posttoday

โลกจับตาจีน พลิกโฉมศก. พิสูจน์ฝีมือ "สีจิ้นผิง"

18 ธันวาคม 2555

“การปฏิรูปของประเทศจีนต่อจากนี้จะมุ่งเน้นในเรื่องของคุณภาพและศักยภาพเป็นสำคัญ โดยขั้นตอนการพัฒนาประเทศจะต้องเป็นไปอย่างยั่งยืนและแข็งแกร่ง”

“การปฏิรูปของประเทศจีนต่อจากนี้จะมุ่งเน้นในเรื่องของคุณภาพและศักยภาพเป็นสำคัญ โดยขั้นตอนการพัฒนาประเทศจะต้องเป็นไปอย่างยั่งยืนและแข็งแกร่ง”

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ข้อความตอนหนึ่งจากแถลงการณ์ครั้งแรกหลังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของ สีจิ้นผิง ซึ่งระบุเป้าหมายเศรษฐกิจของประเทศจีนในอนาคตข้างหน้า นับเป็นการสะท้อนให้นักวิเคราะห์และนักลงทุนทั่วโลกพอจะคาดการณ์ทิศทางแนวโน้มการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงโดยคร่าวๆ ต่อจากนี้ของพญามังกรแห่งเอเชียได้เป็นอย่างดีว่า จีนไม่น่าจะโหมทุ่มงบเทเงินมหาศาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้กระเตื้องแบบทันทีทันใดอีกต่อไป

นอกจากนี้ การให้คำมั่นว่าจะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินเชิงรุกให้มากขึ้น ภายใต้การพิจารณาถึงความเป็นไปได้อย่างรอบคอบระมัดระวัง ถือเป็นการส่งสัญญาณที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่สามารถสรุปได้ตรงกันว่า หากจำเป็นต้องกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อให้เกิดสภาพคล่องในระบบโดยที่ไม่กระทบกับตัวเลขเงินเฟ้อ รัฐบาลก็ยินดีที่จะลงมือทำโดยไม่มีเกี่ยงงอน

ขณะเดียวกันแถลงการณ์ของรัฐบาลหลังจากการประชุมวางแผนงานประจำปี ยังคงเอ่ยถึงประเด็นการปฏิรูปเศรษฐกิจซึ่งต่อเนื่องมาจากรัฐบาลชุดที่แล้ว อย่างการเร่งลดพึ่งพาการส่งออก ควบคู่ไปกับการสนับสนุนการบริโภคของตลาดภายในประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจจีนสามารถยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเอง และไม่ต้องตกอยู่ในสภาพที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ที่สถานการณ์การค้าการลงทุนต้องซบเซาตามประเทศคู่ค้าหลักๆ อย่างสหรัฐหรือภูมิภาคยุโรป

ทั้งนี้ คำกล่าวและท่าทีของสีจิ้นผิง ผู้นำคนใหม่ของมหาอำนาจหมายเลขหนึ่งแห่งเอเชียที่มีต่อประเด็นด้านเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องใหม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด

เพราะเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์แวดล้อม ของจีนในปัจจุบันที่ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด ไล่เรียงตั้งแต่การปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ให้เหลือเพียง 7.4% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 3 ปีครึ่ง หรือตัวเลขการส่งออกล่าสุดในเดือน พ.ย. ที่ร่วงเหลือ 2.9% เช่นเดียวกับการนำเข้าที่ไม่กระเตื้องจากเดือน ต.ค. ก่อนหน้าที่ 2.4% ล้วนพอจะเป็นตัวอย่างที่บ่งชี้ให้เห็นว่า สีจิ้นผิงพร้อมด้วยคณะรัฐบาลชุดใหม่กำลังอยู่ภายใต้แรงกดดันและความคาดหวังอย่างหนักหน่วงชาวจีนทั่วประเทศ รวมถึงนักลงทุนทั่วโลกที่จะต้องจัดการยกเครื่องระบบเศรษฐกิจทั้งประเทศ

จากเดิมที่มุ่งเน้นการส่งออกและการลงทุนจากภาครัฐเป็นหลัก ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวเติบโตแบบพุ่งพรวดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่นอกจากจะพึ่งพาตัวเองให้ได้แล้ว ยังต้องช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มรายได้ และลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของสังคมในขณะนี้

ทว่า แม้จะออกแถลงการณ์ลั่นวาจารับปากอย่างมั่นเหมาะ แต่นักวิเคราะห์แทบจะทุกสำนักต่างระบุตรงกันว่า คำมั่นสัญญาดังกล่าวไม่ได้ช่วยทำให้นักลงทุนทั่วโลกเพิ่มความมั่นใจในจีนมากขึ้นสักเท่าไรนัก

เพราะทันทีที่ได้อ่านแถลงการณ์อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง กลับไม่เอ่ยถึงรายละเอียดของ “วิธีการ” หรือขั้นตอนการลงมือทำที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้สักประการเดียว

และกลายเป็นประเด็นที่จะต้องจับตามองกันต่อไปว่า จีนจะพลิกขยับไปตามทิศทางที่วางไว้เช่นไร โดย เฉินเจียนกวง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียจากมิซูโฮะ ซีเคียวริตี เอเชีย ในฮ่องกง กล่าวว่า จะเป็นบททดสอบสำคัญที่สุดสำหรับพิสูจน์ความเป็นผู้นำของสีจิ้นผิง ซึ่งสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนน่าจะมั่นใจได้บ้างก็คือ รัฐบาลชุดใหม่คงจะไม่ยินยอมให้เกิดภาวะเศรษฐกิจดิ่งตัวฉับพลันรุนแรง หรือฮาร์ดแลนดิงแน่

อย่างไรก็ตาม บรรดานักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญซึ่งตามติดสถานการณ์ของจีนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ต่างลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า แม้จะยังไม่เห็นแนวทางจัดการแน่ชัด แต่ในขณะนี้ผู้นำจีนและคณะรัฐบาลน่าจะพอมองเห็น “จุดเปราะบาง” ที่สมควรจะจัดการได้บ้างแล้ว

เป็น “จุดเปราะบาง หรือจุดอ่อน” สำคัญที่ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง จำเป็นต้องเร่งดำเนินการกำราบปราบให้อยู่หมัดเพื่อให้การปฏิรูปเกิดขึ้นอย่างแท้จริงในจีน

ประเด็นที่จะต้องจัดการแรกสุดก็คือ การเปิดทางให้อำนาจการบริหารงานแก่บริษัทอย่างเต็มที่ โดยที่รัฐไม่เข้าไปโอบอุ้มหรือควบคุมจนเกินความจำเป็น ซึ่งนอกจากจะยุติอภิสิทธิ์สิทธิพิเศษต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมความไม่เท่าเทียมที่มีอยู่ในขณะนี้ให้หมดไปแล้ว ยังช่วยเปิดทางให้เกิดการแข่งขันของตลาดภายในประเทศ กระตุ้นการปรับปรุงพัฒนา ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว จะกลายเป็นอีกแรงผลักดันสำคัญให้เศรษฐกิจจีนหันมาพึ่งพากิจกรรมการผลิตภายในประเทศได้

โรเบิร์ต โซลลิก อดีตประธานเวิลด์แบงก์ เตือนในระหว่างงานประชุมทางธุรกิจที่กรุงปักกิ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า หากรัฐบาลจีนไม่คิดจะปรับกลยุทธ์การค้าข้างต้น จีนก็มีความเสี่ยงสูงที่จะตกสู่หลุม “กับดักรายได้ปานกลาง” (Middle Income Trap) หรือสภาพของประเทศกำลังพัฒนาที่เริ่มถีบตัวจากความยากจน โดยสร้างรายได้จากการพัฒนาอุตสาหกรรมและการส่งออก จนประชาชนในประเทศกินดีอยู่ดีระดับหนึ่ง แต่สุดท้ายกลับไม่สามารถพัฒนาตัวเองไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วฐานะร่ำรวยได้ เนื่องจากไม่สามารถสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิผลในการผลิต และเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้

ส่วนประเด็นต่อมา คือ การกระตุ้นการใช้จ่ายของชาวจีนทั่วประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้จำกัดเพียงแค่การมุ่งเพิ่มปริมาณเงินในกระเป๋าด้วยการเพิ่มค่าจ้างผลตอบแทนเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการแบ่งเบาภาระการอดออมของประชาชนด้วย

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งอธิบายว่า ปัจจัยข้างต้นก็คือการที่ผู้นำจีนเดินหน้าปฏิรูประบบสวัสดิการ เบี้ยเลี้ยงบำนาญ การประกันสุขภาพ และการศึกษาของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ ทั่วถึง และเท่าเทียม โดยรวมถึงโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยต่างๆ

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ชาวจีนส่วนใหญ่ขณะนี้ต่างออมเงินส่วนใหญ่ที่หามาได้เพื่อใช้สำหรับบุตรหลานหรือสำหรับตนเองยามแก่ชรา และใช้จ่ายอย่างมัธยัสถ์เท่านั้น ซึ่งถ้าหากว่ารัฐบาลปรับปรุงให้ประชาชนเชื่อมั่นกับหลักประกันที่มั่นคงของชีวิตจากภาครัฐ เมื่อนั้นการใช้จ่ายย่อมกระเตื้องมากขึ้นตามมาด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาระบบการศึกษาให้ประชาชนมีความรู้และทักษะ ซึ่งรวมถึงการใช้ภาษาอังกฤษ ย่อมส่งผลดีต่อการเพิ่มศักยภาพที่จะส่งผลต่อมูลค่าของแรงงาน

สำหรับประเด็นสุดท้าย คือ การจัดการกับนโยบายลูกคนเดียวของจีน ซึ่งส่งผลให้จำนวนประชากรมีแนวโน้มลดลงจนกระทบต่อสัดส่วนแรงงานที่มีอายุระหว่าง 1565 ปี โดย แกรี ชิลลิง ประธานบริษัท เอ. แกรี ชิลลิง แอนด์ โค ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวของจีนมาโดยตลอด ระบุว่า นโยบายควบคุมประชากรข้างต้น จะทำให้สัดส่วนแรงงานของจีนถึงจุดสูงสุดในปี 2557 ก่อนค่อยๆ ลดลงตามลำดับ

แรงงานจีนถือเป็นปัจจัยสำคัญในขยายตัวของจีดีพีจีนถึง 1.8% และหากจำนวนการเกิดลดลง ภายในปี 2573 จีดีพีของจีนมีแนวโน้มจะหดตัวลงปีละ 0.7% เท่ากับว่า หากรัฐบาลจีนไม่เร่งจัดการปฏิรูปนโยบายควบคุมประชากรให้รัดกุม โดยอิงตามสภาพความเป็นจริงในสังคมขณะนั้นให้มากที่สุด นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งสรุปว่า ไม่ช้าไม่นานจีนจะสูญเสียแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดอีกแรงหนึ่งเลยทีเดียว

ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ทุกฝ่ายยอมรับและเห็นตรงกันก็คือ หนทางต่อจากนี้ไปของจีน ก็คือ การเดินหน้าปฏิรูปอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชนิดพลิกโฉมซึ่งส่งผลต่อการก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งของภูมิภาคเอเชีย หรือกระทั่งของโลกที่ไม่สะทกสะท้านต่อแรงสั่นคลอนใดๆ

แต่กระนั้น ประเด็นที่นักวิเคราะห์เกือบค่อนโลกยังคงกังขาก็คือ จีนภายใต้การนำของสีจิ้นผิง จะแน่วแน่ตามแถลงการณ์ที่ได้ลั่นวาจาไปแล้วมากน้อยเพียงใด