posttoday

จับตาศก.สเปนดิ่งเหว จุดชนวนวิกฤตหนี้อียูรอบใหม่

09 เมษายน 2555

“ขณะนี้สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในวิกฤตหนี้ยูโรโซนได้ผ่านพ้นไปแล้ว” มาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)

โดย...ณัฐสุดา จิตตปาลพงศ์

“ขณะนี้สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในวิกฤตหนี้ยูโรโซนได้ผ่านพ้นไปแล้ว” มาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ประกาศด้วยความมั่นใจระหว่างให้สัมภาษณ์กับสื่อเยอรมนีเมื่อเดือนก่อน ท่ามกลางความโล่งอกของบรรดานักลงทุนและนักวิเคราะห์ทั่วโลก

เพราะถ้อยแถลงของดรากีถือได้ว่าเป็นสัญญาณอันดีที่ผู้คนทั่วโลกต่างเฝ้ารอคอยมานานกว่า 2 ปี ว่าในที่สุดวิกฤตหนี้ยุโรปกำลังมาถึงจุดจบเสียที

และในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ สัญญาณต่างๆ ที่ปรากฏก็ดูจะเป็นเครื่องยืนยันพิสูจน์ถ้อยแถลงของดรากีได้เป็นอย่างดี

ไม่ว่าจะเป็นบทสรุปสวยงามของวิกฤตหนี้สาธารณะกรีซ ต้นทุนการกู้ยืมของอิตาลีและสเปนที่ลดลงภายหลังอีซีบีอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการธนาคารของยุโรปในรูปแบบของการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำเมื่อเดือน ธ.ค. และ ม.ค.ที่ผ่านมา หรือจะเป็นการเดินหน้ามาตรการรัดเข็มขัดอย่างจริงจังของอิตาลีและสเปน สองประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 และ 4 ของยุโรป ซึ่งกำลังเผชิญกับวิกฤตหนี้อย่างหนัก

ทว่ายังไม่ทันจะได้ชื่นชมข่าวดี ดูเหมือนว่าขณะนี้นักลงทุนต่างต้องมานั่งกุมขมับกับวิกฤตหนี้ยุโรปอีกครั้ง หลังช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาสถานการณ์กลับตาลปัตรโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ในสเปน ซึ่งขณะนี้ถูกยกให้เป็นประเทศที่มีสิทธิเดินรอยตามรัฐบาลกรุงเอเธนส์มากที่สุด แถมยังมีความเสี่ยงสูงที่จะจุดชนวนวิกฤตหนี้อียูระลอกใหม่อีกด้วย

เพราะต้องไม่ลืมว่า ไม่เพียงแต่อัตราการว่างงานในสเปนจะทุบสถิติสูงที่สุดในกลุ่มยูโรโซนที่ระดับ 23.6% แล้ว ยอดหนี้สาธารณะยังพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรายงานล่าสุดของรัฐบาลชี้ว่าในปีนี้หนี้สาธารณะสเปนมีแนวโน้มพุ่งแตะ 79.8% ของจีดีพี จาก 68.5% หรือคิดเป็นมูลค่า 9.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 303.8 ล้านล้านบาท)

ทั้งนี้ แม้รัฐบาลสเปนภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีมาเรียโน ราฮอย จะประกาศเดินหน้ามาตรการรัดเข็มขัดและการขึ้นภาษีมูลค่า 2.7 หมื่นล้านยูโร (ราว 1.08 ล้านล้านบาท) ซึ่งถือว่าเป็นการรัดเข็มขัดที่เข้มงวดที่สุดที่ประเทศยูโรโซนต้องเผชิญก็ว่าได้ เพื่อลดยอดขาดดุลงบประมาณของประเทศจาก 8.5% เหลือ 5.3% ในปีนี้ และลดให้เหลือ 3% ภายในปีหน้า

จับตาศก.สเปนดิ่งเหว จุดชนวนวิกฤตหนี้อียูรอบใหม่

ทว่านักวิเคราะห์กลับมองว่า เป้าที่รัฐบาลสเปนตั้งไว้นั้นเป็นเป้าที่ไกลเกินเอื้อม เพราะการรัดเข็มขัดก็เท่ากับเป็นการก่อหนี้เพิ่ม เนื่องจากเป็นที่รู้กันดีว่าการใช้มาตรการรัดเข็มขัดจะทำให้เศรษฐกิจซึ่งชะลอตัวอยู่แล้ว ไม่สามารถกระเตื้องขึ้นมาสู่ภาวะปกติได้อย่างแน่นอน

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักวิเคราะห์จะออกโรงเตือนว่า ปัจจัยลบทางเศรษฐกิจทั้งหมดนั้นอาจส่งผลให้สเปนต้องขอความช่วยเหลือด้านการเงินจากยุโรปในปี 2556

“ความเสี่ยงต่างๆ ที่สเปนกำลังเผชิญไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การบรรลุข้อกำหนดทางการคลังที่เข้มงวด ตลาดแรงงานที่ย่ำแย่ และภาคธนาคารที่กำลังแบกรับหนี้เสียจากสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์และรัฐบาลท้องถิ่นอย่างทุลักทุเล ล้วนแต่จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในปีหน้า” ราจ บาไดนี นักเศรษฐศาสตร์จากไอเอชเอสโกลบอลอินไซต์ กล่าว โดยเตือนว่า ในที่สุดอีซีบีก็อาจต้องยื่นมือช่วยเหลือสเปน มิฉะนั้นอาจกลายเป็นหนี้เสียได้

หรือพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ สเปนอาจต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกับกรีซนั่นเอง

ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของ เอ็ดเวิร์ด ฮิวจ์ นักเศรษฐศาสตร์อิสระชาวสเปน ซึ่งมองว่า สเปนอาจต้องปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงเวลา 10 ปีข้างหน้านี้ แต่ย้ำชัดว่าวิกฤตอาจปะทุขึ้นในปีหน้า ซึ่งจะส่งผลให้สเปนพลาดเป้าการลดยอดขาดดุล

ยิ่งไปกว่านั้นคือ ขณะนี้เริ่มปรากฏสัญญาณอันตรายว่า วิกฤตหนี้กำลังลุกลามไปยังชาติยุโรปอื่นๆ พร้อมส่อฉุดดิ่งเหวสู่ห้วงอันตรายอีกครั้ง

ไล่เรียงตั้งแต่ช่องว่างที่กว้างขึ้นระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนี ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของยุโรปและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของรัฐบาลอื่นๆ ในยุโรป

“ช่องว่างดังกล่าว ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อประเทศนั้นๆ กำลังกว้างขึ้น โดยแนวโน้มในระยะสั้นนั้นไม่ค่อยจะดีนัก” นักวิเคราะห์จากธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์ กล่าว

หรือกล่าวอีกอย่างก็คือ ช่องว่างที่กว้างเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของประเทศเริ่มส่อเค้าย่ำแย่ลงเรื่อยๆ จนทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนนั่นเอง

เห็นได้ชัดจากผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลสเปนช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นที่น่าผิดหวัง ซึ่งได้ดันต้นทุนการกู้ยืมของประเทศสูงขึ้น และส่งผลให้ช่องว่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสเปนและเยอรมนีกว้างขึ้นตาม โดยอยู่ที่ 4% จากเดิม 3.54%

ขณะที่ฝรั่งเศสและอิตาลี ก็ต้องเผชิญกับช่องว่างที่กว้างขึ้นเช่นกัน โดยช่องว่างของฝรั่งเศสนั้นพุ่งที่ 1.25% จาก 1.09% ส่วนของอิตาลีนั้นขยับมาอยู่ที่ 3.67% จาก 3.31%

ขณะเดียวกัน ก็เริ่มมีข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าผิดหวังโผล่ออกมาจากชาติที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และแข็งแกร่งที่สุดในยุโรปอย่างเยอรมนี โดยล่าสุดนั้นรัฐบาลเมืองเบียร์เปิดเผยว่า ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. หดตัวเกินคาดที่ 1.3% หลังจากที่ขยายตัว 1.2% ช่วงเดือน ม.ค.

ตัวเลขดังกล่าวจึงเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า หัวจักรสำคัญที่เคยขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุโรปนั้นเริ่มชะลอตัวแล้ว

“หากเยอรมนี ซึ่งมีเศรษฐกิจแข็งแกร่งสุดในอียูไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ แล้ว ชาติอื่นๆ จะมีโอกาสมากน้อยเพียงใดในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของตัวเอง” โจนาธาน ลอยน์ส นักเศรษฐศาสตร์จากแคปิตอล อีโคโนมิกส์ กล่าว

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังกังวลว่าการเลือกตั้งทั่วไปในฝรั่งเศสและเยอรมนี ซึ่งจะมีขึ้นสิ้นเดือน เม.ย.นี้ และกลางปีหน้า ตามลำดับนั้น อาจยิ่งฉุดสถานการณ์ให้ย่ำแย่ลงไปอีก

เพราะต้องไม่ลืมว่า การเปลี่ยนแปลงผู้นำหรือขั้วอำนาจทางการเมืองก็ย่อมส่งผลให้นโยบายต่างๆ ของประเทศเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายด้านเศรษฐกิจ

ดังนั้น สถานการณ์ของยุโรปในวันนี้จึงไม่ต่างอะไรกับช่วงปีที่ผ่านมาเลย แถมยังมีแนวโน้มที่สเปนจะกลายเป็น “กรีซ 2” พร้อมจุดชนวนวิกฤตหนี้ระลอกใหม่