posttoday

ตีเหล็กตอนร้อนเร่งปฏิรูประเทศ

16 พฤศจิกายน 2556

ทุกภาคส่วนมีความตื่นตัวทางการเมือง จี้เดินหน้าปฏิรูปประเทศ

ทุกภาคส่วนมีความตื่นตัวทางการเมือง จี้เดินหน้าปฏิรูปประเทศ

ผู้แทนเครือข่ายภาคพลเมือง นิสิตนักศึกษา 4 สถาบันและชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตยนำโดย วิเชียร คุตวัตส์ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อรองประธานวุฒิสภาเพื่อแสดงตนเป็นผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อประชาชนจำนวน 2 หมื่นรายชื่อขอถอดถอน สส.จำนวน 310 คน เนื่องจากได้ร่วมลงมติเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

ทั้งนี้ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่ผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ที่บัญญัติว่า สส.และ สว.ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย โดยไม่อยู่ในความผูกมัดหรือความครอบงำจากบุคคลใดๆ แต่ปรากฏว่ากลับมีพฤติการณ์ที่ส่อกระทำผิด ตั้งแต่เสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และการแปรญัตติที่ขัดต่อหลักการ โดยมีการขยายการนิรโทษกรรมครอบคลุมเหตุการณ์ไปถึง 9 ปี ทำให้มีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญหลายประการ โดยเฉพาะ ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ อดีตกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจากพรรคเพื่อไทยที่ระบุว่า ได้แปรญัตติเป็นไปตามความประสงค์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อยากกลับบ้าน อีกทั้งการพิจารณาวาระ 3 เร่งรีบ รวบรัดอย่างไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ชาติไทย อย่างไรก็ตามจะตั้งโต๊ะรวบรวมรายชื่อประชาชนระหว่างวันที่15-18 พ.ย.นี้ เพื่อยื่นต่อประธานวุฒิสภาต่อไป

วันเดียวกัน คณาจารย์มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษา นำโดย ศ.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และนักวิชาการกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ทวงถามความรับผิดชอบจากรัฐบาล หลังจากเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จนถูกต่อต้านอย่างหนัก

ศ.ยศศักดิ์ โกไศยกานนท์ คณบดีคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต อ่านแถลงการณ์ว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เหมือนเป็นฟางเส้นสุดท้ายของสังคมไทยต่อรัฐบาลนี้ ถึงแม้วุฒิสภาจะมีมติไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปแล้ว แต่ประชาชนยังเห็นว่าการกระทำดังกล่าว

ยังมิได้แสดงออกถึงความรับผิดชอบของบุคคลที่เกี่ยวข้องขณะเดียวกันประเทศไทยในปัจจุบันยังมีปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแต่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งมีระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนในระบบรัฐสภา หากยังเป็นสภาพอย่างนี้จะทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมที่จะทวีความรุนแรงขึ้นฉะนั้นจะต้องมีการปฏิรูปประเทศไทย

สำหรับการปฏิรูปประเทศไทยมีเรื่องเร่งด่วนสำคัญใน4 ด้าน ได้แก่ 1.ปฏิรูปการเมือง โดยเปลี่ยนแปลงระบบรัฐสภาให้เป็นองค์กรตัวแทนที่แท้จริงของประชาชน สนองเจตนารมณ์ของประชาชน และสามารถป้องกันไม่ให้เกิดเผด็จการรัฐสภาแทนทุนสามานย์ที่มุ่งการถอนทุนคืนให้หวนกลับมาอีก 2.ปฏิรูประบบเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมกลไกตลาดให้มีการแข่งขันอย่างเสรี ปราศจากอิทธิพลแทรกแซงจากภาครัฐ ปฏิรูประบบพลังงาน แรงงาน เกษตรกรรม ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน

3.ปฏิรูปสังคมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำได้แก่ ระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุข และระบบสวัสดิการ 4.ปฏิรูประบบราชการและความยุติธรรม โดยเน้นความเป็นนิติรัฐ ส่งเสริมระบบราชการโดยระบบคุณธรรม ทำลายการทุจริตคอร์รัปชั่นให้หมดไป

ศ.ยศศักดิ์ กล่าวว่า กระบวนการปฏิรูปจะให้มีองค์กรทำหน้าที่ประสานกระบวนการ ได้แก่ สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการกำกับปฏิรูปประเทศคณะกรรมการปฏิรูปเฉพาะเรื่องโดยกำหนดให้มีระยะเวลาในการปฏิรูปให้แล้วเสร็จ เพื่อเป็นหลักประกันต่อประชาชน

ศ.บรรเจิด กล่าวว่า เราจะใช้โอกาสที่ภาคประชาชนกำลังเข้มแข็งมาปฏิรูปประเทศ ซึ่งไม่เหมือนการปฏิรูปที่ผ่านมาของรัฐบาลที่มีแต่คนชนชั้นนำ ทำให้ไม่อาจนำไปสู่เนื้อหาของการปฏิรูปได้ ส่วนปฏิรูปรอบใหม่จะเป็นอย่างไรคงต้องมาร่วมขบคิดกัน

โกวิทย์ พวงงาม อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า การปฏิรูปของรัฐบาลที่ผ่านมาล้มเหลวไม่เป็นประโยชน์ เพราะคนส่วนใหญ่เป็นคนของรัฐบาล มีผลประโยชน์ทางการเมือง ฉะนั้นต้องตั้งคณะกรรมการปฏิรูปใหม่ ที่ดึงทุกภาคส่วนมาเกี่ยวข้อง ซึ่งภาควิชาการยินดีที่จะประสานทุกฝ่ายมาร่วมปฏิรูป ส่วนจะเริ่มปฏิรูปรอบใหม่กันอย่างไร คิดว่าจากนี้ทางคณาจารย์ฯ จะหารือความเป็นไปได้ เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอให้ทุกฝ่ายมาร่วมพิจารณา

พงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าสิ่งที่คณาจารย์ฯ เสนอไม่ได้ต่างจากเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ตั้งสภาปฏิรูปประเทศโดยดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อหาทางออกให้ประเทศร่วมกันแต่ปัญหาประเทศขณะนี้เพราะมีบางกลุ่มไม่ยอมให้ประเทศเดินไปข้างหน้า เปลี่ยนเป้าหมายเคลื่อนไหวล้มรัฐบาลทั้งๆ ที่มีการยุติการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแล้ว