posttoday

แบงก์จีนจ่อสะท้าน คุณภาพหนี้ส่อแววขม

28 สิงหาคม 2555

กลายเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับโดยปราศจากข้อโต้แย้งใดๆ ว่า ขณะที่บรรดาธนาคารสัญชาติต่างๆ ในภูมิภาคยุโรปกำลังระบมด้วยอาการพิษจากวิกฤตหนี้สาธารณะ

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

กลายเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับโดยปราศจากข้อโต้แย้งใดๆ ว่า ขณะที่บรรดาธนาคารสัญชาติต่างๆ ในภูมิภาคยุโรปกำลังระบมด้วยอาการพิษจากวิกฤตหนี้สาธารณะ ซึ่งแผลงฤทธิ์ตลอดช่วง 2-3 ปีให้หลังที่ผ่านมา จนทำให้กำไรจากผลประกอบการของธนาคารเหล่านี้หล่นวูบ หรือขาดทุนอย่างหนักหน่วงที่สุดในประวัติศาสตร์การเงินของยุโรป

บรรดาธนาคารสัญชาติจีนกลับเปลี่ยนสถานะมาอยู่ในขั้วตรงข้ามที่สมบูรณ์พร้อมด้วยความอู้ฟู่มั่งคั่ง จนทำให้ผลประกอบการของธนาคารจีนเมื่อปี 2554 จากการจัดอันดับของนิตยสารแบงก์เกอร์ ถือได้ว่ายอดเยี่ยมที่สุด โดยมีธนาคารเพื่ออุตสาหกรรมและการพาณิชย์แห่งประเทศจีน (ไอซีบีซี) ธนาคารเพื่อการก่อสร้างจีน (ซีซีบี) และธนาคารแห่งประเทศจีน (แบงก์ออฟไชนา) ติดอันดับธนาคารที่ทำกำไรได้สูงที่สุด 3 อันดับแรก ตามลำดับ

ยิ่งไปกว่านั้น เหล่าธนาคารแห่งแดนมังกรนี้ยังติดอันดับ 1 ใน 10 ธนาคารที่บริบูรณ์ด้วยเงินกองทุนที่เอื้ออำนวยต่อการปล่อยสินเชื่อได้อย่างมหาศาล โดยมีธนาคารเพื่อการเกษตรแห่งประเทศจีน (เอบีซี) ติดอันดับเพิ่มเข้ามา

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ในขณะที่ธนาคารยุโรปกำลังปวดหัวปวดใจกับวิกฤตหนี้จนขาดทั้งสภาพคล่องและความน่าเชื่อถือ ธนาคารจีนกลับกำลังตักตวงประโยชน์อย่างเต็มที่อันเป็นผลพวงจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่ทำให้ภาคธุรกิจการเงินขยายตัวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

อย่างไรก็ตาม ความเร็วและแรงของบรรดาธนาคารต่างๆ ของจีนมีแนวโน้มที่จะเสื่อมมนต์ขลัง และอาจตามมาด้วยสัญญาณเตือนอันตรายที่บ่งชี้ว่า อีกไม่ช้าไม่นานจีนมีแววจำต้องเจริญรอยตามยุโรปและสหรัฐกับการเจ็บตัวจากปัญหาเรื่องหนี้ที่ปล่อยไม่อั้นในช่วง 2-นเชื่อ3 ปีให้หลังมานี้

ทั้งนี้ หน้าที่พื้นฐานหลักๆ ของธนาคารทั่วโลก นอกจากจะเป็นแหล่งฝากเงินและแหล่งระดมทุนที่สำคัญแล้ว ยังเป็นแหล่งเงินทุนขนาดใหญ่ของบรรดาธุรกิจมากมายหลายแขนง รวมถึงหน่วยงานของภาครัฐ

แน่นอนว่า ธนาคารสัญชาติจีนทั้งหลายก็ทำหน้าที่เหล่านี้ด้วยเช่นกัน โดยที่ผ่านมารัฐบาลจีนเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมหาศาลด้วยการเปิดช่องให้ธนาคารของประเทศมีส่วนร่วมผ่านการให้เงินกู้ยืมภาคเอกชนและรัฐบาลท้องถิ่นอย่างเต็มที่ เพื่อนำเงินไปต่อยอดลงทุนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น น้ำ ไฟฟ้า หรือถนน

แบงก์จีนจ่อสะท้าน คุณภาพหนี้ส่อแววขม

รายงานจากเซี่ยงไฮ้ ซีเคียวริตีส์ นิวส์ ระบุชัดว่า เฉพาะช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือน ส.ค.นี้ ยอดปล่อยกู้สกุลเงินหยวนของธนาคารยักษ์ใหญ่ 4 แห่งของจีน ทั้งไอซีบีซี ซีซีบี แบงก์ออฟไชนา และเอบีซี มีสัดส่วนวงเงินสูงถึง 7 หมื่นล้านหยวน (ราว 3.5 แสนล้านบาท) หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของยอดปล่อยกู้ในภาคธนาคารจีนทั้งหมด และเพิ่มขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนที่ผ่านมา รวมถึงเป็นจำนวนวงเงินที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของเดือน มิ.ย. ซึ่งอยู่ที่จำนวน 2.5 หมื่นล้านหยวน (ราว 1.25 แสนล้านบาท)

ยังไม่นับรวมถึงยอดปล่อยกู้ทั้งหมดในช่วง 23 ปีให้หลังที่ผ่านมา ที่รัฐบาลแดนมังกรทั้งผลักทั้งดันภาคธนาคารให้ปล่อยแบบเต็มที่ ซึ่งมีแววชัดเจนว่าจะเป็นจำนวนเงินมหาศาล เพราะลำพังแค่หนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นที่มีการเปิดเผยไปก่อนหน้านี้ก็ทบต้นทบดอกพอกพูนจนมีจำนวนสูงถึง 10.7 ล้านล้านหยวน (ราว 53.5 ล้านล้านบาท) หรือเทียบเท่ากับ 25% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจต่อปีทั้งหมดของประเทศจีน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการปล่อยกู้ไม่อั้นของธนาคารรายใหญ่และรายย่อยของจีนปราศจากปัญหากวนใจมาโดยตลอด ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นไปอย่างเข้มแข็ง ด้วยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งอยู่ในอัตราเฉลี่ยที่ระดับ 10% มาอย่างต่อเนื่อง

เรียกได้ว่า การกู้เงินไม่มีปัญหาตราบใดที่ผู้ยื่นเรื่องของกู้เงินยืนยันหนักแน่น และมีระดับความน่าเชื่อถือเพียงพอว่าสามารถหาเงินมาใช้คืนได้ตามกำหนดวาระเวลาและครบตามจำนวน

ทว่า เมื่อประเทศที่เน้นการพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักมาโดยตลอดอย่างจีน ต้องสูญเสียตลาดส่งออกสินค้าที่สำคัญอย่างยุโรปและสหรัฐ ซึ่งเผชิญปัญหาหนี้และภาวะเศรษฐกิจถดถอยจนทำให้อำนาจในการจับจ่ายใช้สอยลดลง

เศรษฐกิจจีนย่อมไม่เหลือทางเลือก นอกจากการชะลอตัวตาม โดยที่นักวิเคราะห์หลายสำนักต่างเห็นตรงกันว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้น่าจะอยู่ที่เพียงระดับ 7.6% ซึ่งถือได้ว่าต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา

หลักฐานยืนยันก็คือ ตัวเลขการส่งออกเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ส่งออกได้ต่ำสุดในรอบ 3 ปี จนนายกรัฐมนตรี เวินเจียเป่า ต้องลุกขึ้นมาส่งสัญญาณออกมาตรการใหม่ๆ หนุนภาคการส่งออกเพื่อให้ได้ตามเป้าการส่งออกของปีที่ตั้งไว้ที่ 10%

ขณะที่ตัวเลขผลประกอบการภาคอุตสาหกรรมซึ่งเปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แสดงให้เห็นว่า ผลกำไรของบรรดาบริษัทสัญชาติจีนในเดือน ก.ค. ลดลง 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ทั้งนั้น อาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจได้ส่งสัญญาณให้นักวิเคราะห์อดออกอาการหวาดผวาไปตามๆ กันไม่ได้

เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เชื่องช้า ย่อมหมายถึงความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลงของลูกหนี้ โดย เฉิงหนาน ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยของธนาคารซีซีบี กล่าวว่า ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากบรรดาลูกหนี้ โดยเฉพาะในธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อย และพ่อค้าปลีกรายใหญ่เริ่มประสบปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งบางรายถึงขั้นต้องประกาศล้มละลาย โดยตัวเลขเอ็นพีแอลที่สูงที่สุดของจีนในขณะนี้อยู่ที่มณฑลเจ้อเจียง ขณะที่มณฑลอื่นๆ กำลังไต่อันดับตามมาติดๆ

นอกจากนี้ แม้ว่ารายงานจากคณะกรรมการกำกับดูแลธนาคารจีน (ซีบีอาร์ซี) จะเผยว่า สัดส่วนหนี้เสียของธุรกิจธนาคารจีนอยู่ที่ระดับ 0.9% ในช่วงสิ้นไตรมาส 2 คิดเป็นมูลค่า 4.56 แสนล้านหยวน (ราว 22.8 ล้านล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสถิติช่วงสิ้นสุดไตรมาสแรก ซึ่งอยู่ที่ระดับ 4.38 แสนล้านหยวน (ราว 2.19 ล้านล้านบาท)

เรียกได้ว่า เป็นการเพิ่มขึ้นแบบทรงตัวในระดับที่รับได้

แต่เอาเข้าจริงแล้ว นักวิเคราะห์ก็ยังอดหวาดหวั่นกับปัญหาวิกฤตหนี้ไม่ได้ เนื่องจากภาคธนาคารจีนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถแจกแจงแถลงไขให้นักลงทุนมั่นใจว่าหนี้แต่ละประเภทมีที่มาที่ไปอย่างไร ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งก็อดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่า ตัวเลขเอ็นพีแอลที่อยู่ในระดับต่ำอาจเป็นผลมาจากการที่ธนาคารบางแห่งจงใจปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ของตนเอง

ลำพังแต่ปัจจัยสองประการข้างต้น ทั้งการรายงานตัวเลขหนี้และเศรษฐกิจที่เชื่องช้าลง ก็ส่งผลเพียงพอที่ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์กันว่า ตัวเลขเอ็นพีแอลของธนาคารจีนมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1%

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งกลับเห็นว่า ภาคธนาคารจีนไม่น่าที่จะประสบวิกฤตเลวร้ายในระดับที่เทียบได้กับเลห์แมน บราเธอร์ส ซึ่งรุนแรงถึงขั้นล้มละลาย เนื่องจากระบบธนาคารของจีนแตกต่างจากธนาคารในฝั่งตะวันตกตรงที่ธนาคารจีน โดยเฉพาะรายใหญ่ไม่มีความจำเป็นต้องขอกู้ยืมเงินระดมทุนจากธนาคารอื่นๆ เพราะมีสภาพคล่องจากเงินฝาก ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารสามารถซื้อเวลาจัดการปัญหาหนี้ในระยะยาวได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า จีนจะสามารถหลีกเลี่ยงวิกฤตหนี้ภาคธนาคารของตนเองได้อย่างปลอดภัย

เพราะปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นกำลังสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ภาคธนาคารจีนในขณะนี้เพิกเฉยต่อคุณภาพของการปล่อยสินเชื่อ กับวิธีการหาเงินคืนของบรรดาธุรกิจต่างๆ ภายในประเทศ ที่อาจนำไปสู่วิกฤตหนี้สาหัสในอนาคต