posttoday

แนวต้าน "ปู" รอบใหม่ “กลุ่มไทยสปริง” น่ากลัว

23 พฤษภาคม 2556

นับตั้งแต่กลุ่มองค์การพิทักษ์สยามที่นำโดย “พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์” หรือ เสธ.อ้าย

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

นับตั้งแต่กลุ่มองค์การพิทักษ์สยามที่นำโดย “พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์” หรือ เสธ.อ้าย สิ้นฤทธิ์ไปตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ไร้แมลงหวี่มารบกวนการทำงานไปโดยปริยาย

อาจจะมีบ้างในบางกรณี เช่น การเคลื่อนไหวของกลุ่มแพทย์และพยาบาลที่ไม่เอาระบบ นโยบายการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (P4P) หรือขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ออกมาแสดงพลังคัดค้านรัฐบาล แต่ก็เป็นเพียงการต่อต้านรัฐบาลเฉพาะเรื่อง ไม่ได้เป็นลักษณะการสร้างเงื่อนไขให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

รัฐบาลจึงไร้แรงปะทะไปโดยปริยาย เพราะสามารถอาศัยลีลาและลูกล่อลูกชนเอาตัวรอดเป็นครั้งคราวไปได้

หรือแม้แต่การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญและร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเวอร์ชั่น “วรชัย เหมะ” สส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย

เดิมทีเวลานั้นพรรคเพื่อไทยได้ประเมินไว้ว่าการเสนอร่างกฎหมายทั้งรัฐธรรมนูญและนิรโทษกรรมเข้าสภาน่าจะมีเกิดเหตุการณ์ก่อม็อบของฝ่ายตรงข้ามบ้าง แต่เอาเข้าจริงกลับไร้พลังเพื่อล้มการพิจารณาของสภาเหมือนสมัยดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เมื่อปี 2555

ทว่าสถานการณ์ในปัจจุบันกลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น เมื่อเริ่มมีขบวนการออกมาแสดงตัวเป็นแนวรบต่อต้านรัฐบาลอย่างเห็นได้ชัด

ในสภามีให้เห็นอยู่แล้วจาก “พรรคประชาธิปัตย์” และ “กลุ่ม 40 สว.” ประเด็นที่พยายามนำมาสู้กับรัฐบาล คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ 2 ล้านล้านบาท

ทั้งสองกลุ่มดังกล่าวทำดีที่สุดได้แค่การใช้เวทีสภาอภิปรายชำแหละรัฐบาลเพื่อให้สังคมเห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญและกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ส่งผลเสียกับประเทศอย่างไร พร้อมกับใช้ช่องทางศาลรัฐธรรมนูญเป็นกลไกบั่นทอนความชอบธรรมอีกแรง

ถึงกระนั้นแรงต้านในสภาอาจทำอะไรรัฐบาลไม่ได้ เพราะพรรคเพื่อไทยยังเป็นฝ่ายคุมเสียงข้างมากอยู่ แต่กับพลังต้านนอกสภาอาจสร้างจุดเปลี่ยนให้เกิดขึ้นกับรัฐบาลได้

“กลุ่มแนวร่วมคนไทยรักชาติรักษาแผ่นดิน” นำโดย ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ จุดยืนการชุมนุมตั้งแต่เริ่มเคลื่อนขบวนยังสนามหลวงช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เน้นในเรื่องประเด็นปราสาทเขาพระวิหาร ปัจจุบันขบวนการนี้ยังไม่ได้มีพลังมากนัก หลังจากมีปัญหาความชอบธรรมจากการปฏิเสธให้ความร่วมมือกับ กทม.ในการคืนพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมในวันสำคัญ

ขณะที่จำนวนคนที่ปักหลักมีเพียงหลักร้อย อย่างไรก็ตาม จำนวนคนในขณะนี้อาจไม่สำคัญเท่ากับการสร้างประเด็นเพื่อเคลื่อนไหว ล่าสุดกลุ่มนี้ได้นำเอาปัญหาระหว่างศาลรัฐธรรมนูญและพรรคเพื่อไทยมาเพิ่มต้นทุนให้กับตัวเองด้วย หลังจากได้ยื่นหนังสือให้กำลังใจคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา

“เราขอยืนยันว่าจะขอชุมนุมต่อไปจนกว่านายกรัฐมนตรีจะลาออกจากตำแหน่ง ส่วนเรื่องการยกระดับการชุมนุมนั้นก็ต้องขอมติอีกครั้งว่าจะมีการยกระดับการชุมนุมในรูปแบบใด”

จากคำประกาศของไชยวัฒน์เป็นการประกาศแล้วว่าม็อบสนามหลวงได้แปรขบวนเป็นม็อบไล่รัฐบาลไปเรียบร้อยแล้ว

แม้จะน้อยด้วยจำนวนคน แต่การสร้างแนวร่วมขับไล่รัฐบาลในอดีตของทั้งฝ่ายเหลืองและฝ่ายแดงก็ล้วนมาจากจุดเล็กๆ ณ สนามหลวงแทบทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สมัยรบกับรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ซึ่งสามารถตั้งขบวนรบกับรัฐบาลคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติต่อเนื่องถึงรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์

ดังนั้น รัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่อุดมไปด้วยเสียงข้างมากในสภาและมีผนังทองแดงกำแพงเหล็กอย่างคนเสื้อแดงไม่อาจประมาทมวลชนสนามหลวงไปได้

นอกเหนือไปจากม็อบสนามหลวงแล้วเวลานี้ยังมี “กลุ่มไทยสปริง” (Thaispring) นำโดย แก้วสรร อติโพธิ อดีต สว.กทม. และ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ

วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งกลุ่มไทยสปริง คือ ปฏิเสธการบริหารของรัฐบาลอย่างสิ้นเชิงจากการปาฐกถาที่มองโกเลียของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่กล่าวหาการทำงานขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ

ยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวจะเดินเกมนั้นอาศัยช่องทาง “สื่อสังคมออนไลน์” (Social Media) เป็นหลัก โดยทราบดีว่าปัจจุบันมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ติดตามข่าวสารการเมืองผ่านทางสื่อทางเลือกนี้เพิ่มขึ้น

ด้วยต้นทุนทางสังคมที่ พล.ต.อ.วสิษฐ มีอยู่ ย่อมเป็นปัจจัยที่ช่วยให้สร้างแนวร่วมได้มากขึ้น จนอาจกลายเป็นปรากฏการณ์แบบที่รัฐในอาหรับเจอมาแล้ว แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะจุดประเด็นสร้างกระแสได้หรือไม่เท่านั้น

ถึงตอนนี้กลุ่มพลังไม่เอารัฐบาลจะยังไม่สุกงอมพอที่จะเดินเครื่องรัฐบาลได้เต็มที่ ทว่าเมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลสร้างเงื่อนไขแห่งความขัดแย้งขึ้นมา รัฐบาลจะไม่ต่างอะไรกับเติมเชื้อไฟให้อุณหภูมิการเมืองสูงขึ้นจนรัฐบาลไม่อาจอยู่ต่อไปได้