posttoday

การเมืองบอนไซแบงก์รัฐ

10 สิงหาคม 2555

ต้องยอมรับกันว่า การดำเนินนโยบายรัฐในภาวะที่เศรษฐกิจชะงักงัน

โดย...ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

ต้องยอมรับกันว่า การดำเนินนโยบายรัฐในภาวะที่เศรษฐกิจชะงักงัน สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐถือเป็นแขนขาสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาลให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้

ลำพังรัฐบาลที่จัดทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องมาหลายปีนั้นไม่เพียงพอในการขับเคลื่อน การอัดฉีดเงินผ่านแบงก์รัฐจึงเป็นการผ่อนคลายการขาดดุลงบประมาณ และทำให้ตัวเลขหนี้สาธารณะไม่สูงรวดเร็ว จนสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม การใช้แบงก์รัฐอย่างหักโหมในช่วงที่ผ่านมา ทำให้แบงก์รัฐเกือบทุกแห่งอยู่ในสภาพบอกช้ำอิดโรย เพราะการซุกหนี้จากงบประมาณมาไว้ที่แบงก์รัฐต่างๆ จำนวนมาก ทำให้แบงก์รัฐกลายเป็นธนาคารอมโรค

นอกจากนี้ การเมืองยังแทรกแซงการทำงานโดยการส่งคนใกล้ชิด เข้ามานั่งเป็นกรรมการ เป็นผู้บริหาร ซึ่งจำนวนไม่น้อยไม่มีความเหมาะสม และไม่มีความสามารถที่จะทำหน้าที่ดังกล่าว ที่สำคัญหลายคนเข้ามาปูทางให้ฝ่ายการเมืองหาประโยชน์ต่างๆ นานา ทำให้แบงก์รัฐอยู่ในภาวะถูกสูบเลือดจนตัวซีด

งานเข้ามากที่สุด หนีไม่พ้นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ต้องสนองนโยบายประชานิยมของรัฐบาลมากที่สุด ที่ร้อนฉ่าตอนนี้ก็คือโครงการรับจำนำข้าวตันละ 1.5-2 หมื่นล้านบาท ที่ต้องใช้เงินถึง 2.6 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินของ ธ.ก.ส. 9 หมื่นล้านบาท และเป็นเงินกู้จาก 1.7 แสนล้านบาท

การต้องใช้เงินสภาพคล่องของธนาคารถึง 9 หมื่นล้านบาท ไปรับจำนำข้าว ทำให้ธนาคารไม่มีสภาพคล่องไปปล่อยให้สินเชื่อปกติได้อย่างเพียงพอ ทำให้ธนาคารต้องระดมทุนโดยการออกสลากและการขอเพิ่มทุนจากอีก 1 หมื่นล้านบาท แต่ถูกรัฐบาลพับไปก่อน เพราะกลัวว่าจะถูกโจมตี

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังต้องทำโครงการพักหนี้ดีไม่เกิน 5 แสนบาท ทำให้ธนาคารเข้าเนื้อไป 8,000 ล้านบาท และยังโดนหางเลขเก็บค่าธรรมเนียมเงินฝากเข้าเนื้อไปอีก 6,000 ล้านบาท

การเมืองบอนไซแบงก์รัฐ

 

เมื่อต้องโหมโรงลุยนโยบายหลายเรื่องพร้อมกัน ทำให้ ธ.ก.ส. แห้งกรอบหมดตัว จนผู้บริหารแบงก์ออกมาเปรยว่า หากรัฐบาลมีโครงการรับจำนำรอบใหม่ โดยที่ยังระบายข้าวหาเงินมาใช้ ธ.ก.ส.ไม่ได้ ทางรัฐบาลต้องหาเงินมาให้ธนาคารรับจำนำข้าว เพราะสภาพคล่องของธนาคารแห้งผากไม่มีช่วยในโครงนี้อีกแล้ว

ขณะที่ธนาคารออมสินก็งานหนักไม่น้อย ต้องพักหนี้ไม่เกิน 5 แสนบาท แต่ปรากฏว่าลูกหนี้ไม่มาพักหนี้ รัฐบาลก็บีบให้ธนาคารลดดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ 3% ดื้อๆ เป็นการหาเสียงทางการเมืองสุดโต่ง ทำให้ธนาคารเข้าเนื้อไป 2,700 ล้านบาท

ด้านธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ที่ผ่านมา สนองนโยบายรัฐบาลโดยการปล่อยสินเชื่ออย่างสุ่มเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อน้ำท่วม สินเชื่อชะลอเลิกจ้าง แม้ว่าตอนต้นจะสร้างผลงานให้กับธนาคารและนักการเมืองที่ปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้จำนวนมาก แต่สินเชื่อดังกล่าวเป็นหนี้เสียจำนวนมาก ทำให้แบงก์จมกองหนี้เน่าทั้งของใหม่ของเก่า จนลืมตาอ้าปากไม่ขึ้น นอกจากต้องปล่อยเพื่อสนองนโยบายลด แลก แจก แถม จนชักหน้าไม่ถึงหลัง

แบงก์รัฐหลายแห่งยังต้องประสบปัญหาการแทรกแซงของฝ่ายการเมืองจนทำให้มีปัญหาการบริหารงาน ทำให้การดำเนินงานของธนาคารออกอาการย่ำแย่ไปด้วย มีปฏิบัติการเช็กบิลผู้บริหารของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจึงเริ่มขึ้นเป็นระลอก เพื่อนำคนของตัวเองเข้ามานั่งคุมกองเงินกองทองไล่เรียงมาตั้งแต่ต้นปี

ไล่ตั้งแต่การตั้งกรรมการสอบ “ธีรศักดิ์ สุวรรณยศ” ผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ในข้อหาปล่อยสินเชื่อไม่ชอบมาพากล 8 โครงการ มูลหนี้ราว 8,000 ล้านบาท ซึ่งผลสอบนั้นออกมาแล้วว่าไม่พบการกระทำผิดระเบียบ หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคาร แต่การตรวจสอบดังกล่าว ส่งผลให้การทำงานของธนาคารแห่งนี้ชะงักงันยาวนานไปถึง 6 เดือน

มรสุมยังพัดไปรุมเร้าที่แบงก์ชมพู “เลอศักดิ์ จุลเทศ” อดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ที่สร้างผลงานโดดเด่นเป็นที่รักของพนักงานและเจ้าหน้าที่ธนาคารอย่างมาก แต่ไม่ได้เข้าตาฝ่ายการเมืองชุดนี้ที่คอยดึงรั้ง สะท้อนจากผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกที่กำไรลดลงมาอยู่ 9,700 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปี 2554 ที่มีกำไร 1.2 หมื่นล้านบาท

สุดท้ายเอสเอ็มอีแบงก์ก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ผู้ที่เคยกุมบังเหียน “โสฬส สาครวิศว” กำลังถูกเช็กบิล แม้เจ้าตัวจะชิงยื่นหนังสือลาออก โดยอ้างปัญหาสุขภาพ แต่เบื้องต้นบอร์ดไม่อนุมัติใบลาออก และยังเดินหน้าสอบข้อเท็จจริงการบริหารงาน 9 ด้าน ที่ถูกธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งข้อสังเกตอย่างหนัก

ส่วนธนาคารอาคารสงเคราะห์ จะเห็นได้ว่านอกจากสินเชื่อซอฟต์โลนแล้ว สินเชื่อตัวอื่นแทบจะไม่ขยับ บ้านหลังแรกที่กำหนดวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ปล่อยได้จริงไม่ถึง 5,000 ล้านบาท

พายุลูกแล้วลูกเล่าจากรัฐบาลชุดนี้ ที่พัดถล่มสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ส่งผลให้ตอนนี้การดำเนินงานของแบงก์รัฐเกิดภาวะ “ชะงักงัน” ในการปล่อยสินเชื่อ และ “เกียร์ว่าง” ในการออกมาตรการใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ส่งผลให้สินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐหด หนี้เสียก็พุ่งขึ้นแทบทุกแห่ง

ถ้ารัฐยังคงเล่นการเมือง บีบคนเก่า ยื้อเวลาให้หมดวาระ เอาคนของเราเข้าไปเสียบแบบนี้ต่อไป แบงก์รัฐมีปัญหาแน่ไม่เชื่อโปรดรอดู