posttoday

แห่เก็งกำไร "ทอง-น้ำมัน" เตรียมรับ ศก.ปีหน้าสุดผันผวน

06 ธันวาคม 2555

แม้จะยังไม่ทันก้าวเข้าสู่ปีใหม่ 2556 ทว่าบรรดานักลงทุนต่างก็เริ่มมองหาช่องทางการเก็งกำไรในปีหน้ากันแล้ว

แม้จะยังไม่ทันก้าวเข้าสู่ปีใหม่ 2556 ทว่าบรรดานักลงทุนต่างก็เริ่มมองหาช่องทางการเก็งกำไรในปีหน้ากันแล้ว

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ

โดยเฉพาะในกลุ่ม “สินค้าโภคภัณฑ์” ที่นักวิเคราะห์บางฝ่ายมองว่าน่าจะเป็นช่องทางลงทุนที่คุ้มค่าทางหนึ่ง เพราะปี 2556 น่าจะยังเป็นปีที่ดีของสินค้าโภคภัณฑ์โลกอยู่

สัญญาณบวกเริ่มเห็นได้ชัดเจนขึ้นในช่วงปลายปีนี้ โดยเฉพาะ “ทองคำ” เมื่อบรรดาผู้เล่นรายใหญ่เริ่มขยับตัวซื้อทองตุนกันล่วงหน้าอย่างคึกคักตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปีนี้แล้ว อาทิ กองทุนยักษ์ใหญ่ระดับโซรอส ฟันด์ แมนเนจเมนต์ ซึ่งเพิ่มการลงทุนในทองคำถึง 49% ในไตรมาส 3

ขณะที่กองทุนพอลสัน แอนด์ โค ก็เข้าไปเก็งกำไรในกองทุนค้าทอง เอสพีดีอาร์ โกลด์ ทรัสต์ ถึง 3,660 ล้านเหรียญสหรัฐ

ด้านผู้เล่นรายใหญ่อย่างธนาคารของแต่ละประเทศ ก็เดินหน้าเพิ่มการซื้อทองคำเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศเช่นกัน อาทิ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ ซึ่งเพิ่มการถือครองทองคำไป 20% หรือ 14 ตัน ในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ไปอยู่ที่ 84.4 ตัน เพื่อกระจายความหลากหลาย ซึ่งนับเป็นการซื้อทองเพิ่มเป็นครั้งที่ 4 แล้ว นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2554 ขณะที่ธนาคารกลางบราซิล ตุรกี และคาซัคสถาน ต่างก็เพิ่มสัดส่วนการถือครองทองคำเช่นกัน

การขยับตัวของบรรดาผู้เล่นรายใหญ่ทั่วโลก ส่งผลให้บรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ราคาทองจะขยับขึ้นทุกไตรมาสในปีหน้า จนไปแตะที่ระดับ 1,925 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ในไตรมาส 4 ของปี 2556 หรือเพิ่มขึ้นจากราคาในปัจจุบัน 11%

แน่นอนว่าราคาทองขาขึ้นเช่นนี้ ย่อมสะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนอย่างหนึ่งว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกปีหน้า 2556 ยังไม่น่าจะสดใสขึ้นได้มากนักอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวัง

อย่างน้อยที่สุดก็คือปัญหา “หน้าผาการคลัง” (ฟิสคัล คลิฟ) ที่ฝ่ายการเมืองสหรัฐยังไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องมาตรการลดภาษีและรายจ่ายต่างๆ ซึ่งหากรัฐบาลสหรัฐและสภาคองเกรสยังหาบทสรุปร่วมกันไม่ได้ก่อนวันที่ 31 ธ.ค. ปีนี้ก็อาจเสี่ยงทำให้เงินหายออกจากระบบเศรษฐกิจสหรัฐถึง 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และอาจฉุดให้เขตเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ 1 ของโลกแห่งนี้กลับเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง

นอกจากการถือทองคำจะเป็นการพักการลงทุนจากความเสี่ยงฟิสคัล คลิฟแล้ว ทองคำก็ยังเป็นการลงทุนชั้นดีเพื่อหนีภาวะเงินเฟ้อด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่า แม้เศรษฐกิจสหรัฐจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 3–4 ปีนี้ จากตลาดงานที่เริ่มฟื้นตัวแรงซื้อกลับมาอีกครั้ง และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ทว่าเศรษฐกิจสหรัฐก็ยังไม่แกร่งพอที่จะทำให้รัฐบาลยกเลิกการผ่อนปรนมาตรการทางการเงินและการคลังทั้งหลาย

การประกาศใช้มาตรการผ่อนปรนทางการเงินเชิงปริมาณ (คิวอี) ครั้งที่ 3 ด้วยการอัดเงินเข้าระบบเดือนละ 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐไปราว 3 ปี และการประกาศใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำไปอีกจนถึงปี 2557 จึงถือเป็นสัญญาณชั้นดีให้นักลงทุนหันมาถือทองเพื่อลดความเสี่ยงเงินเฟ้อและเงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลงยาว

ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวนี้ ยังไม่รวมวิกฤตการณ์หนี้ยุโรปที่ยังไม่ได้จบลง เพียงแต่ช่วยให้ออกซิเจนต่อลมหายใจกันมาอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ท่ามกลางความเสี่ยงว่า สเปน หรือเขตเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ 4 ในยุโรปอาจไม่สามารถยื้อปัญหาได้อีกต่อไป และอาจต้องขอเงินกู้เป็นรายล่าสุดในปีหน้านี้

อย่างไรก็ตาม หากสหรัฐสามารถผ่าทางตันหน้าผาทางการคลังได้ในที่สุด ตามที่เคยแก้ปัญหาเอาได้ในนาทีสุดท้ายแทบทุกครั้ง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่น่าจะจับตาตัวต่อมาในปีหน้าก็หนีไม่พ้น “น้ำมัน” ซึ่งน่าจะได้แรงบวกให้กลับมาฟื้นตัวได้ในปีหน้า

นอกจากการผ่าทางตันในสหรัฐจะเป็นตัวกระตุ้นทางหนึ่งท่ามกลางเงินเหรียญสหรัฐที่ยังคงอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องแล้ว ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะช่วยหนุนราคาน้ำมันโลกในปีหน้าก็คือ “การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีน” ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ของว่าที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงและนายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียง ซึ่งต้องเร่งสร้างผลงานในปีแรกของการรับตำแหน่ง

สัญญาณบวกที่ชัดเจนของเขตเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ 2 ของโลกแห่งนี้ เห็นได้ชัดจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) หรือดัชนีบ่งชี้กิจกรรมในภาคการผลิต เดือน พ.ย. ซึ่งปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับ “เติบโต” หรือระดับเกิน 50 จุด ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือนได้เป็นผลสำเร็จ จากการเปิดเผยของธนาคารเอชเอสบีซี โดยอยู่ที่ระดับ 50.5 จุด ขณะที่ตัวเลขพีเอ็มไอของทางการจีนนั้นถือเป็นการปรับบวกเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันจากเดือน ต.ค. โดยอยู่ที่ 50.6 จุด และ 50.2 จุดตามลำดับ

สะท้อนให้เห็นภาคการผลิตและส่งออกที่เป็นหัวใจหลักของระบบเศรษฐกิจจีนนั้นเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งแล้ว ซึ่งการผลิตของโรงงานอันดับ 1 ของโลกนี่เอง ที่จะช่วยผลักดันให้การใช้น้ำมันในปี 2556 กลับมาพุ่งสูงอีกครั้ง

ทางด้านจอห์น คิลดัฟ จากกองทุนอเกน แคปิตอล ในสหรัฐ เปิดเผยกับรอยเตอร์ส ว่าราคาน้ำมันที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในปีหน้านั้น ยังเกี่ยวพันกับปัจจัยความเสี่ยงทางการเมืองในหลายประเทศแถบตะวันออกกลางด้วย ทั้งการประท้วงทางการเมืองในอียิปต์ ปัญหาในซีเรียและความกังวลเรื่องนิวเคลียร์ในอิหร่าน

สำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ในภาพรวมนั้น มีรายงานว่าบรรดากองทุนเก็งกำไรความเสี่ยง (เฮดจ์ฟันด์) หลายแห่ง ได้แห่เพิ่มสัดส่วนการเก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์ตั้งแต่เดือน ส.ค.ของปีนี้กันแล้ว

บลูมเบิร์กรายงานว่า บรรดานักเก็งกำไรในสหรัฐได้เพิ่มสัดส่วนการลงทุน 9.8% ในสัญญาล่วงหน้าและออปชัน 18 รายการที่เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์เมื่อปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ดัชนีจีเอสซีไอ สปอต อินเด็กซ์ ของเอสแอนด์พี ซึ่งเป็นดัชนีเกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ 24 รายการ ปรับบวกขึ้นไปถึง 1.9% ในเดือนเดียวกัน

การกลับมาเก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่แน่นอนและวิกฤตการณ์หนี้ยุโรปยังไม่จบสิ้นนั้น หมายถึงการเดิมพันกันว่าจีนจะเป็นผู้นำการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกในปีหน้านี้ ซึ่งการฟื้นตัวของจีนยังหมายถึงความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์หลายขนาน ในฐานะผู้บริโภครายใหญ่ของโลก

โดยเฉพาะเมื่อผู้นำจีนต่างย้ำว่า จะพยายามลดแรงกดดันเรื่องการค้าที่ไม่สมดุลและการค้าที่เกินดุลในหลายประเทศ ด้วยการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในจีนเองให้มากขึ้น ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความต้องการสินค้าทั้งประเภทวัตถุดิบการก่อสร้างไปจนถึงสินค้าเกษตรให้มากขึ้น

ยิ่งเศรษฐกิจโลกผันผวน มีทั้งข่าวร้ายและข่าวดีปะปนกันมากเท่าไร สินค้าโภคภัณฑ์หลายขนานจึงยิ่งเป็นช่องทางเก็งกำไรที่น่าเสี่ยงมากขึ้นเท่านั้น