอีกพอสมควร เพราะการเอาผิดในข้อหานี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีหลักฐานชัดเจนว่าผู้ถูกกล่าวหามีการทุจริตอย่างไร

ขณะที่คดีเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของสว. ได้มีความคืบหน้าไปมากหลังจากผู้ถูกล่าวหาที่เป็นสว.และอดีตสส.จำนวน 308 คนต่างทยอยเข้ามารับข้อกล่าวหาไปแล้ว โดยสิ่งที่ต้องจับตาเป็นพิเศษของคดีนี้ คือ ชะตากรรมของสว. 50 คนที่เป็นผู้ถูกกล่าวหา เพราะหากป.ป.ช.ชี้มูลความผิดขึ้นมานั่นหมายความว่าต้องหยุดงานชั่วคราวเช่นกัน จนกว่าวุฒิสภามีมติว่าจะถอดถอนหรือไม่ หรือ ศาลฎีกาฯจะมีคำพิพากษา

การยุติปฏิบัติหน้าที่ของสว. 50 คน จะนำมาสู่การตีความว่าต้องนับสว.กลุ่มนี้เป็นองค์ประชุมวุฒิสภาด้วยหรือไม่ หรือ จะต้องตัดออกไป ในเรื่องนี้มีความเห็นจาก 'นิคม ไวยรัชพานิช' ประธานวุฒิสภาว่ายังต้องนับสว.กลุ่มนี้เข้าเป็นองค์ประชุมด้วย เพราะถือว่ายังไม่ขาดสมาชิกภาพการเป็นสว. แม้ว่าจะต้องยุติการปฎิบัติหน้าที่ก็ตาม ตรงกันข้ามกับกลุ่ม40สว.ที่เห็นว่าในเมื่อสว.50คนไม่สามารถปฎิบัติหน้าที่ได้ก็ไม่ควรนับเป็นองค์ประชุม

สถานะของสว.ทั้ง 50 คนมีความสำคัญต่อนายกฯยิ่งลักษณ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทันทีที่หากป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องการถอดถอนมาให้วุฒิสภา เพราะหากยึดตามความเห็นของประธานวุฒิสภาเสียง 3ใน5ของวุฒิสภาที่จะถอดถอนยิ่งลักษณ์ได้ต้องมีไม่น้อยกว่า 90 เสียงจากสว.ทั้งหมด 149 คน แต่ถ้ายึดตามความเห็นของกลุ่ม40 สว.การถอดนายกฯจะใช้เสียงสว. 60 คน จากสว.เท่าที่มีอยู่และปฎิบัติหน้าที่ได้ 99 คน

ดังนั้น ชะตากรรมในทางการเมืองของนายกฯจึงต้องฝากไว้ที่วุฒิสภา

ศาลรธน.ชี้ชะตากฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้าน

ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีกำหนดอย่างเป็นทางการว่าจะนัดฟังคำวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศในวันใด แต่ในวันที่ 27 ได้นัดให้ คำนูณ สิทธิสมาน สว.สรรหา ในฐานะผู้เสนอความเห็น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ร้อง และ นายกฯยิ่งลักษณ์ ในฐานะผู้ถูกร้อง ยื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาลภายในวันที่ 27 ก.พ. จึงเป็นไปได้ที่ในวันดังกล่าวศาลจะมีคำสั่งออกมาว่าจะนัดฟังคำวินิจฉัยในวันใดต่อไป

ในทางกฎหมายคดีนี้อาจไม่มีผลต่อสถานะของรัฐบาลหากเกิดกรณีที่ศาลวินิจฉัยเป็นร่างกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่จะเป็นเหตุให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทั้งพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่ม 40 สว.ยื่นเรื่องให้ป.ป.ช.เอาผิดกับคณะรัฐมนตรีทั้งคณะที่เป็นผู้ริเริ่มจัดทำร่างกฎหมาย รวมไปถึงสส.และสว.ที่ร่วมลงมติเห็นชอบ ในข้อหาใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ต่อไป

เปิดประชุมรัฐสภาไม่ทันตั้งรัฐบาลไม่ได้

เป็นความพยายามของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ต้องการจัดการเลือกตั้งให้ได้ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน โดยกกต.กำหนดให้มีการเลือกตั้งทดแทนใน 5 จังหวัดวันที่ 2 มี.ค. ประกอบด้วย เพชรบุรี ระยอง เพชรบูรณ์ สมุทรสงคราม และ สมุทรสาคร พร้อมกับเลื่อนการเลือกตั้งทดแทนในอีก 34 จังหวัดในวันที่ 20 และ 27 เม.ย.ออกไปก่อน

ทั้งนี้กกต.เองยอมรับสภาพแล้วว่าไม่มีทางที่จะสามารถจัดการเลือกตั้งเพื่อให้มีสส.เบื้องต้น475 คนจากทั้งหมด 500 คนเพื่อเปิดประชุมรัฐสภาได้ทันภายใน 30 วันตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 4 มี.ค. เมื่อการเลือกตั้งไม่อาจทำให้มีรัฐบาลใหม่ที่มีอำนาจเต็มเข้ามาบริหารประเทศได้ทันตามเงื่อนเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่จะสามารถนำไปสู่การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความถึงสถานะของรัฐบาลรักษาการในปัจจุบันต่อไป
 
สว.ชุดใหม่ถอดถอนนายกฯ

วุฒิสภาในขณะนี้มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ คือ การกดดันให้ นิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ต้องพ้นจากตำแหน่ง โดยกลุ่ม40สว.มองว่าในเมื่อสว.เลือกตั้ง 77 คนหมดวาระในวันที่ 2 มี.ค. แม้รัฐธรรมนูญจะให้ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีสว.ชุดใหม่ แต่นิคมควรปฎิบัติหน้าที่เฉพาะในฐานสว.ฉะเชิงเทราเท่านั้น

ขณะเดียวกัน นัยยะของการเลือกตั้งสว.ในวันที่ 30 มี.ค.ยังอยู่ที่การเข้ามามีบทบาทต่อการชี้ชะตานายกฯด้วย เพราะหากป.ป.ช.ส่งเรื่องการถอดถอนนายกฯในคดีจำนำข้าวมาให้วุฒิสภาหลังจากกกต.ประกาศรับรองสว.ชุดใหม่ จะทำให้สว.ชุดนี้มีอำนาจลงมติถอดถอนยิ่งลักษณ์หรือไม่

โผโยกย้ายทหารไม่ลงตัว

ปีนี้จะเป็นครั้งแรกที่การอนุมัติบัญชีโยกย้ายนายทหารระดับโผทหารระดับนายพลที่จะประกาศใช้ภายในวันที่ 1 เม.ย.ต้องผ่านความเห็นชอบจากกกต. เนื่องจากคณะกรรมการโยกย้ายนายทหารนั้นมีรมว.กลาโหมเป็นประธาน จึงเกรงว่าหากการจัดทำบัญชีโยกย้ายไม่ผ่านความเห็นชอบจากกกต.ก่อนอาจมีความผิดฐานไม่ปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (1)

ความสำคัญของโผโยกย้าย คือ เป็นการวางตัวแม่ทัพนายกองคนใหม่เพื่อรองรับการเกษียณอายุราชการพร้อมกันในปีนี้ของผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้ง 4 คน ได้แก่ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. และ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ.

โดยตัวเต็งที่จะขึ้นมาเป็นบิ๊กในกองทัพส่วนใหญ่ล้วนมีสถานะเป็นตัวตายตัวแทนของผู้บัญชการเหล่าทัพที่กำลังจะหมดวาระลงในปีนี้ ซึ่งนั่นหมายความว่าความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลจะถูกถ่างให้ห่างออกไปอีกท่ามกลางการชุมนุมของกลุ่มกปปส.ที่กำลังยืดเยื้อ