posttoday

เจ้าภาพ'ลอนดอน'จ่อเข้าเนื้อ โอลิมปิกกระตุ้น เศรษฐกิจแค่ 100 เมตร

27 กรกฎาคม 2555

มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ โอลิมปิกเกมส์ ได้เริ่มต้นเปิดฉากขึ้นแล้วในวันนี้กับ “ลอนดอน 2012”

โดยนันทิยา วรเพชรายุทธ

มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ โอลิมปิกเกมส์ ได้เริ่มต้นเปิดฉากขึ้นแล้วในวันนี้กับ “ลอนดอน 2012” ซึ่งถือเป็นการแข่งขันกีฬาที่มาได้ถูกจังหวะอย่างยิ่ง ในยามที่ทั่วโลกโดยเฉพาะฝั่งยุโรปกำลังหน้าดำคร่ำเครียดกับปัญหาเศรษฐกิจ

แม้อังกฤษจะไม่ได้ร่วมหอลงโรงกับกลุ่มยูโรโซน ที่เจอผลกระทบวิกฤตหนี้กันหนักหน่วงที่สุด แต่ก็ใช่ว่าจะหลุดไปจากวงโคจรเสียทีเดียว เพราะการที่มีคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดเป็นกลุ่ม 17 ประเทศยูโรโซนนั้น ได้ฉุดให้เศรษฐกิจในไตรมาส 2 ของแดนผู้ดีต้องติดลบอีก 0.7% ถือเป็นการติดลบรุนแรงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ และยังเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน

มหกรรมโอลิมปิกในวันนี้ จึงเป็นทั้งความบันเทิงและเป็นความหวังของคนอังกฤษไปพร้อมกันว่า จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแดนผู้ดีให้กลับมาฟื้นตัวได้อย่างคึกคักอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ความหวังกับความจริงอาจไม่ใช่สิ่งที่สอดคล้องกันเสมอไป

การวิจัยของหลายสำนักและตัวอย่างการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกตลอดช่วง 30 ปีมานี้ ล้วนบ่งชี้ว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการเป็นเจ้าภาพนั้น อาจจำกัดอยู่แค่ช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น และยังอาจได้ไม่คุ้มเสียเมื่อเทียบกับงบประมาณมหาศาลที่ทุ่มไป เพราะโอลิมปิกนั้นได้ชื่อว่าเป็นมหกรรมที่ “แพง” ที่สุดงานหนึ่งของโลก

จีนเคยสร้างประวัติศาสตร์เป็นเจ้าบุญทุ่มในปักกิ่ง 2008 เอาไว้ที่ 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.3 ล้านล้านบาท)

แม้ในเบื้องต้นรัฐบาลอังกฤษจะคาดการณ์ค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกไว้เพียง 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.6 แสนล้านบาท) ทว่าตัวเลขที่แท้จริงในวันนี้กลับแซงหน้าไปกว่า 3 เท่าตัว สูงถึงราว 1.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5.4 แสนล้านบาท) และยังเป็นการเกินเป้าในช่วงจังหวะที่เศรษฐกิจอังกฤษถดถอยหนัก จนส่งผลให้ มากาเร็ต ฮอดจ์ ประธานคณะกรรมาธิการงบประมาณของอังกฤษ ถูกสื่อตั้งคำถามอย่างหนักระหว่างการแถลงตัวเลขดังกล่าวในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

เจ้าภาพ'ลอนดอน'จ่อเข้าเนื้อ โอลิมปิกกระตุ้น เศรษฐกิจแค่ 100 เมตร

 

หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน ได้รายงานการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์หลายฝ่ายไว้ตรงกันว่า เศรษฐกิจแดนผู้ดีจะฟื้นตัวกลับมาได้ในช่วงไตรมาส 3 หลังจากที่ซบเซาไปอย่างหนักในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากสภาพอากาศที่เลวร้ายและยังเป็นช่วงวันหยุดยาวเนื่องในพระราชพิธีครองราชย์ครบ 60 ปี ของสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 2

บริษัท วิจัยแคปิตอล อิโคโนมิคส์ คาดการณ์ว่า แฟนกีฬาจากทั่วโลกที่จะหลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่ขาดสายในช่วงนี้ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญที่เข้ามากิน ดื่ม ช็อป และเที่ยวกันอย่างเต็มที่ จะช่วยเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ถึง 0.3% และผลักดันให้จีดีพีในช่วงไตรมาส 3 ฟื้นกลับมาเป็นบวกได้ 0.8%

อย่างไรก็ตาม แรงบวกจากโอลิมปิกอาจไม่ยืนยาวไปจนถึงช่วงปลายปี โดยเฉพาะเมื่อเจอกับปัจจัยลบที่แรงสุดขั้วอย่างวิกฤตการณ์หนี้ยุโรป ซึ่งมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้นจากกรณีของกรีซและสเปน โดยนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารซิตีกรุ๊ปนั้น ถึงกับออกมาประกาศว่า กรีซมีแนวโน้มถึง 90% ที่จะต้องออกจากกลุ่มยูโรโซนภายในอีก 12–18 เดือนข้างหน้านี้

แม้ว่า จอร์จ ออสบอร์น รัฐมนตรีคลังอังกฤษ จะคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าเศรษฐกิจจะโตได้ 0.8% ในปีนี้ โดยคาดว่าจะได้แรงหนุนจากกีฬาโอลิมปิกเป็นสำคัญ ทว่าปัญหาหนี้ยุโรปที่ยืดเยื้อและทวีความรุนแรงก็ได้ทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับลดคาดการณ์จีดีพีของอังกฤษในปีนี้ว่าจะโตได้เพียง 0.2% เท่านั้น

ขณะที่แคปิตอล อิโคโนมิกส์ เชื่อว่าแรงหนุนจากโอลิมปิกนั้น จะส่งไปไม่ถึงไตรมาส 4 ของปีนี้ โดยคาดว่าจีดีพีไตรมาส 4 จะหดตัวลง 0.4% และส่งผลให้จีดีพีตลอดทั้งปี 2555 หดตัวลง 0.5%

ภาคส่วนสำคัญอีกภาคหนึ่งที่อังกฤษคาดหวังนอกจากการกิน ดื่ม ช็อป ของนักท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าอาจทำตัวเลขได้สูงสุดถึงวันละ 3 ล้านคนนั้น คือภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะเริ่มหลั่งไหลเข้ามาหลังพิธีเปิดลอนดอนเกมส์ ในวันที่ 26 ก.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาอังกฤษนั้น อาจลดลงจากผลกระทบของโอลิมปิก เนื่องจากนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยไม่ต้องการเที่ยวแบบเบียดเสียด หรือแย่งกันเที่ยวในช่วงมหกรรมกีฬาระดับโลก โดยสมาคมการท่องเที่ยว ยูเคอินบาวด์ ระบุว่า ยอดจองของนักท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 3 นั้น ลดลงถึง 50% เมื่อเทียบกับช่วงปกติ

ออสเตรเลีย ซึ่งเคยเป็นเจ้าภาพซิดนีย์เกมส์ ในปี 2000 มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 16% ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่จัดการแข่งขัน ทว่าจำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากนั้น และลดลงต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน

ทั้งนี้ จากสถิติการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกเกมส์มาตั้งแต่ปี 1980 จะพบว่า แทบไม่มีเจ้าภาพรายใดเลยที่ประสบความสำเร็จในแง่ความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับงบประมาณมหาศาลที่ได้ทุ่มไป หลายประเทศมีรายงานจีดีพี 2 ไตรมาสก่อนหน้าการแข่งขันที่ดีกว่า 2 ไตรมาสหลังการแข่งขัน และหลายประเทศต้องเจอกับภาวะเศรษฐกิจที่แผ่วลงอย่างหนักหลังโอลิมปิก อาทิ โซล 1988 บาร์เซโลนา 1992 และปักกิ่ง 2008

เจ้าภาพเพียงประเทศเดียวที่ประสบความสำเร็จในแง่เศรษฐกิจนั้นมีเพียง “สหรัฐ” หลังเปิดบ้านจัด แอตแลนตา เกมส์ 1996 เพราะยังสามารถคงการเติบโตทางเศรษฐกิจได้หลังจบโอลิมปิก

วิกฤตการณ์หนี้ยุโรปที่ยืดเยื้อมาเกือบ 3 ปี และยังฉุดให้เศรษฐกิจอังกฤษถดถอยถึง 3 ไตรมาสติดต่อกันจนถึงปัจจุบัน ยังอาจเป็นปัญหาเรื้อรังที่บั่นทอนกำลังใจของชาวอังกฤษมากกว่าที่โอลิมปิกเกมส์จะช่วยฟื้นได้

ผลสำรวจความเห็นประชาชนโดยบริษัทที่ปรึกษา เลนโฟร์ ในอังกฤษ พบว่า ชาวอังกฤษถึง 58% เชื่อว่า ลอนดอน 2012 ไม่ได้ช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้คนทำงานชาวอังกฤษในฐานะเจ้าบ้านได้มากนัก ส่วนอีก 18% เชื่อว่าช่วยในระยะสั้นเท่านั้น

ขณะที่บางส่วนเชื่อว่า แรงบวกที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจแดนผู้ดีในช่วงครึ่งปีหลังนั้น น่าจะมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมากกว่าจะมาจากโอลิมปิกเกมส์ โดยเฉพาะมาตรการช่วยซื้อสินทรัพย์ (คิวอี) 5 หมื่นล้านปอนด์ (ราว 2.5 ล้านล้านบาท) ที่ธนาคารกลางอังกฤษได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ และคาดว่าจะเห็นผลภายในช่วงปลายปีนี้

โอลิมปิกเกมส์ จึงอาจเป็นความฝันของคนทั้งโลกที่ต้องการพิสูจน์ความสามารถทางกีฬา 302 รายการ จาก 26 ชนิดกีฬา

ทว่าไม่อาจเป็นความหวังทางเศรษฐกิจให้ชาวลอนดอน...