posttoday

ปลดผู้ว่า ธปท. คิดง่ายทำยาก

02 พฤษภาคม 2556

เหมือนขมิ้นกับปูนที่ไม่มีวันเข้ากันได้ไม่ว่าเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานแค่ไหน เปลี่ยน รมว.คลัง มากี่คน รัฐบาลเพื่อไทยที่แปลงร่างมาจากพรรคไทยรักไทย

โดย...ชลลดา อิงศรีสว่าง


เหมือนขมิ้นกับปูนที่ไม่มีวันเข้ากันได้ไม่ว่าเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานแค่ไหน เปลี่ยน รมว.คลัง มากี่คน รัฐบาลเพื่อไทยที่แปลงร่างมาจากพรรคไทยรักไทย ก็ไม่สามารถที่จะบริหารเศรษฐกิจร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อย่างราบรื่น

ตลอดเวลาการบริหารประเทศ มีกระแสความขัดแย้งตลอดมา เหตุผลสำคัญเพราะทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเชื่อว่าการกดดอกเบี้ยในประเทศให้อยู่ในระดับต่ำ ค่าเงินบาทอ่อน จะปั่นให้เศรษฐกิจฟูฟ่องเป็นขนมถ้วยฟูให้ทุกคนตั้งแต่ยอดหญ้าจนรากหญ้าร่ำรวยมีเงินไหลมาเทมา จนไม่ลืมว่าเป็นฝีมือการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อไทย

แนวคิดดังกล่าวขัดแย้งกับแนวคิดของ ธปท.ที่เน้นการรักษาเสถียรภาพมากกว่าการเติบโต เพราะการบริหารเศรษฐกิจทางลัดเช่นนั้นเป็นการปั่นให้โตแต่ปริมาณอย่างเดียว แต่ฟองสบู่ก็พร้อมจะแตกเมื่อไหร่ก็ได้

ดังนั้น กระแสการปลดผู้ว่าการ ธปท.ภายใต้รัฐบาลที่มีรากมาจากพรรคไทยรักไทยจึงเกิดขึ้นมาตลอด ตั้งแต่รัฐบาลสมัครสุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ มาหยุดพักช่วงอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ และเริ่มต้นใหม่ในช่วงของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

แต่การปลดผู้ว่าการ ธปท. ไม่สามารถทำได้ง่ายๆ เหมือนในอดีต เพราะ พ.ร.บ.ธปท.ที่มีการแก้ไข กำหนดชัดเจนถึงการพ้นตำแหน่งของผู้ว่าการ ธปท. ได้ใน 5 กรณี คือ

1.ตาย

2.ลาออก

3.ขาดคุณสมบัติ

4.คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ออกโดยการเสนอของ รมว.คลัง เนื่องจากมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือทุจริตต่อหน้าที่

5.ครม.มีมติให้ออก โดยการเสนอของรมว.คลัง หรือการเสนอของรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ธปท. เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ

ที่สำคัญ มติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดเจน

นั่นจึงเป็นเหตุผลให้การประชุมครม.ลับเฉพาะ เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมาไม่มีคำตอบว่าใครจะเป็นผู้เสนอให้ปลดผู้ว่าการ ธปท. เพราะตามกฎหมายแล้วรมว.คลัง จะต้องเป็นผู้เสนอ และจะเป็นคู่กรณีโดยตรง ในกรณีที่ผู้ว่าการ ธปท. จะไปฟ้องศาลปกครองว่าถูกให้ออกอย่างไม่เป็นธรรม แถมจะต้องจ่ายเงินชดเชยจำนวนมหาศาลให้อีกด้วย

สมชาย สกุลสุรรัตน์ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า หากอยากเปลี่ยนตัวผู้ว่าการ ธปท. ก็ต้องพยายามตรวจสอบดูว่า ผู้ว่าการมีความประพฤติเสื่อมเสียหรือทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ บกพร่องต่อหน้าที่หรือไม่ และหย่อนความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่

ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่าเข้าข่ายที่ว่าจริง ย่อมปรับเปลี่ยนได้ตามกฎหมาย แต่ถ้าไม่ได้มีความประพฤติเสื่อมเสีย ไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่ ไม่ได้ทำหน้าที่บกพร่อง และไม่ได้หย่อนความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ จะต้องอธิบายต่อสังคมให้ได้ว่า การที่ รมว.คลัง อยากให้ลดดอกเบี้ย แต่ ธปท.ไม่สนองตอบนั้น เป็นความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศชาติอย่างไร

ดังนั้น การจะชี้ถูกผิดของผู้ว่าการ ธปท.นั้นไม่ง่าย เพราะการที่ค่าเงินบาทที่แข็งค่านั้น มีทั้งคนได้และคนเสีย

“การแข็งค่าของเงินบาทไม่ได้ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยอย่างเดียว และการที่เงินบาทแข็งค่าถึงจะกระทบต่อรายได้ของผู้ส่งออก แต่ก็ช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนซึ่งเดือดร้อนเพราะน้ำมันราคาแพง” สมชาย กล่าว

นอกจากนี้ ผู้ที่มีเงินออมโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ต้องใช้รายได้จากดอกเบี้ยเลี้ยงชีวิตหลังเกษียณจะต้องกระเบียดกระเสียรมากขึ้นถ้ารายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากลดลง อัตราการออมของประเทศซึ่งน้อยอยู่แล้วจะยิ่งลดลง ทำให้ประเทศที่ต้องพึ่งพาเงินกู้จากต่างประเทศอย่างไทยมีความเสี่ยงและบั่นทอนความมั่นคงทางเศรษฐกิจในอนาคต

นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยจะช่วยให้เงินทุนไหลเข้าลดลงได้หรือไม่ ก็จะต้องให้เวลาเป็นผู้พิสูจน์ว่า ธปท.หรือรัฐบาลกันแน่ที่คาดการณ์ผิด

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงข้อมูลเงินไหลเข้าจากต่างชาติว่า ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาสัดส่วนของพันธบัตรไทยที่ถือโดยนักลงทุนต่างชาติได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้บาทแข็ง

วิธีลดแรงกดดันเงินบาทที่ได้ผลที่สุดก็คือ การดูแลเงินที่ไหลเข้าตลาดพันธบัตร ซึ่งการลดดอกเบี้ยนโยบายที่มีอายุเพียง 1 วัน จะไม่แก้ปัญหาตรงจุด แต่ต้องใช้มาตรการ Capital Control ซึ่งสามารถทำได้จากระดับอ่อนไปถึงระดับเข้มด้วยการเก็บภาษี เริ่มทำเมื่อใด แรงกดดันบาทแข็งก็จะยุติเมื่อนั้น

ธีระชัย ยังอธิบายต่อไปว่า ทำไมกระทรวงการคลังจึงไม่เลือกใช้มาตรการ Capital Control แต่หันไปกดดัน ธปท.ให้ลดดอกเบี้ยแทน นั่นเป็นเพราะมาตรการคุมเงินไหลเข้าตลาดพันธบัตร ถึงแม้จะได้ผลในการลดแรงกดดันบาทแข็ง แต่จะทำให้มีเงินมาซื้อพันธบัตรน้อยลงในอนาคต

ดังนั้น เมื่อรัฐบาลมีแผนจะกู้เงิน 2 ล้านล้าน ก็อาจจะไม่อยากไปแตะต้องตลาดพันธบัตร นอกจากนี้ธุรกิจที่อาศัยเงินทุนไหลเข้าดังกล่าวไปบูมโครงการต่างๆ โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ แหล่งเงินก็จะมีน้อยลง เขาก็ย่อมไม่ชอบ เป็นเรื่องธรรมดา

ธีระชัย ระบุว่า ทุกมาตรการมีข้อดีข้อเสีย ไม่ว่า ธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบาย หรือใช้ Capital Control หรือเข้าไปแทรกแซงซื้อดอลลาร์ หรือแม้แต่ปล่อยให้บาทแข็งและบังคับให้ผู้ส่งออกต้องปรับตัว

กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง ไม่ใช่คนเดียวที่คิดดังว่าอยากปลดผู้ว่าการ ธปท. ก่อนหน้านี้มีรัฐมนตรีหลายคนที่คิดเบา แต่ลงมือทำ อาทิ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี สมัยเป็น รมว.คลัง ก็ให้กระทรวงการคลังศึกษาการแก้ไขกฎหมาย ธปท. หรือในยุคที่ สุชาติ ธาดาธำรงเวช เป็น รมว.คลัง ก็คิดจะปลด ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท.ในขณะนั้นเช่นกัน แต่ก็ยังหาช่องไม่ได้ จนในที่สุดก็มีการปรับคณะรัฐมนตรี สุดท้าย ธาริษา ก็อยู่รอดปลอดภัยในตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. จนครบวาระ 8 ปี

สำหรับ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.คนปัจจุบันนั้น รับตำแหน่งมาแล้วเกือบ2 ปี เหลืออีก 2 ปีกว่าๆ ก็จะครบวาระ 4 ปี จะต่ออายุหรือไม่ขึ้นกับคณะกรรมการ ธปท.และรัฐบาล แต่หากจะให้พ้นตำแหน่งในขณะนี้ เป็นเรื่องที่ รมว.คลัง จะต้องพลิกตำราหาความผิดผู้ว่าการ ธปท.ให้ได้ และคงจะต้องใช้เวลาอีกสักพัก ซึ่งหากเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลงมาแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลเต็มปากที่จะปลดผู้ว่าการ ธปท.

เกมปลดผู้ว่าการ ธปท. จึงเป็นละครดราม่าที่จะไม่จบได้ง่าย และอาจจะพลิกล็อก หากกระแสการเมืองเปลี่ยนแปลง หลังจากสมาชิกบ้านเลขที่ 111 พ้นจากสุญญากาศทางการเมือง คนที่ถูกจับตาจะเป็นตัวเก็งเต็งหนึ่งที่จะชิงเก้าอี้ รมว.คลัง คือ วราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลังที่ขณะนี้กลับมาเป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำลังมีบทบาทโดดเด่นขึ้นเรื่อยๆ ทางด้านเศรษฐกิจการคลังโดยเฉพาะการผลักดันร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ในฐานะรองประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.กู้เงิน

นี่เป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง ระหว่าง กิตติรัตน์ ที่ต้องใช้เวลาพิสูจน์ฝีมือในฐานะเดี่ยวมือหนึ่งในการบริหารเศรษฐกิจ กับ ประสาร ที่ยังคงยืนหยัดในหลักการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ มากกว่าจะรักษาเก้าอี้ของตัวเอง ว่าใครจะไปก่อนกัน