posttoday

ม็อบชาวนาฮือรัฐบาลปูร่อแร่

25 มิถุนายน 2556

“นโยบายจำนำข้าว” นับตั้งแต่ดำเนินโครงการมา 2 ปี รัฐบาลต้องเผชิญกับเสียงคัดค้านเป็นอย่างมาก หลังจากมีหลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงว่านโยบายนี้จะสร้างปัญหากับภาระทางการคลัง

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

“นโยบายจำนำข้าว” นับตั้งแต่ดำเนินโครงการมา 2 ปี รัฐบาลต้องเผชิญกับเสียงคัดค้านเป็นอย่างมาก หลังจากมีหลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงว่านโยบายนี้จะสร้างปัญหากับภาระทางการคลัง แต่รัฐบาลก็สามารถเข็นนโยบายดังกล่าวออกมาได้

กระทั่งมาจนมุมในระยะหลัง เนื่องจากถูกเปิดปมความไม่ชอบมาพากลหลายครั้ง สุดท้ายต้องผ่าทางตันด้วยการประกาศลดราคาจำนำข้าวจาก 1.5 หมื่นบาท เหลือเพียง 1.2 หมื่นบาทต่อเกวียน

รัฐบาลคาดหวังว่าการประกาศลดราคาจำนำข้าวจะช่วยให้สถานการณ์ที่ตึงเครียดลดลง อย่างน้อยก็เพื่อให้สังคมเห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ดันทุรังไปกับนโยบายที่เป็นปัญหาหรือยอมกลืนน้ำลายตัวเองเพื่อให้รัฐบาลเดินต่อไปได้

ทว่า เหตุการณ์กลับตาลปัตรเมื่อสิ่งที่ว่าดีกลับไม่ดี นอกจากไม่เป็นคุณกับรัฐบาลแล้วยังจะนำมาซึ่งความวุ่นวายด้วย

ความคุกรุ่นในพรรคเพื่อไทยเริ่มอุบัติขึ้นทันทีที่รัฐบาลประกาศลดราคาจำนำข้าว สส.ในเขตเลือกตั้งทั้งภาคเหนือและอีสานแสดงท่าทีต่อต้านอย่างเห็นได้ชัดผ่านสื่อมวลชนในรูปแบบการให้สัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการและการรวมตัวเปิดโต๊ะแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ เพื่อแสดงจุดยืนว่า สส.ของพรรคไม่เห็นด้วยกับการกลืนน้ำลายตัวเองของรัฐบาล

ลามไปถึงการเรียกร้องให้พรรคเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่แทน “บุญทรง เตริยาภิรมย์”

พร้อมกับเสนอชื่อให้ “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ” อดีตรองนายกรัฐมนตรี และเจ้ากระทรวงพาณิชย์ สมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชน กลับเข้ามากุมบังเหียนนโยบายข้าวอีกครั้ง

ส่งผลให้สถานการณ์เวลานี้ไม่ต่างอะไรกับความปั่นป่วนเมื่อปี 2551 ขณะนั้น สส.พรรคพลังประชาชนแสดงความไม่พอใจกับ “มิ่งขวัญ” ซึ่งเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์อย่างรุนแรง ภายหลังมิ่งขวัญบริหารสต๊อกข้าวผิดพลาดด้วยการประกาศให้ชาวนาไม่ต้องรีบขายข้าวเพราะราคามีแนวโน้มพุ่งไปถึง 3 หมื่นบาทต่อตัน

สส.พรรคพลังประชาชนต่างออกมากดดันให้ “สมัคร สุนทรเวช” นายกฯ และหัวหน้าพรรค ปรับมิ่งขวัญออกจากคณะรัฐมนตรี เนื่องจากท่าทีดังกล่าวของ รมว.พาณิชย์ มีผลให้ราคาข้าวถุง 5 กิโลกรัมในท้องตลาดพุ่งสูงขึ้นจาก 100 บาท เป็น 200 บาท สุดท้ายมิ่งขวัญก็ถูกปรับไปนั่งในกระทรวงอุตสาหกรรมแทน

แต่ศึกในที่ว่าวุ่นวายแล้ว แต่อาจจะยังไม่หนักเท่ากับศึกนอกที่มาจาก “ม็อบชาวนา”

ม็อบชาวนาที่ปรากฏการเคลื่อนไหวชัดเจนเวลานี้มีอยู่ 2 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ “สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย” นำโดย วิเชียร พวงลำเจียก และกลุ่มของ “ประสิทธิ์ บุญเฉย” ในนาม “สมาคมชาวนาข้าวไทย” ซึ่งทั้งสองกลุ่มนัดรวมตัวกันวันที่ 25 มิ.ย. เพื่อชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล กดดันให้รัฐบาลล้มเลิกการลดราคาจำนำข้าว

การเคลื่อนไหวของม็อบชาวนาในครั้งนี้ไม่อาจมองข้ามไปได้เมื่อกลุ่มมวลชนชาวนานั้นส่วนใหญ่เป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย ซึ่ง สส. จำนวน 264 ชีวิต ที่เป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในปัจจุบันมาจากคะแนนเสียงของเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 50%

จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไม สส.ในเขตเลือกตั้งตามภาคอีสานและภาคเหนือถึงออกอาการเต้นเป็นพิเศษเมื่อรัฐบาลเตรียมลดราคาจำนำข้าวจนทำให้กลุ่มชาวนาออกมาเคลื่อนไหวเขย่ารัฐบาล เนื่องจากอารมณ์ของเกษตรกรย่อมมีผลต่อฐานคะแนนเสียงของตัวเองและของพรรคในการเลือกตั้งอีก 2 ปีข้างหน้าด้วย

ขณะที่ในส่วนรัฐบาลก็มีอาการกระสับกระส่ายไม่แพ้กัน เพราะนับวันปัญหาจะลุกลามมากขึ้น

โดยเฉพาะการจัดการข้าวในโกดัง ไม่ว่าจะเป็นการดูแลรักษาข้าวที่เกิดเหตุการณ์ข้าวเน่าที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา หรือความโปร่งใสในการจัดเก็บ ซึ่งล่าสุดเกิดกรณีข้าวหายไปจากโรงสีข้าวใน จ.พิจิตร ประมาณ 8,000 ตัน

สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นเครื่องตอกย้ำว่ารัฐบาลกำลังอยู่ในภาวะด้อยประสิทธิภาพขั้นรุนแรง

ไม่เพียงเท่านี้ทุกเหตุการณ์ล้วนถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีปัจจัยมาจากการทุจริตแทบทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เข้ามาเข้มงวดแล้ว

นายกฯ ยิ่งลักษณ์ตระหนักดีว่า หากปล่อยให้บรรยากาศดำรงอยู่แบบนี้ย่อมไม่เป็นผลดีกับรัฐบาล มิเช่นนั้นคงไม่ให้ “พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง” รองเลขาธิการนายกฯ เข้ามาเป็นหัวหน้าคณะทำงานตรวจสอบเพื่อสื่อไปยังม็อบชาวนาว่ารัฐบาลไม่ได้ลอยตัวกับปัญหาที่เป็นอยู่ และหวังดับอารมณ์ของม็อบชาวนาให้เย็นลงมาบ้าง

ดังนั้น ปรากฏการณ์ม็อบชาวนาจึงเท่ากับเป็นลางบอกเหตุว่ารัฐบาลที่มาจากนโยบายประชานิยมอาจถึงจุดจบด้วยประชานิยมของตัวเองก็เป็นได้