ผู้ประกันตน 10 ล้านคนผวากองทุนชราภาพเสี่ยงถังแตก
ตกอกตกใจกันใหญ่ว่ากองทุนชราภาพที่เป็น 1 ในกองทุนประกันสังคมที่เก็บเงินสมทบจากบรรดาลูกจ้าง
ตกอกตกใจกันใหญ่ว่ากองทุนชราภาพที่เป็น 1 ในกองทุนประกันสังคมที่เก็บเงินสมทบจากบรรดาลูกจ้าง
โดย...ชีวรัตน์ กิจนภาธนพงศ์
พนักงานบริษัททุกคนจะเข้าสู่ภาวะถังแตกไม่มีเงินเพียงพอจะจ่ายคืนให้กับสมาชิกที่ชราภาพในระยะต่อไป
เพราะถ้าพิจารณาจากกองทุนประกันสังคมในปัจจุบันที่มีเงินกองทุนกว่า 9.4 แสนล้านบาท ประกอบด้วยกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพกว่า 8.2 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นเงินออมของผู้ประกันตนจำนวนกว่า 10 ล้านคน ที่สำนักงานประกันสังคมสะสมไว้เตรียมจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ โดยจะเริ่มจ่ายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2557
โดยในปี 2557 จะเป็นปีแรกที่ประกันสังคมจะต้องควักเงินจ่ายกรณีชราภาพให้ผู้ประกันตนจำนวน 8,270 ล้านบาท ให้กับผู้ประกันตน 126,110 คน แบ่งเป็นผู้รับบำเหน็จชราภาพ 122,860 คน คิดเป็นเงิน 8,190 ล้านบาท และผู้รับบำนาญชราภาพจำนวน 3,250 คน เป็นเงิน 80 ล้านบาท
ในปี 2567 ประมาณการว่าจะมีผู้รับบำนาญชราภาพถึง 817,680 คน คิดเป็นเงิน 41,960 ล้านบาท ผู้รับบำเหน็จชราภาพ 121,860 คน เป็นเงิน 11,060 ล้านบาท รวมมีผู้รับผลประโยชน์ทดแทนทั้งหมด 939,540 คน เป็นเม็ดเงินถึง 53,020 ล้านบาท
และในปี 2577 จะเป็นปีที่ สปส.มีเงินสะสมกองทุนชราภาพสูงสุดประมาณ 4.6 ล้านล้านบาทนั้น มีการประมาณการว่าจะมีผู้รับบำนาญชราภาพถึง 3.3 ล้านคน คิดเป็นเงิน 422,230 ล้านบาท
จำแนกเป็นจ่ายให้ผู้รับบำเหน็จชราภาพจำนวน 69,950 คน คิดเป็นเงิน 22,370 ล้านบาท รวมมีผู้รับผลประโยชน์ทดแทนทั้งหมดจำนวน 3.37 ล้านคน เป็นเงินที่ สปส.ต้องจ่ายออกไปในจำนวนมหึมา 444,610 ล้านบาท
แต่หลังจากนั้นเพียง 1 ปี คือในปี 2587 รายรับเงินกองทุนชราภาพจะเท่ากับรายจ่ายและจะเริ่มติดลบในปี 2587 เป็นต้นไป
นั่นหมายความในอีก 30 ปีข้างหน้าเงินกองทุนประกันสังคมจะติดลบ ไม่มีเงินจ่ายบำเหน็จบำนาญให้ผู้ประกันตนในรุ่นหลังๆ อีกเลย
ไม่ตื่นตระหนกตกใจก็กระไรไปแล้ว
จริงๆ แล้วปัญหาเงินกองทุนประกันสังคมเสี่ยงถังแตกเป็นที่ถกเถียงกันมานาน โดยในปี 2556 ประกันสังคมเตรียมที่การทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับผลกระทบทั้งกับผู้ที่เป็นสมาชิกเดิมและสมาชิกใหม่
สำหรับแนวทางที่ทาง สปส.ได้เตรียมศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมไม่ให้กองทุนชราภาพติดลบนั้นมี 6 ทางเลือก
ทางเลือกที่ 1.การเพิ่มเงินสมทบกรณีชราภาพ โดยอาจเพิ่มในส่วนของผู้ประกันตนร้อยละ 1 และในส่วนของนายจ้าง 0.5% ทุกๆ 3 ปี จนกระทั่งเงินสมทบในส่วนผู้ประกันตนอยู่ที่ 13% และในส่วนของนายจ้างอยู่ที่ 8% ซึ่งสามารถทำให้กองทุนอยู่ได้ 47 ปีนับจากปี 2557
ทางเลือกที่ 2.เพิ่มอายุสิทธิผู้รับบำนาญ 2 ปี ทุกๆ 4 ปี จนอายุเกษียณอยู่ที่ 62 ปี โดยคงเงินสมทบที่ 3% ทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง ทำให้กองทุนอยู่ได้ 38 ปี
ทางเลือกที่ 3.เพิ่มระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบก่อนเกิดสิทธิรับบำนาญ จาก 15 ปีเป็น 20 ปี อายุเกษียณอยู่ที่ 55 ปี ทั้งนี้การปรับเพิ่มระยะเวลาดังกล่าวอาจค่อยเป็นค่อยไป
ทางเลือกที่ 4.การปรับฐานค่าจ้างที่ใช้ในการคำนวณเงินบำนาญ โดยปรับจากฐานค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายเป็นค่าจ้างเฉลี่ยตลอดช่วงการจ่ายเงินสมทบ
ทางเลือกที่ 5 เป็นทางเลือกผสม คือ ทางเลือกที่ 1+3 ซึ่งสามารถทำให้กองทุนอยู่ได้ 59 ปี
ทางเลือกสุดท้าย คือ ทางเลือกผสม 1+2+3+4 ซึ่งทำให้กองทุนอยู่ได้ 38 ปี
ปัญหากองทุนชราภาพไม่เพียงที่จะต้องเสี่ยงถังแตกเงินไม่มีจ่ายผู้ประกันตนรุ่นหลัง ยังมีประเด็นเป็นที่ถกเถียงว่าคนที่เกษียณได้รับเงินบำนาญเพียง 3,000 บาทจะเพียงพอต่อการดำรงชีพได้แค่ไหน
หนทางหนึ่ง สปส.เองก็ต้องดิ้นรนการบริหารเงินกองทุนเพื่อไม่ให้ถูกเงินเฟ้อกัดกิน โดยปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีเงินรวม 9.4 แสนล้านบาทเป็นเงินกองทุนชราภาพประมาณ 8.2 แสนล้านบาท ซึ่งแต่ละปีนำเงินกองทุนไปลงทุนภายใต้กรอบการลงทุนที่ความเสี่ยงน้อยโดยได้ผลตอบแทนประมาณ 4.5% ต่อปี
ถือเป็นสิ่งท้าทายการบริหารเงินกองทุนของประกันสังคมที่กุมชะตาเงินบำนาญของผู้ประกันตน 10 ล้านคน
แต่ดูเหมือนว่า รัฐบาลยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ในเชิงการหาทางปิดจุดอ่อนของกองทุนชราภาพที่จะเกิดขึ้น
ในทางปฏิบัติ รัฐบาลกลับพยายามใช้กองทุนเหล่านี้ไปสนองนโยบายฝ่ายการเมืองด้วยซ้ำไป
ล่าสุดนั้นมีมติเห็นชอบลดส่งเงินสมทบให้ผู้ประกันตนและนายจ้างลง 1% ตลอดปี 2556 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดยผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งนายจ้างและลูกจ้างจะส่งเงินสมทบในอัตรา 4% จากปกติที่เก็บ 5% ส่วนผู้ประกันตนตามมาตรา 39 เดิมจ่ายในอัตรา 9% ของฐานค่าจ้าง 4,800 บาท ลดเหลืออัตรา 7% ของฐานค่าจ้าง 4,800 บาท หรือจ่ายเงินสมทบเดือนละ 336 บาท โดยในส่วนของรัฐบาลยังคงจ่ายเงินสมทบในอัตราเดิม 2.75%
แม้การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานจำนวน 3.46 ล้านคน ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น และต้องนำส่งอัตราเงินสมทบที่เพิ่มขึ้น หากมีการจัดเก็บในอัตราปกติฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง 5% และรัฐบาล 2.75% รวมแล้วในกลุ่มนี้จะต้องส่งเงินสมทบเพิ่มขึ้น 9,217 ล้านบาท แต่หากลดเงินสมทบลง 1% ในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง เท่ากับว่าเงินที่ต้องเก็บได้เพิ่มขึ้นจะหายไปทันที 5,231 ล้านบาท
ถ้าหากรัฐบาลยังไม่มีการพิจารณาแนวทางการปิดจุดอ่อนการจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคม และกองทุนชราภาพไว้แต่เนิ่นๆ รับประกันได้ว่า บรรดาพนักงานบริษัท ลูกจ้าง มนุษย์เงินเดือนที่จ่ายเงินสมทบในวันนี้ เมื่อทุกคนชราภาพขึ้นมา เงินที่พึงได้รายเดือนในยามชราภาพจะมีปัญหาแน่นอน
เราเตือนคุณแล้ว