posttoday

มรสุม "น้ำ-ข้าว" ขวาตาย ซ้ายสลบ

05 กรกฎาคม 2556

สมมติฐานว่าด้วยการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) บนหลักคิดที่ว่าจะช่วยให้สถานการณ์ของรัฐบาลดีขึ้นดูจะไม่ค่อยเป็นจริงเท่าไหร่

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

สมมติฐานว่าด้วยการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) บนหลักคิดที่ว่าจะช่วยให้สถานการณ์ของรัฐบาลดีขึ้นดูจะไม่ค่อยเป็นจริงเท่าไหร่ สะท้อนได้จากผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนออกมาระบุว่า “ความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลยังเหมือนเดิม” โดยในเรื่องนี้มีถึง 2 สำนักโพลที่บอกไปในทิศทางเดียวกัน

“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต พบว่า 58% มีความเชื่อมั่นรัฐบาลเหมือนเดิม เพราะการปรับ ครม.ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการปรับเปลี่ยนเพื่อลดกระแสความขัดแย้งทางสังคมและทางการเมือง และทำเพื่อหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนตำแหน่งเท่านั้น

เช่นเดียวกับ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยว่า 51.8% ของกลุ่มตัวอย่างมีความเชื่อมั่นการทำงานของรัฐบาลในแต่ละกระทรวงเหมือนเดิม

จากผลสำรวจได้ชี้ให้เห็นว่าการตัดสินใจปรับ ครม.ครั้งมโหฬารเกือบ 20 ตำแหน่งของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ยังไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการประชาชน และไม่ช่วยให้คะแนนนิยมของรัฐบาลไม่ค่อยกระเตื้อง

แน่นอนว่าปัญหาความไม่โปร่งใส ทั้งในเรื่อง “โครงการบริหารจัดการน้ำ” และ “นโยบายรับจำนำข้าว” เป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งรัฐบาล และเมื่อปัญหาดังกล่าวกำลังถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ด้วยแล้วยิ่งส่งผลให้กำแพงแห่งความชอบธรรมของรัฐบาลทรุดหนักเข้าไปอีก

อย่าง “นโยบายรับจำข้าว” ป.ป.ช.ได้ตั้งประเด็นไต่สวนหลักไปที่การบริหารราชการของกระทรวงพาณิชย์เมื่อครั้ง “บุญทรง เตริยาภิรมย์” เป็นรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ซึ่งในชั้นนี้ยังไม่ได้เชื่อมโยงไปถึงตัวนายกฯ ยิ่งลักษณ์

การตรวจสอบของ ป.ป.ช.ในภาพรวมได้ให้ความสำคัญตั้งแต่ “ต้นน้ำ” คือ การออกนโยบาย ไปจนถึง “ปลายน้ำ” คือ การระบายข้าว ว่าจะมีการทุจริตในส่วนไหนบ้าง

ที่สำคัญ ยังตรวจลึกลงไปถึงแนวทางการบริหารโครงการของรัฐบาลว่าเป็นไปเพื่อรักษาวินัยการเงินการคลังหรือไม่ด้วย

ป.ป.ช.ถือว่านโยบายรัฐที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับประเทศก็นับว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ประการหนึ่งด้วย จึงนำมาสู่แนวคิดในการเตรียมเชิญ “สุภา ปิยะจิตติ” รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว มาให้ข้อมูลกับคณะอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช.เพื่อให้ได้ข้อมูลมาตอบสมมติฐานในข้อนี้

ถ้าดูทิศทางการไต่สวนแล้วมีความเป็นไปได้สูงที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์จะโดนหางเลขไปด้วย เนื่องจากหลักการไต่สวนในประเด็นที่เกี่ยวกับการดำเนินการนโยบายรัฐของรัฐบาลนั้น ป.ป.ช.มักจะใช้บรรทัดฐานเรื่องความรับผิดชอบกัน ซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

“พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน” (มาตรา 171)

บรรทัดฐานลักษณะนี้เคยใช้มาแล้วในคดีที่ ป.ป.ช.ตั้งข้อกล่าวหากับ ครม.ของสมัคร สุนทรเวช เมื่อปี 2552 ทุกคนจากกรณี “นพดล ปัทมะ” รมว.ต่างประเทศเวลานั้นไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทยกัมพูชา เพื่อสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหาร ก่อนที่ต่อมา ป.ป.ช.จะชี้มูลความผิดเฉพาะ “สมัครนพดล”

ป.ป.ช.ให้เหตุผลถึงการที่อดีตนายกฯ สมัครมีความผิดไปด้วยทั้งที่ก็ไม่ได้รับผิดชอบโดยตรงเพราะ “นายสมัครมีสถานะเป็นหัวหน้ารัฐบาล...”

แนวทางดังกล่าวของ ป.ป.ช.ที่วางไว้ย่อมสร้างความร้อนๆ หนาวๆ ให้กับยิ่งลักษณ์พอสมควร เนื่องจากตัวเองก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายจำนำข้าวโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นในฐานะหัวหน้ารัฐบาลที่เป็นผู้ออกนโยบาย และประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)

ขณะที่ “โครงการบริหารจัดการน้ำ” เริ่มเข้ามาเขย่าเสถียรภาพรัฐบาลอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ระงับโครงการก่อสร้างเอาไว้ก่อนจนกว่าจะมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผลศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง

ผลจากคำพิพากษาได้มาซึ่งการยื่นคำร้องมาที่ ป.ป.ช.เพื่อให้ดำเนินคดีอาญาและถอดถอน ครม.จำนวนมากโดยเฉพาะจากสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและพรรคประชาธิปัตย์

คดีนี้ ป.ป.ช.ยังไม่ได้รับเข้าสู่ระบบการไต่สวนอย่างเป็นทางการ เพียงแต่ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูลทั้งหมดเอาไว้ก่อนส่งมาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาอีกครั้ง

อีกด้าน ป.ป.ช.เองก็กำลังรอดูท่าทีของรัฐบาลด้วยว่าจะใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน 30 วันซึ่งจะครบกำหนดในปลายเดือน ก.ค.หรือไม่เช่นกัน

หากรัฐบาลขอสู้คดีถึงสุด ป.ป.ช.คงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องรอฟังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด แต่ถ้ารัฐบาลไม่ใช้สิทธิก็ย่อมเป็นเหตุให้ ป.ป.ช.รับคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชนเข้ามาสู่ระบบการตรวจสอบได้

ถึงเวลานั้นหลักการ “ความรับผิดชอบร่วมกัน” จะเข้ามาเป็นเข็มทิศสำหรับการทำงานของ ป.ป.ช.อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เป็นอันสรุปว่ามรสุมจาก “ข้าว” และ “น้ำ” กลายเป็นสองแรงปะทะเข้าใส่รัฐบาลไม่ต่างอะไรกับพายุหมัดกระหน่ำที่กำลังกระหน่ำเข้ามาเหลือเพียงหมัด ป.ป.ช.เท่านั้นที่จะเป็นผู้ชี้ชะตาว่ารัฐบาลจะยืนอยู่บนเวทีได้ต่อไปหรือไม่ในอนาคต